xs
xsm
sm
md
lg

“สศค.” ตั้งท่าหั่นจีดีพีปี 63 อีกรอบในเดือน เม.ย. เหตุสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ยังคงไม่คลี่คลาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สศค. เผยเดือน เม.ย.นี้ เล็งหั่นตัวเลขจีดีพีปี 63 ลงอีกรอบ เหตุไวรัสโควิด-19 ทำนักท่องเที่ยวชาวจีนในเดือน ม.ค. ติดลบ 3.7% พร้อมคาดสถานการณ์นี้จะยังคงไม่คลี่คลาย และจะมีผลต่อเนื่องไปจนถึงเดือน ก.พ. ด้านภาพรวมการผลิตภาคอุตสาหกรรม-ภาคเกษตรกรรมเดือน ม.ค.63 มีสัญญาณชะลอตัว ในขณะเดียวกัน ยังมีสัญญาณที่ดีจากมูลค่าการส่งออกในรูปสกุลเงินดอลลาร์ที่กลับมาขยายตัวที่ 3.4% ขณะที่ตลาดสหรัฐฯ โต 9.9% และจีนโตที่ 5.2% ส่วน 5 ประเทศอาเซียนกลับมาขยายตัวที่ 3.8% แต่ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหดตัวที่ -7.9% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค.63 ยังขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวถึงแนวโน้มการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 63 ว่า สศค. ยังไม่มีความมั่นใจถึงในปีนี้เศรษฐกิจจะเติบโตได้เท่าใด จากเมื่อเดือน ม.ค.63 เคยประเมินไว้ที่ 2.8% ซึ่งเป็นการประเมินในช่วงต้นในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น อีกทั้งยังประเมินไม่ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่ สศค. คาดว่าผลกระทบดังกล่าวต่อเศรษฐกิจไทยน่าจะมีมากกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้า ส่วนผลกระทบจะมากน้อยเพียงใดนั้นต้องรอติดตามสถานการณ์ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้า โดยในช่วงเดือน เม.ย.63 สศค. จะทำการประเมินถึงภาวะเศรษฐกิจไทยกันใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยลดลงมาตั้งแต่ปลายเดือน ม.ค.63 นั้นหดตัว -3.7% และคาดว่าตัวเลขดังกล่าวจะปรับลงอย่างต่อเนื่องจนถึงเดือน ก.พ. เนื่องจากสถานการณ์ของการแพร่ระบาดดังกล่าวยังไม่คลี่คลาย ทั้งนี้ สศค. เคยคาดว่าในปี 63 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าไทยราว 41.5 ล้านคน ส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลงเท่าใดนั้น นายวุฒิพงศ์ ย้ำว่า คงต้องติดตามผลการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะไปได้ลึกเพียงใด

อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงภาพรวมภาคการท่องเที่ยวในเดือน ม.ค.63 ว่า ยังคงขยายตัวโดยสะท้อนได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยที่มีทั้งสิ้น 3.81 ล้านคน หรือขยายตัว 2.5% ต่อปี ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนเทศกาลตรุษจีนช่วงเดือน ม.ค.63 ส่งผลให้มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากมาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง

ด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งกลับมาขยายตัวเป็นบวกในรอบ 6 เดือนที่ 0.4% หรือขยายตัว 37.1% จากเดือนก่อนหน้าเมื่อขจัดผลทางฤดูลกาลแล้ว สอดคล้องต่อปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ -2% จากเดือนก่อนที่หดตัว -17.3% ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.4% ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.9 เป็นผลมาจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จากประเทศจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลกระทบการส่งออก

ด้านการลงทุนภาคเอกชนยังคงชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์อยู่ในระดับที่ -13.6% ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างที่สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัว -5% เช่นเดียวกันกับยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว -17.4% สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ -1.7% โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง

แต่อย่างไรก็ตาม การค้าระหว่างประเทศขยายตัวโดยสะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่กลับมาขยายตัว 3.4% ตามการขยายตัวของการส่งออกสินค้าในหมวดแร่และเชื้อเพลิง เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเกษตร ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกสินค้าในหมวดเกษตรกรรมและเครื่องอิเล็กทรอนิกส์นั้นชะลอลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทย เช่น ตลาดสหรัฐฯ และจีนยังคงขยายตัวที่ 9.9% และ 5.2% ตามลำดับ สอดคล้องต่อการส่งออกไปอาเซียน 5 ประเทศที่กลับมาขยายตัว 3.8% แต่การส่งออกไปทวีปออสเตรเลีย ฮ่องกง และแอฟริกายังคงชะลอตัว ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐหดตัวที่ -7.9% ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค.63 ขาดดุล 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 1.1% ต่อปี อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.5% ต่อปี ในขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ธ.ค.62 อยู่ที่ 41.2% ต่อมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ด้านเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ม.ค.63 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 230.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นระดับที่มีความมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้

อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรส่งสัญญาณชะชอตัวลง ซึ่งสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรที่ -2.2% ต่อปี จากการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญ สอดคล้องต่อภาคอุตสาหกรรมที่สะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัว -4.6 ต่อปีจากการลดลงของการผลิตในหมวดยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ ส่วนผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัว ได้แก่ แอร์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 92.2 ตามการเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมที่ผลิตเกี่ยวกับสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องมือแพทย์ ยา และเคมีเพื่อการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อ เป็นต้น

รองผู้อำนวยการ สศค. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่มีผลบังคับใช้ไปแล้วนั้น จะส่งผลให้การเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้เร็วขึ้น 1 เดือนจากที่เคยประเมินไว้ว่าจะเริ่มเบิกจ่ายได้เมื่อถึงไตรมาส 2 โดยจะทำให้รัฐบาลมีระยะเวลาเหลือในการการเบิกจ่ายงบประมาณได้อีก 7 เดือน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐน่าจะดำเนินการได้มากกว่า 90% ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพรวมทางเศรษฐกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น