ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังการประกาศ “ถอนการลงทุน” จากประเทศไทยของ “GM” หรือ “เจนเนอรัล มอเตอร์ส” นอกเหนือจากการยกเลิกการขายรถยนต์ยี่ห้อ “เชฟโรเลต” ในสิ้นปี 2563 แล้ว อีกหนึ่งความน่าสนใจก็คือการขายทิ้ง “ศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทย” หรือ “โรงงานผลิตรถยนต์” ที่จังหวัดระยอง ให้กับ “เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” (Great Wall Motors :GWM)
ทั้งนี้ จีเอ็ม และเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายศูนย์การผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ของจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยอง ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยทั้งสองบริษัทคาดว่าการซื้อขายและส่งมอบศูนย์การผลิตทั้งสองจะเสร็จสิ้นในปลายปี 2563
ความน่าสนใจของโรงงานที่ จ.ระยอง ก็คือ นับตั้งแต่เริ่มสายการผลิตในปี 2543 ได้ผลิตรถกระบะ และรถอเนกประสงค์กว่า 1.4 ล้านคัน สำหรับตลาดประเทศไทยและตลาดส่งออกในฐานะศูนย์กลางการผลิตระดับภูมิภาคสำหรับรถกระบะขนาดกลาง รถอเนกประสงค์ และเครื่องยนต์ดีเซล
และแน่นอนว่า ส่งผลกระทบโดยตรงไปยัง โฮลเด้น (Holden) ที่เป็นแบรนด์เก่าแก่ในออสเตรเลีย เพราะว่าในปัจจุบัน ปิกอัพของโฮลเด้น ถูกประกอบและส่งออกจากโรงงานของจีเอ็มในระยอง ดังนั้น เมื่อไลน์ผลิตแห่งนี้ถูกปิด ปิกอัพของโฮลเด้นก็ต้องเลิกขายไปด้วยเช่นกัน
แน่นอนว่า ชื่อของ “เกรท วอลล์ มอเตอร์ส” โดดเด่นขึ้นมาในฉับพลับทันทีว่า พวกเขาเป็นใครมาจากไหน ทำไมถึงได้เข้ามา “รับเซ้ง” โรงงานต่อจาก GM ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น หากยังรวมถึงโรงงานผลิตรถยนต์ของ GM ในหลายประเทศ
เกรท วอลล์ มอเตอร์ส(Great Wall Motors) คือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์อเนกประสงค์ รถกระบะ และรถบรรทุกที่ใหญ่ที่สุดของจีน และได้ชื่อว่าเป็น ยักษ์ใหญ่ระดับ “TOP 3” ของค่ายรถแดนมังกรร่วมกับ Zhejiang Geely Holding Group และ Chery Automobile โดยก่อตั้งมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ปี 1984 เลยทีเดียว
สำนักงานใหญ่ของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ตั้งอยู่ในเมืองเป่าติ้ง มณฑลเหอเป่ย ทางตอนเหนือของประเทศจีน มีพนักงานทั้งหมด 63,455 คน ปี 2019 มียอดขายรถคิดเป็นมูลค่า 14,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับที่ 842 ของโลกจากการจัดอันดับ Global 2000 ของนิตยสาร ฟอร์บส์
เกรท วอลล์ มอเตอร์ เริ่มต้นจากการผลิตรถกระบะและรถอเนกประสงค์เป็นหลัก ก่อนที่จะเติมเต็มไลน์ผลิตภัณฑ์ด้วยรถยนต์นั่งภายใต้แบรนด์รถเอสยูวียี่ห้อ HAVAL, รถเอสยูวีพรีเมียมยี่ห้อ WEY, รถพลังงานไฟฟ้ายี่ห้อ ORA และรถกระบะ GWM Pickup โดย GWM เริ่มต้นส่งออกรถยนต์ในปี 1998 ปัจจุบันมีเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายอยู่ในกว่า 60 ประเทศ
โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เกรท วอลล์ มอเตอร์ส มีปริมาณการจำหน่ายในจีนเฉลี่ย 1 ล้านคันต่อปี
อย่างไรก็ดี เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ไม่เพียงแต่ผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์เท่านั้น แต่ยังแตกแขนงสาขาเกี่ยวข้องกับการผลิตและจัดจำหน่ายชิ้นส่วนรถยนต์ อุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ และการวิจัยพัฒนาเกี่ยวกับด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้เกรท วอลล์ มอเตอร์ส เคยแสดงความสนในเข้าซื้อกิจการของ ค่ายรถยนต์เฟียต ไคร์สเลอร์ เจ้าของแบรนด์ชั้นนำอย่าง จี๊ป แต่ก็เงียบหายไป และกลายเป็นว่า เฟียตหันไปจับมือควบรวมกิจการกับทาง PSA ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์หรูชั้นนำของยุโรปอย่างเปอร์โยต์ ในปีที่ผ่านมาแทน
