xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

Super Spreader จาก “เกาหลีใต้” ถึง “ซูเปอร์ปู่-ย่า” ใน “ไทย” มหันตภัยของ “ความไม่รับผิดชอบ”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การแพร่ระบาดของ “เชื้อไรรัส” ที่มีชื่อว่า “โควิด-19” กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะนอกพื้นที่ต้นกำเนิดคือประเทศจีน ด้วยกำลังขยายวงกว้างออกไปในทั่วทุกภูมิภาคของโลก และ ณ เวลานี้ “ผู้ป่วยรายใหม่” ซึ่งอยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่มีจำนวนมากกว่าภายในแดนมังกรแล้ว

ที่น่าจับตาก็คือ เกาหลีใต้ อิตาลี อิหร่านและสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประเทศไทยกับกรณีล่าสุดที่เกิดกับ “โรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์”

โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการแพร่เชื้อในลักษณะของ Super-spreader คือการที่บุคคลสามารถแพร่เชื้อให้กระจายในวงกว้าง เป็นคนคนเดียวที่สามารถทำให้คนมากมายพลอยติดโรคไปด้วยในอัตราส่วนที่สูงจนเกิดมาตรฐาน

ตัวอย่างที่ชัดเจนในกรณีนี้ก็คือ “ป้ามหาภัย” ซึ่งเป็น “ผู้ป่วยหมายเลข 31” (Patient 31) ของเกาหลีใต้

ป้ามหาภัยรายนี้อาศัยในเมืองแทกู ที่เกาหลีใต้ เป็นสมาชิกของลัทธิซินชอนจิ ไม่เคยเดินทางไปต่างประเทศ และไม่มีร่องรอยไปพบปะพูดคุยผู้ที่น่าจะติดเชื้อไวรัสตัวนี้มาก่อน เพียงมีประวัติเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในเมืองแทกูวันที่ 7 ก.พ. เพราะประสบอุบัติเหตุบางประการ

แพทย์สังเกตว่าป้ามีอาการไอและเจ็บคอ เลยขอร้องให้ตรวจร่างกายหาเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่ป้าไม่ยอมตรวจ ซึ่งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลก็ไม่ได้บังคับ สุดท้ายปล่อยให้ออกจากโรงพยาบาลไปเมื่อวันที่ 9 ก.พ.

จากนั้น ป้าได้ตระเวนไปอีกหลายโรงพยาบาล ซึ่งแต่ละโรงพยาบาลก็ขอให้ตรวจหาเชื้อโควิด-19 แต่ป้าซูเปอร์สเปรดเดอร์รายนี้ก็ปฏิเสธทั้งๆ ที่เดินทางไปประเทศเสี่ยงคือ “ประเทศจีน” กระทั่งเมื่อวันที่ 17 ก.พ.ป้าถึงยอมให้ตรวจและในวันถัดมาคือวันที่ 18 ก.พ.ผลก็ออกมาว่า ติดเชื้อโควิด-19

ป้ามหาภัยทำให้ผู้ที่ใกล้ชิดติดเชื้อโควิด-19 ไปร่วม 70 คน และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ เกาหลีใต้มีผู้ติดเชื้อเกิน 1,000 คนไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

รัฐบาลเกาหลีใต้ประกาศเมืองแทกูเป็น “เขตบริหารพิเศษด้านสาธารณสุข” เพื่อช่วยเปิดทางใช้กฎหมายพิเศษควบคุมโรคระบาด และทำให้เมืองทั้งเมืองตกอยู่ในสภาพ “เมืองร้าง”

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะเดินไปถึงจุดนั้น จากกรณีผู้ป่วยชายสูงอายุกลับจากท่องเที่ยวเกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ และเข้ารับการรักษาตัว.บี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์เนื่องจากเป็นไข้และมีอาการไอ ทว่า ปกปิดข้อมูลการเดินทาง ต้องมีการซักถามหลายครั้งจึงยอมบอก และสุดท้ายก็คือผลเลือดออกมาเป็นบวก คือติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จริงๆ

