xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ครม. ไฟเขียว “ภาษีน้ำ” จ่อรีด 13 เส้นทางชลประทาน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - นโยบายเก็บ “ภาษีการใช้น้ำชลประทาน” ผ่านฉลุย ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ที่มี “นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน” เป็นรัฐมนตรีเสนอ ท่ามกลางความวิตกกังวลของพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศด้วยเกรงว่า จะเป็นการเพิ่มปัญหาให้กับเกษตรกรระดับรากหญ้าทั้งระยะสั้นระยะยาว

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คลอดพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ. 2561 กำหนดให้การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำ หรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง ต้องได้รับใบอนุญาต

ขณะที่การใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อยไม่ต้องขออนุญาต คือ การใช้น้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน การรักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี การบรรเทาสาธารณภัย การคมนาคม เป็นต้น

ส่วนรายละเอียดของ “ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน” ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เสนอนั้น สาระสำคัญการเก็บภาษีการใช้น้ำชลประทาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมดูแลปริมาณน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงเพื่อทราบปริมาณของน้ำที่ขาดหายไปจากระบบการชลประทาน โดยการเรียกเก็บค่าชลประทาน จะเป็นผลดีต่อการเงินและงบประมาณ ซึ่งเงินที่เก็บจากผู้ใช้น้ำจากทางน้ำชลประทานนั้น จะนำมาเข้าหมุนเวียนเพื่อการชลประทานเป็นค่าบำรุงรักษา

กฎกระทรวงฉบับดังกล่าว กำหนดว่า การใช้น้ำนอกภาคเกษตรกรรมจากทางน้ำชลประทาน จะต้องมีการติดตั้งมาตรวัดน้ำและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งในการออกกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทานเป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานได้นั้น จะดำเนินการได้เฉพาะทางน้ำที่มีประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดให้เป็นทางน้ำชลประทาน และคิดอัตราภาษีอยู่ที่ “ลูกบาศก์เมตรละ 50 สตางค์”

เบื้องต้นประกอบด้วย 13 แหล่งน้ำ โดยรายละเอียด ย้อนกลับไป 24 ธ.ค. 2562 ครม. มีมติ เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน 3 ฉบับ ประกอบด้วย

1. อ่างเก็บน้ำห้วยประดู่ ในท้องที่ตำบลบ่อใหญ่ อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม 2. อ่างเก็บน้ำหนองไฮ ในท้องที่ตำบลประชาพัฒนา อำเภอวาปีปทุม จังหวัดมหาสารคาม3. อ่างเก็บน้ำห้วยขอนสัก ในท้องที่ตำบลวังยาว และตำบลดอนกลาง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม)

ต่อมาวันที่ 2 ม.ค. 2563 ครม. มีมติ เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน 6 ฉบับ ประกอบด้วย

1. อ่างเก็บน้ำคลองหลวง รัชชโลทร อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในท้องที่จังหวัดชลบุรี 2. โครงการชลประทานนครนายก ในท้องที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดปราจีนบุรี 3. โครงการชลประทานชัยภูมิ ในท้องที่จังหวัดชัยภูมิ 4. อ่างเก็บน้ำคลองตรอน ในท้องที่จังหวัดอุตรดิตถ์ 5. อ่างเก็บน้ำห้วยแฮด 6. อ่างเก็บน้ำน้ำแหง ในท้องที่จังหวัดน่าน

และวันที่ 4 ก.พ. 2563 ครม. มีมติ เห็นชอบ ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้ทางน้ำชลประทาน เป็นทางน้ำชลประทานที่จะเรียกเก็บค่าชลประทาน รวม 4 ฉบับ ประกอบด้วย

1. ฝายทดน้ำคลองบางสะพาน ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2. โครงการชลประทานประจวบคีรีขันธ์ ในท้องที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 3. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโดมน้อย ในท้องที่จังหวัดอุบลราชธานี 4. โครงการชลประทานกระบี่ ในท้องที่จังหวัดกระบี่