สำหรับประเทศไทย ทางบริษัทได้นำรถยนต์ในตระกูลเอสยูวี ภายใต้แบรนด์ HAVAL (ฮาวอล์) มาแนะนำและโชว์เทคโนโลยีเป็นทางการครั้งแรกในประเทศ ไทยในงานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 34 ที่จัดถึงวันที่ 7 เมษายน 2556 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี
นายหวัง ซือ ฮุย รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายส่งออก บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยในขณะนั้นว่า ทางบริษัทมีแผนจะเข้ามาทำตลาดในเมืองไทย และสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย
“เราได้วางแผนสร้างโรงงานบนพื้นที่ 800,000 ตร.ม. มีกำลังการผลิตจำนวน 100,000 คัน ต่อปีซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงละ 50,000 คัน/ปี โดยจะมีระยะเวลาห่างกันในแต่ละช่วงห่างกัน 3 ปี ด้วยมูลค่าการลงทุนประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณหมื่นล้านบาท โดยในเบื้องต้นจะเป็นการผลิตรถยนต์เพื่อรองรับความต้องการของตลาดในประเทศไทยและอาเซียน รวมไปถึงการส่งออกไปยังประเทศที่เป็นตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา อาทิ ออสเตรเลีย แต่อย่างไรก็ดี ณ ขณะนี้อยู่ระหว่าง การหารือกับทางภาครัฐ และรอสรุปสถานที่สร้างโรงงาน ซึ่งเรามองไว้ที่จังหวัด ระยองกับโคราช ภายหลังจบงานมอเตอร์ โชว์แล้ว เราจะตั้งบริษัทขึ้นเพื่อดูแลเรื่องโรงงานให้เสร็จเร็วที่สุด ส่วนในเรื่องอะไหล่ เราได้ติดต่อกับซัพพลายเออร์ ที่อยู่ในประเทศไทย และมีซัพพลายเออร์บางส่วนจากจีนตามมาลงทุนในไทย
“ไทยเป็นตลาดรถยนต์ที่มีศักยภาพอย่างมาก ดูจากยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการประเมินของสถาบัน IHS ชี้ให้เห็นว่า ตลาดรถยนต์ในเมืองไทยมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นถึง 1.16 ล้านคันภายในปี 2017 ซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน ในขณะที่ภาพรวมของตลาดรถยนต์อาเซียนจะขยายเพิ่มขึ้นกว่า 3 ล้านคัน นับเป็นตลาดยานยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก”รองผู้จัดการทั่วไปฝ่ายส่งออก บริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ จำกัด เปิดเผยทิศทางการลงทุนในประเทศไทยเมื่อปี 2556
และถัดมาอีกราว 7 ปี การเดินหน้าของเกรทวอลล์ มอเตอร์สก็ประสบผลเป็นรูปธรรมเพื่อตัดสินใจซื้อโรงงานผลิตรถยนต์ต่อจาก GM
หลังจากเซ็นสัญญาซื้อโรงานจาก GM นาย หลิว เซียงชาง รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ระดับโลกของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส อธิบายว่า โครงการระดับโลกของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส เริ่มเป็นรูปธรรมหลังจากการเริ่มพัฒนามากว่า 10 ปี ในช่วงสองปีที่ผ่านมาการเปลี่ยนแปลงและการอัพเกรดรูปแบบการส่งออกของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ส่งผลให้แผนกลยุทธ์ระดับโลกก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว ในปี 2562 โรงงานของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ในเมืองตูลา (Tula) ประเทศรัสเซีย ประสบความสำเร็จในการเริ่มต้นสายการผลิต และเมื่อต้นปี 2563 บริษัทยังบรรลุข้อตกลงกับจีเอ็มในการซื้อโรงงานทาเลกอน (Talegaon) ประเทศอินเดีย
