xs
xsm
sm
md
lg

สธ.พบป่วยโควิด-19 อีก 3 ราย "ปู่-ย่า-หลาน" ติดตามคนสัมผัสร่วมร้อย แต่ยังไม่ใช่ซูเปอร์สเปรดเดอร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สธ.เผยพบผู้ป่วยโควิด-19 อีก 3 ราย เป็นเคส "ปู่-ย่า" กลับจากฮอกไกโดที่ญี่ปุ่น แล้วนำมาติดหลานที่บ้าน แต่ยันทั้ง 3 รายยังไม่ใช่ซูเปอร์เปรดเดอร์ เพราะติดต่อกันแค่คนเดียว แต่มีผู้สัมผัสต้องติดตามอีกอาจเป็นร้อย ทั้งเพื่อนร่วมทริป ผู้โดยสารร่วม บุคลากร รพ.บี.แคร์ เพื่อนนักเรียน แต่มีรายชื่อทั้งหมดแล้ว พร้อมติดตามจนครบ 14 วัน เผย ร.ร.สั่งเพื่อนนร.ทั้งห้องของหลานที่ป่วยหยุด 14 วันแล้ว ย้ำไม่จำเป็นควรเลื่อนเดินทางประเทศที่มีการระบาดภายใน ย้ำปกปิดข้อมูลคนป่วยมีความผิด "อนุทิน" ตำหนิมนุษย์ปู่ทำคนเดือดร้อน

วันนี้ (26 ก.พ.) นพ.สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคติดชเอไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 ว่า ขณะนี้ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านได้อีก 2 คน เป็นหญิงไทยอายุ 35 ปีจากสถาบันบำราศนราดูร และชายจีนอายุ 62 ปี จากสถาบันโรคทรวงอก ทำให้อัตราการหายป่วยรวมเป็น 24 ราย แต่ยังมีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มอีก 3 ราย มาจากครอบครัวเดียวกัน คือ 1.ชายไทยอายุ 65 ปี มีประวัติไปเที่ยวญี่ปุ่นที่ฮอกไกโด และกลับมามีอาการไข้ 3 วัน เข้ารับการรักษา รพ.เอกชน เมื่อวันที่ 23 ก.พ.ด้วยอาการไข้ไอ ผลการตรวจห้องปฏิบัติการเป็นบวก ส่งมารับการรักษาที่สถาบันโรคทรวงอก โดยมีอาการปอดบวมอักเสบ เพราะทิ้งอาการไว้ 3 วันแล้วค่อยมาพบแพทย์  2.หญิงไทยเป็นภรรยาที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นด้วยกัน กลับมามีอาการไข้ไอในวันที่ 3 หลังกลับ รับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูร และ 3.เด็กชายอายุ 8 ปีเป็นหลาน ไม่ได้เดินทางไป แต่อยู่บ้านใกล้ชิดกับปู่และย่า รับการรักษาที่สถาบันบำราศนราดูรเช่นกัน ทั้งนี้ ได้ติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดเสี่ยงสูงทุกรายแล้ว รวมถึงผู้ร่วมเดินทางทริปเดียวกัน และผู้โดยสารในเที่ยวบินเดียวกันทั้งหมด ซึ่งอาการทั้งหมดยังปกติ ส่งผลให้ผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อทั้งหมดในไทยเป็น 40 ราย แบ่งเป็นการติดเชื้อจากต่างประเทศ 26 ราย และจากการสัมผัสใกล้ชิด 14 ราย ทั้งนี้ รักษาหาย 24 ราย เหลือนอน รพ. 16 ราย 

"ยืนยันว่าประเทศไทยแม้มีกรณี 3 รายนี้ก็ยังอยู่ในการแพร่ระบาดระยะ 2 ไม่มีผู้ป่วยซูเปอร์สเปรดเดอร์ ซึ่งคล้ายผู้ป่วยครอบครัวจีนที่เข้ามาแล้วทยอยป่วยทีละคน เพราะเรารู้ว่าผู้ป่วยเหล่านี้เป็นเคสมีต้นกำเนิดจากต่างประเทศ และรู้ว่าติดต่ออย่างไร ทำให้การติดตามดูแลได้ดีขึ้น กรณีดังกล่าวเป้นเหตุผลที่ว่า ทำไมเมื่อกลับมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงถึงจะต้องแยกตัวเอง ลดการสุงสิงกับคนใสนครอบครัว เพราะมีโอกาสติดเชื้อต่อกันได้ ควรแยกสำรับ กินร้อนช้อนกลาง ล้างมือบ่อยๆ เฝ้าระวังตนเอง 14 วัน หากมีอาการให้รีบพบแพทย์ และแจ้งปะวัติการเดินทาง" นพ.สุขุม กล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อย่างกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ที่ รพ.บี.แคร์ ต้องตำหนิ เพราะไม่ยอมทำตามขั้นตอนที่เราแนะนำเอาไว้ เมื่อเดินทางกลับมามีไข้ยังไปติดต่อกับคนในบ้าน และยังสัญจรไปมา ซึ่งถ้าเราไม่เจอก่อน ก็มีโอกาสเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ได้เลย ซึ่งเราไม่ต้องการคุณลุงในไทย เพราะมีคุณป้าเกาหลีแล้ว การทำแบบนี้จะเดือดร้อนกันไปทั่ว แต่โชคดีที่ตะครุบตัวได้ก่อน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ผู้ป่วยคนเดียวต้องไปนั่งตรวจอีกเผลอๆ เป็นร้อยคน เพราะบุคลากร รพ.บี.แคร์ ที่มาดูแลผู้ป่วยคนนี้ก็ 40 คนแล้ว ไม่รวมคนในครอบครัวที่สัมผัสแล้วไปทำงาน หลานที่ไปโรงเรียน อย่างไรก็ตาม ยังยืนยันว่าควบคุมได้ไม่มีอะไรเกินเหตุ เรามีประวัติผู้สัมผัสหมดแล้ว รวมถึงลูกเรือที่กลับมา ผู้โดยสารในเครื่อง กรมควบคุมโรคติดต่อไปขอตรวจทุกคนว่ามีอาการเช่นไร