ขณะนี้ แม้จะยังไม่สามารถกล่าวได้ว่า “ชายสูงอายุรายดังกล่าว” เป็น Super-spreader หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ก็คือ มีผู้คนสุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อจากสถานการณ์นี้เป็นจำนวนมาก

ลำดับแรกก็คือ “ครอบครัว” เพราะนอกจากชายสูงอายุรายดังกล่าวแล้ว ขณะนี้เป็นที่แน่ชัดจากการประกาศของกระทรวงสาธารณสุขแล้วว่า “ภรรยา” ที่เดินทางไปฮอกไกโดด้วยติดเชื้อโควิด-19 พร้อมกับ “หลาน” ซึ่งไม่ได้ไปญี่ปุ่น แต่สัมผัสอาการใกล้ชิดกับผู้ป่วย

กรณีของ “หลาน” น่าสนใจยิ่ง เพราะก่อนหน้าจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูรยังคงเดินทางไป “โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่ง” ย่านดอนเมือง เพราะฉะนั้นผู้คนที่อยู่ในโรงเรียนแห่งนั้น จึงถือเป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยเช่นกัน โดยขณะนี้ทางโรงเรียนได้ให้ “เพื่อนร่วมชั้น” ที่มีประมาณ 50 คน หยุดเรียนเป็นเวลา 14 วันและสังเกตอาการดู เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ รวมทั้งประกาศปิดการเรียนการสอนทั้งโรงเรียนในเวลาต่อมา

ส่วน “ลูกชาย” ที่แม้ผลการตรวจจะไม่ได้ติดเชื้อ แต่ก็ส่งผลทำให้ “ธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาติ” สั่งปิดสาขาดอนเมือง ซึ่งเป็นสาขาที่ “ลูกชาย” ทำงานอยู่พร้อมทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคเป็นกรณีพิเศษ (Big Cleaning) และให้ “ลูกชาย” หยุดปฏิบัติงานและแยกตัวเองเพื่อเฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน

ลำดับถัดมาคือ “ผู้โดยสารสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เที่ยวบินที่ XJ621 ซัปโปโร-ดอนเมือง” ที่เดินทางมาพร้อมกับ “ชายสูงอายุและภรรยา” ซึ่งขณะนี้ สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ ได้ประกาศให้ผู้ที่เดินทางด้วยเที่ยวบิน XJ 621 จากซับโปโร-ดอนเมือง ในวันที่ 20 ก.พ. 63 ควรพบแพทย์โดยด่วน

นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของสายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ เจ้าหน้าที่ของสนามบิน ผู้โดยสารคนอื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่บริษัทห้างร้านอื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสกับ 2 สามีภรรยาก็มีโอกาสที่จะได้รับเชื้ออีกเช่นกัน

และลำดับสุดท้ายก็ “บุคลากรของโรงพยาบาลบี.แคร์ เมดิคอลเซ็นเตอร์” ทั้งแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ในกลุ่มที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 30-40 คนและขณะนี้ได้เข้าสู่กระบวนการกักกันเพื่อควบคุมโรคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

“กรณีนี้ต้องตำหนิ เพราะไม่ยอมทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำเอาไว้ เมื่อเดินทางกลับมามีไข้ยังไปติดต่อกับคนในบ้าน และยังสัญจรไปมา ซึ่งถ้าเราไม่เจอก่อน ก็มีโอกาสเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้เลย ซึ่งเราไม่ต้องการคุณลุงในไทย เพราะมีคุณป้าเกาหลีแล้ว การทำแบบนี้จะเดือดร้อนกันไปทั่ว แต่โชคดีที่ตะครุบตัวได้ก่อน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ผู้ป่วยคนเดียวต้องไปนั่งตรวจอีกเผลอๆ เป็นร้อยคน เพราะบุคลากร รพ.บี.แคร์ ที่มาดูแลผู้ป่วยคนนี้ก็ 40 คนแล้ว ไม่รวมคนในครอบครัวที่สัมผัสแล้วไปทำงาน หลานที่ไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าควบคุมได้ไม่มีอะไรเกินเหตุ เรามีประวัติผู้สัมผัสหมดแล้ว รวมถึงลูกเรือที่กลับมา ผู้โดยสารในเครื่อง กรมควบคุมโรคติดต่อไปขอตรวจทุกคนว่ามีอาการเช่นไร”นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าว

