เศรษฐกิจไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 ได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศ การท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกสินค้าชะลอตัว
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รักษาการในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงสนับสนุนจากเศรษฐกิจด้านอุปสงค์ โดยการบริโภคภายในประเทศที่สะท้อนจากการขยายตัวต่อเนื่องของยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ บนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ และเศรษฐกิจด้านอุปทานจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกสินค้าชะลอตัว ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี
ด้านการบริโภคภาคเอกชนในภาพรวมยังคงขยายตัว โดยสะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ บนฐานการใช้จ่ายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 3.7 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวร้อยละ 1.3 ต่อปี นอกจากนี้ รายได้เกษตรกรที่แท้จริงขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ชะลอตัวร้อยละ -6.8 ต่อปี ขณะที่ยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งชะลอตัวร้อยละ -16.4 ต่อปี สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 57.9 เป็นผลมาจากการการชะลอตัวของการส่งออกสินค้าของไทย และความกังวลจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรสะท้อนจากปริมาณนำเข้าสินค้าทุนชะลอตัวร้อยละ -11.2 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ชะลอตัวที่ร้อยละ -16.1 ต่อปี ส่วนการลงทุนในหมวดก่อสร้างปรับตัวดีขึ้นแต่ก็ยังชะลอตัว โดยยอดการจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวร้อยละ -6.3 ต่อปี เช่นเดียวกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ชะลอตัวที่ร้อยละ -2.2 ต่อปี ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างชะลอตัวที่ร้อยละ -3.1 ต่อปี โดยมีสาเหตุมาจากราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กปรับตัวลดลง
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศชะลอตัว สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวที่ร้อยละ -7.4 ต่อปี เป็นผลจากการชะลอตัวของการส่งออกในหมวดสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ทองคำ ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป อย่างไรก็ตาม สินค้าในกลุ่มผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป น้ำตาลทราย เครื่องดื่ม ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับที่ไม่รวมทองคำ เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์รักษาผิว ยังคงขยายตัวได้ และตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ จีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตะวันออกกลาง อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาค พบว่า หลายประเทศก็มีการส่งออกที่ชะลอตัว เช่น เกาหลีใต้ ฮ่องกง และมาเลเซีย ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ชะลอตัวร้อยละ -13.8 ต่อปี ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2562 เกินดุล 548.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทาน พบว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ขณะที่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรมยังส่งสัญญาณชะลอตัว โดยภาคการท่องเที่ยวสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน 2562 มีจำนวน 3.36 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 5.9 ต่อปี ซึ่งเป็นการขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเป็นหลัก โดยขยายตัวร้อยละ 18.3 ต่อปี นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นที่ขยายตัวได้ดี เช่น นักท่องเที่ยวชาวไต้หวัน อินเดีย และรัสเซีย โดยสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนเงิน 166,897 ล้านบาท ขยายตัวในอัตราร้อยละ 3.0 ต่อปี ขณะที่ภาคการเกษตรสะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรชะลอตัวร้อยละ -2.7 ต่อปี เช่นเดียวกับภาคอุตสาหกรรมสะท้อนจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมชะลอตัวร้อยละ -8.3 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 92.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเนื่องจากผู้ประกอบการมีการเร่งผลิตเพื่อชดเชยวันทำงานที่น้อยลงเนื่องจากวันหยุดเทศกาลในเดือนธันวาคม รวมทั้งมียอดคำสั่งซื้อและยอดขายเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและต่างประเทศ
เสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.5 ต่อปี สำหรับอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงาน สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562 อยู่ที่ร้อยละ 41.0 ต่อ GDP ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2562 อยู่ในระดับสูงที่ 221.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