“การเข้าซื้อศูนย์การผลิตของจีเอ็ม ประเทศไทยในจังหวัดระยองจะช่วยพัฒนาธุรกิจของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส ในตลาดประเทศไทยและอาเซียน เกรท วอลล์ มอเตอร์ส จะขยายธุรกิจไปทั่วภูมิภาคอาเซียนโดยมีประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิอาเซียนรวมถึงประเทศออสเตรเลียด้วย”นาย หลิว กล่าว
ขณะที่ตลาดรถยนต์ในภูมิภาคอาเซียนเป็นตลาดที่กำลังพัฒนา มีโอกาสและศักยภาพสูงมาก การเข้าสู่ตลาดประเทศไทยเป็นก้าวแรกของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ในการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเป็นก้าวสำคัญในกลยุทธ์ระดับโลกของเรา การลงทุนของเกรท วอลล์ มอเตอร์ส จะสร้างงานในท้องถิ่นรวมถึงการจ้างงานทั้งทางตรงและทางอ้อม
อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะในอุตสาหกรรมรถยนต์ นอกจากนี้เรายังจะส่งเสริมการพัฒนาระบบซัพพลายเชน การวิจัยและพัฒนา และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่น ตลอดจนส่งเสริมรายได้ทางการคลังให้กับหน่วยงานราชการท้องถิ่น ในจังหวัดระยองและในประเทศไทย
และที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ การซื้อโรงงานในครั้งนี้ จะกลายเป็นการซื้อฐานผลิตยานยนต์ครบวงจรในระดับโลกลำดับที่ 11 ของบริษัทเกรท วอลล์ มอเตอร์ส และลำดับที่ 3 สำหรับโรงงานของบริษัทที่ตั้งอยู่นอกจีน ตามหลังอันดับ 1 อย่างศูนย์การผลิตระดับภูมิภาคทูล่า (Tula) ในประเทศรัสเซีย ซึ่งเปิดดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2562 โดยใช้เงินลงทุน 500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐฯ ใช้เวลาก่อสร้างนาน 4 ปี และมีกำลังการผลิตรถ 150,000 คัน/ปี และอันดับ 2 อย่างเทลากอน (Talegaon) ในประเทศอินเดีย ซึ่งซื้อมาจากบริษัทเจนเนอรัล มอเตอร์ส ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมานี้นี่เอง
และถือก้าวสำคัญของบริษัทในการสนองต่อโครงการ Belt and Road Initiative ของรัฐบาลจีน
ขณะที่การลงทุนในประเทศไทย มีข้อมูลจาก นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เกี่ยวกับการลงทุนของเกรท วอล มอเตอร์ส ในประเทศไทยว่า เกรท วอลล์ มอเตอร์ส วางแผนการผลิตรถยนต์ SUV และรถปิกอัพ รวมถึงการผลิตรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้า (BEV) ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 100,000 คันต่อปี โดย 50 % จะเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก และคาดว่าจะเริ่มต้นการผลิตได้ภายในไตรมาส 1 ปี 2565
นอกจากนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ส ยังมีการลงทุนวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ และเยอรมัน ในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประเภทลิเทียมไอออน และเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) ซึ่งคาดว่า จะเป็นส่วนสนับสนุนสำคัญต่อนโยบายการสร้างฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยของรัฐบาลอีกด้วย
ก็คงต้องติดตามกันต่อไปว่า ในการลงทุนของ เกรท วอล มอเตอร์ส ในประเทศไทย ครั้งนี้ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับอุตสาหกรรมและตลาดรถยนต์ของไทยไปในทิศทางไหน แต่เชื่อว่าทั้งค่ายฝรั่ง ค่ายญี่ปุ่น หรือค่ายอื่นๆ ที่เข้ามาทำตลาดก่อนหน้านี้ คงไม่อาจมองข้ามได้ โดยเฉพาะ “รถกระบะ” และ “รถเอสยูวี” ที่สามารถต่อยอดจากโรงงานของ GM ได้ทันที
ยิ่งถ้ามี “ราคาเกินห้ามใจ” ด้วยแล้ว งานนี้ คงมีสะเทือนกันบ้างไม่มากก็น้อย.