สำหรับเหตุผลที่ยังไม่ใช่ “ซูเปอร์สเปรดเดอร์” นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายว่า ค่าเฉลี่ยของการแพร่โรคนี้จากผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ 2 คนกว่าๆ ส่วนซูเปอร์สเปรดเดอร์ คือ คนหนึ่งคนแพร่โรคได้มากกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่า เช่น 10-20 คน แต่จากการสอบสวนโรคตอนนี้ผู้ป่วยรายนี้ทำให้คนรอบตัวติดเชื้อ 1 คน เพราะอีกรายที่เป็นภรรยาน่าจะติดจากญี่ปุ่นด้วยกัน จึงยังไม่ถึงซูเปอร์สเปรดเดอร์ กระนั้นก็ดีด้วยความที่เคสนี้มีผู้สัมผัสจำนวนมากจึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

อย่างไรก็ดี การที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 จะส่งผลทำให้การควบคุมการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะให้อำนาจในการสั่งตรวจบุคคลต้องสงสัยและควบคุมตัวได้ทันที

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงต้องย้ำเตือนกันอีกครั้งว่า “การปกปิดประวัติไม่มีประโยชน์ เพราะจะทำคนเดือดร้อนจำนวนมาก” ดังนั้น เมื่อเดินทางกลับมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการที่เข้าข่ายจึงต้องแจ้งข้อมูลในทันที ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศ “ประเทศเสี่ยง” หลายประเทศด้วยกันคือ จีน (ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน และที่กำลังจับตาเป็นพิเศษคือ “สหรัฐอเมริกา” เพราะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

เพราะฉะนั้น โปรดอย่าเห็นแก่ “ตั๋วถูก” และถ้าไม่มีความจำเป็นถึงขั้นคอขาดบาดตาย ก็จงงดเดินทางไปในประเทศเสี่ยงเหล่านี้ หรือถ้าไปแล้วกลับมาก็จะต้องกักตัวเองเพื่อรอดูอาการ และถ้ามีอาการป่วยก็แจ้งเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด

เหมือนดังเช่นที่ “เสี่ยหนู” วิงวอนเอาไว้ว่า “ไม่ใช่ไม่มีผู้โดยสารเดินทางก็ออกโปรโมชั่น เพื่อให้คนไปเที่ยว โดยที่ไม่คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา ไปกลับญี่ปุ่น 2,000-3,000 บาท แม้ค่าตั๋วถูก แต่ค่ารักษาแพง รวมถึงค่าเสียโอกาสสูงมหาศาล หากได้รับเชื้อไวรัสฯ มา อาจจะได้ไปเที่ยวครั้งนี้ครั้งสุดท้าย ฉะนั้นต้องหักห้ามใจ เพราะเมืองไทยยังมีสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่ง”

นอกจากนี้ อีกหนึ่งความวิตกกังวลก็คือ ความพยายามคัดกรองของทั่วโลกเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะล้มเหลว จากผลวิจัยใหม่ที่เตือนว่าแม้แต่การคัดกรองที่ดีที่สุดกับผู้โดยสารที่สัญจรทางอากาศ ก็จะพลาดไม่พบผู้ติดเชื้อมากกว่าครึ่ง

ในผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร eLife พวกนักวิจัยในสหรัฐฯและอังกฤษใช้โมเดลคอมพิวเตอร์พยากรณ์ผลกระทบของมาตรการคัดกรอง บนพื้นฐานของข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับพฤติกรรมของโควิด-19 และระยะเวลาที่คนไข้แสดงอาการต่างๆออกมา โดยพบว่ามาตรการคัดกรองพลาดผู้ติดเชื้อจำนวนมากโดยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และพวกเขาเรียกร้องให้แต่ละชาติทบทวนแนวทางการคัดกรองผู้โดยสาร