เมื่อถามว่าเหตุใดเคสนี้จึงยังไม่เป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์  นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ค่าเฉลี่ยของการแพร่โรคนี้จากผู้ป่วย 1 คน อยู่ที่ 2 คนกว่าๆ ส่วนซูเปอร์สเปรดเดอร์ คือ คนหนึ่งคนแพร่โรคได้มากกว่าค่าเฉลี่ยหลายเท่า เช่น 10-20 คน แต่จากการสอบสวนโรคตอนนี้ผู้ป่วยรายนี้ทำให้คนรอบตัวติดเชื้อ 1 คน เพราะอีกรายที่เป็นภรรยาน่าจะติดจากญี่ปุ่นด้วยกัน จึงยังไม่ถึงซูเปอร์สเปรดเดอร์ แต่เคสนี้ค่อนข้างยากลำบากตรงที่มีผู้สัมผัสจำนวนมาก แต่ไม่ได้บอกว่าคนสัมผัสมากแล้วจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์ การมีผู้สัมผัสมากต้องดูว่าสัมผัสมากน้อยแค่ไหน ก็จะตามให้ได้ 14 วันว่าติดเชื้อหรือไม่ต่อไป

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับการติดตามผู้สัมผัสในโรงเรียนที่หลานไปเรียนนั้น ได้ประสานกับโรงเรียนแล้ว ซึ่งพบว่า เด็กที่ป่วยได้อยู่ห้องเรียนห้องเดียว ดังนั้น ผู้ปกครองและครู จึงตัดสินใจให้เด็กในห้องนั้นที่มีประมาณ 50 คน หยุดเรียน 14 วันและสังเกตอาการดู เพื่อลดโอกาสแพร่เชื้อ ซึ่งเรามีรายชื่อทั้งหมดก็จะติดตามจนครบ 14 วัน สิ่งสำคัญคือหยุดแล้วต้องอยู่บ้าน อย่าไปเที่ยวเล่นที่อื่น

เมื่อถามถึงกรณีลูกชายผู้ป่วยที่ทำงานธนาคารธนชาต ต้องมีการติดตามด้วยหรือไม่ นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า จะติดตามเฉพาะลูกชายที่เป็นผู้สัมผัสผู้ป่วยเท่านั้น ไม่มีการติดตามพนักงานธนาคารคนอื่นที่เป็นเพียงผู้สัมผัสของผู้สัมผัส เพราะโอกาสที่ผู้สัมผัสจะแพร่เชื้อไม่มี

เมื่อถามว่ากรณีปู่ที่ป่วยโควิด-19 ช่วงแรกมีการปกปิดประวัติไปต่างประเทศ แบบนี้จะผิดตามประกาศโรคติดต่ออันตรายหรือไม่  นายอนุทิน กล่าวว่า เขาไม่บอก ไม่ได้แจ้งวันแรก แต่มาแจ้งวันหลัง ไม่ได้ปกปิด กรณีอย่างนี้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการสื่อสารที่ดีระหว่างรพ.กับศูนย์ฉุกเฉินของเรา ซึ่ง รพ.เมื่อทราบก็แถลงทันที แจ้งมาที่กรมควบคุมโรค เราถึงเข้าไปดำเนินการทันที ส่วนการเอาผิดเดี๋ยวว่ากันให้หายก่อน

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า เคสแบบนี้เราก็เตือนเป็นระยะๆ แล้วว่า หากไม่จำเป็นให้เลื่อนการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง ถ้ากลับมาใน 14 วันมีอาการ ตอนไปรพ.จะต้องรีบแจ้งประวัติตั้งแต่แรก การปกปิดประวัติไม่มีประโยชน์ คนเดือดร้อนจำนวนมาก และช่วงระหว่างดูอาการ เราควรจำกัดคนที่มาสัมผัสกับเราด้วย ถ้าดูกรณีนี้ปู่ทำให้หลานป่วย ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้เราเป็นต้นเหตุให้คนที่เรารักป่วย เมื่อเฝ้าระวังต้องไม่ไปสัมผัสกับคนอื่น ย้ำเตือนอีกครั้งว่า การปฏิบัติตัว ความร่วมมือของประชาชนทุกคนสำคัญมากว่า เราจะรอดหรือจะจัดการการระบาดได้หรือไม่ สำหรับประเทศที่มีการระบาดภายใน คือ จีน (ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน) ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ อิตาลี และอิหร่าน และอาจมีการประกาศเพิ่มอีก ซึ่งตอนนี้จับตาสหรัฐอเมริกา เพราะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 กำหนดให้เจ้าบ้านมีหน้าที่แจ้งกรณีพบผู้ป่วยด้ย ดังนั้น ถ้าสมาชิกในบ้านป่วยโรคติดต่ออันตรายหรือไปประเทศเสี่ยงและมีการป่วย แล้วไม่แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือปกปิด จะมีความผิดฐานไม่แจ้งพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และหากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานควบคุมโรคก็จะมีความผิดด้วย






กำลังโหลดความคิดเห็น