เหล่านี้คือทางน้ำชลประทาน ที่จะเรียกเก็บค่าชลประทานจากผู้ใช้น้ำที่นำน้ำไปใช้เพื่อกิจการโรงงาน การประปา หรือกิจการอื่นนอกจากภาคเกษตรกรรม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมดูแลปริมาณน้ำ และให้การใช้น้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องแรกต้องยอมรับว่า ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงแก่พี่น้องเกษตรกรเป็นอย่างมาก และมีกระแสคัดค้านการจัดเก็บภาษีน้ำมาโดยตลอดด้วย “ความไม่เข้าใจ” ดังที่ เครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำชีจังหวัดร้อยเอ็ด ออกคำประกาศคัดค้านตอนหนึ่ง ความว่า “ระบบภาษีน้ำ การเก็บค่าธรรมเนียมการใช้น้ำ เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ขัดต่อหลักสากลว่าด้วยการเข้าถึงน้ำอันเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมนุษย์ แม้ว่ากิจการและรูปแบบการใช้น้ำจะมีหลากหลาย แต่สิทธิของชุมชนในการจัดการและใช้ประโยชน์จากน้ำอย่างสมดุลและยั่งยืนควรได้รับการรับรอง และมีอำนาจในการบริหารจัดการเองได้ การใช้น้ำของชุมชน ไม่ควรต้องแลกด้วยเงินที่ต้องจ่ายให้รัฐ หรืออย่างน้อยควรมีการกำหนดปริมาณอันจำเป็นที่ชุมชนต้องใช้ก่อน เว้นแต่ปริมาณที่เกินกว่านั้น และชุมชนต้องมีส่วนร่วมในการกำหนด”

อย่างไรก็ตาม ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ยืนยันว่า “การเก็บค่าน้ำชลประทานจะไม่ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรรายย่อย” พร้อมกับอธิบายในส่วนการดำเนินงานว่า สทนช. ในฐานะหน่วยนโยบายด้านน้ำ จะทำหน้าที่ในการออกมาตรการต่างๆ และส่งต่อให้หน่วยงานปฏิบัติ

โดย สทนช. ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เร่งศึกษาหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการคิดค่าน้ำตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ซึ่ง สทนช. ดำเนินโครงการจัดทำหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการคิดค่าน้ำ และจัดทำกฎหมายลำดับรองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพยากรน้ำ (หมวด 4 การจัดสรรน้ำและการใช้น้ำ) ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ. ฯ เพื่อให้มีการจัดลำดับความสำคัญของการจัดสรรน้ำสำหรับกิจกรรมการใช้น้ำ การกำหนดนิยาม ลักษณะและรายละเอียดการใช้น้ำแต่ละประเภท และเสนอแนะกรอบอัตราค่าน้ำ

ภายใต้กรอบการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้น้ำเพื่อดำรงชีพทั้งอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ประเภทที่ 2 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาและกิจการอื่น และการใช้ ประเภทที่ 3 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

โดยพิจารณา 2 ด้าน ประกอบกัน คือ 1.ด้านอุปทาน จะพิจารณาปริมาณน้ำต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกระบวนการจัดการน้ำอันประกอบด้วยต้นทุนในการผลิต จัดหา ขนส่ง และบริหารจัดการแหล่งน้ำ ตลอดจนต้นทุนทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำ เป็นต้น และ 2.ด้านอุปสงค์ จะพิจารณาปริมาณความต้องการใช้น้ำเทียบกับปริมาณน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ว่าเพียงพอหรือมากน้อยอย่างไร

ท้ายที่สุด ร่างกฎกระทรวงฯ ดังกล่าว ยังไม่มีรายละเอียดว่าเกษตรกรรมรูปแบบใดบ้างที่จะต้องเสียภาษี ฉะนั้น ต้องจับตาดูกันว่าใครบ้างที่จะต้องเสียภาษีการใช้น้ำชลประทาน


กำลังโหลดความคิดเห็น