“หากใครบางคนไม่รู้ตัวว่าตนเองติดเชื้อ และยังไม่แสดงอาการ เมื่อนั้นโดยพื้นฐานแล้ว พวกเขาจะไม่ถูกตรวจพบ” เคทลีน กอสติก นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนบอกกับเอเอฟพี “เราประมาณการว่าโดยเฉลี่ยมาตรการคัดกรองจะไม่พบนักเดินทางที่ติดเชื้อราวๆ 2 ใน 3”

กอสติกเน้นว่าการตรวจไม่พบไม่ใช่ผลลัพธ์จากความผิดพลาดของมนุษย์ แต่มันเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้อันเนื่องจากพฤติกรรมของไวรัส

องค์การอนามัยโลกบอกว่าระยะฟักตัวของโควิด-19 หรือระยะเวลาระหว่างที่คนไข้คนหนึ่งๆติดไวรัสกับแสดงอาการ อยู่ที่ราวๆ 10-14 วัน นั่นจึงหมายความว่าคนไข้อาจแพร่เชื้อโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้การตรวจอุณหภูมิเพื่อหาผู้ที่มีไข้หรือแม้แต่การเข้ารายงานตัวด้วยตนเองว่าติดเชื้อ เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์

พวกนักเดินทางจะถูกแบ่งแยกเป็น 1 ใน 4 ประเภท ประกอบด้วย 1.มีอาการแต่ไม่ทราบว่าติดเชื้อ, 2.ทราบว่าติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ 3.ทั้งทราบและแสดงอาการติดเชื้อ 4.ทั้งไม่แสดงอาการและไม่ทราบว่าติดเชื้อ

กอสติกและทีมงานพบว่าประเภทสุดท้ายนั้นวิธีคัดกรองธรรมดาทั่วไปไม่สามารถตรวจพบโดยสิ้นเชิง ส่วนประเภทที่ 3 นั้น นักเดินทางเหล่านั้นมักต้องมีอาการไอเสียก่อนถึงจะเข้ารายงานตัว

แม้กระทั่งในข้อสมมุติฐานในกรณีที่ดีที่สุด มีผู้โดยสารเพียง 1 คนใน 20 คนที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ในโมเดลนี้เท่ากับว่ามาตรการคัดกรองจะพลาดผู้โดยสารที่ติดเชื้อถึง 53% "คนที่มีผลตรวจออกมาเป็นบวกระหว่างถูกกักโรค ถือเป็นสัดส่วนจำนวนมาก พวกเขาไม่แสดงอาการใดๆที่สามารถตรวจพบได้ในตอนวินิจฉัยโรค" กอสติกกล่าว

“บางคนไม่แสดงอาการใดๆ เลย บางคนจะมีอาการในอีกหลายวันต่อมา จากทั้งสองอย่าง เรื่องราวเหล่านี้เป็นตัวอย่างของความยากลำบากในการคัดกรอง ซึ่งมีเป้าหมายตรวจพบผู้ติดเชื้อตั้งแต่เนิ่นๆโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่คนจำนวนมากไม่แสดงอาการที่สามารถตรวจพบใดๆในขั้นต้นของการติดเชื้อ”

กอสติค เตือนว่าโลกอาจอยู่ในจุดหักเห จดที่มาตรการคัดกรองหรือแม้แต่มาตรการกักกันโรคต่างๆแบบเดียวกับที่พบเห็นในเมืองอู่ฮั่น ศูนย์กลางของการแพร่ระบาด ไม่ได้ผลอีกต่อไป “รัฐบาลชาติต่างๆ ควรเริ่มคิดเกี่ยวกับการระบาดใหญ่ไปทุกทวีปทั่วโลก (Pandemic)กันได้แล้ว”

อย่างไรก็ดี ไม่เพียงแต่ผลกระทบต่อสุขภาพเท่านั้น โควิด-19 ยังส่งผลกระทบต่อ “เศรษฐกิจ” ของประเทศไทยอย่างหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะภาคธุรกิจท่องเที่ยวที่พังพินาศไปต่อหน้าต่อตา ยกตัวอย่างเช่นที่จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มผู้ประกอบการเกสต์เฮาส์ต่างทุกข์ระทมกันถ้วนหน้า เพราะเหลือลูกค้าพักแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แถมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ตกค้างกลับไม่ได้ และคาดการณ์ว่า ในเดือนมีนาคมลูกค้าอาจไม่มีเหลือ

ขณะที่สายการบินต่างๆ พากันลดจำนวนเที่ยวบินในประเทศที่มีการแพร่ระบาดของโรคอย่างรุนแรง และในเดือนมีนาคม 2563 นี้มีตัวเลขแล้วว่ายอดการยกเลิก “ไฟลท์บิน” มีจำนวนมากถึง 9,797 เที่ยวบิน

มีการประมาณการณ์กันว่า ตลอดทั้งปี 2563 นี้ ผู้โดยสารที่เดินทางโดยเครื่องบินจะหายไปราว 5 ล้านคน

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะกรณี “ปู่ย่า” ทำให้ “ตลาดหุ้น” ทรุดหนัก เฉพาะเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์วันเดียว นักลงทุนต่างพากัน “เทกระจาด” ส่งผลให้ดัชนีหุ้นไทยร่วงกว่า 72 จุด ทุบสถิติต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี และหนักที่สุดในตลาดหุ้นเอเชีย

ยิ่งเมื่อย้อนหลังไปดูตัวเลขตั้งแต่ต้นปี ก็ยิ่งน่าสะพรึง เพราะหุ้นไทยร่วงไปถึง 13.5 เปอร์เซ็นต์ ทำมูลค่าตลาดหายไปถึงกว่า “ 2 ล้านล้านบาท” กันเลยทีเดียว

“การปรับตัวลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นผลมาจากความวิตกกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19”นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) กล่าว

นักวิเคราะห์ต่างพากันประเมินสถานการณ์เป็นเสียงเดียวกันว่า เป็นสัญญาณที่สุ่มเสี่ยงที่เข้าสู่ “ภาวะเศรษฐกิจถดถอย”


โควิด-19จ่อระยะ3-"ปู่-ย่า"ติดเชื้อจากญี่ปุ่นแล้วไม่แจ้ง…ลามถึงหลาน-ปิดร.ร.14วัน
โควิด-19จ่อระยะ3-"ปู่-ย่า"ติดเชื้อจากญี่ปุ่นแล้วไม่แจ้ง…ลามถึงหลาน-ปิดร.ร.14วัน
ผู้จัดการรายวัน 360 - สธ.เผยพบคนไทยป่วยโควิด-19 เพิ่ม 3 ราย หลังจากปู่-ย่า กลับมาจากไปเที่ยวฮอกไกโด นำเชื้อกลับมาติดหลานชายวัย 8 ขวบ ย้ำยังไม่ถึงยังไม่ถึงซุูเปอร์สเปรดเดอร์ พร้อมติดตามใกล้ชิดคนร่วมทริปฮอกไกโด “อนุทิน” ย้ำการแพร่ระบาดยังอยู่ในระดับ 2 ฉุน มนุษย์ปู่ ตำหนิทำให้คนอื่นเดือดร้อน ก่อนโพสต์บอกสถานการณ์ไม่ดี เสี่ยงเข้าสู่เฟสที่ 3 ขณะที่ สธ. ประกาศให้บุคลากรในสังกัดงดเดินทางไปยังประเทศเสี่ยง วอนบริษัททัวร์งดจัดโปรโมชั่นราคาถูก ย้ำหากกลับจากประเทศเสี่ยงต้องกักตัวเองที่บ้าน ส่วน ร.ร.พระหฤทัย ดอนเมือง ปิดการเรียนการสอน 14 วัน คัดกรองเด็กเสี่ยงติดไวรัสโควิด-19 พร้อมบิ๊กคลีนนิ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น