xs
xsm
sm
md
lg

K-Research ชี้ COVID-19 กระทบชิ่งกลุ่ม OEM ชิ้นส่วนยานยนต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีนที่ยังคาดเดาได้ยาก แต่ได้แผ่ขยายผลกระทบออกมาสู่เศรษฐกิจทั่วโลก ได้ส่งผลทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ทั้งในและนอกประเทศจีน ไม่เว้นแม้แต่ไทย ต้องประสบกับทิศทางที่หดตัวลงถ้วนหน้า ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ปรับประมาณการยอดขายรถยนต์โดยรวมตลอดทั้งปี 2563 ลงจากที่เคยมองว่าอาจจะหดตัวมากสุดที่ร้อยละ 5 หรือขายได้ 960,000 คัน เป็นคาดว่าจะหดตัวลงไปถึงร้อยละ 7 ถึง 11 หรือคิดเป็นจำนวนรถยนต์ 900,000 ถึง 940,000 คัน โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ยอดขายรถยนต์น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ตามปกติภายในสิ้นไตรมาสที่ 1 ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเดียวกันเป็นวงกว้างในประเทศไทย

เริ่มต้นปี 2563 ไม่นาน ทั่วโลกต่างก็ต้องเผชิญต่อความตึงเครียดทางเศรษฐกิจครั้งใหม่ หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 (COVID-19) ซึ่งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังควบคุมไม่ได้ในจีน ขณะที่แนวทางการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้ไวรัสโควิด-19 กลายมาเป็นปัจจัยที่คุกคามอย่างหนักต่อเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ และมากกว่าเมื่อครั้งเกิดการระบาดของโรคซาร์ส 17 ปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากจีนมีบทบาทสำคัญและเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจประเทศต่างๆ ทั่วโลกกว่าในอดีตมาก ส่งผลให้ไทยที่แม้จะยังไม่มีการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของโรคในประเทศ แต่ก็ได้รับผลกระทบแล้วทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการออกมาตรการต่างๆ ของจีนเพื่อควบคุมสถานการณ์และลดการสูญเสียให้อยู่ในวงจำกัด ส่งผลให้บรรยากาศการดำเนินธุรกิจต่างๆ ในจีนและประเทศคู่ค้าของจีน เช่น ไทย ต้องอยู่ในภาวะที่ซบเซาลง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าปัจจัยดังกล่าว ประเด็นสำคัญย่อมมีผลโดยตรงต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศของไทยอย่างไม่อาจเลี่ยงในแง่มุมต่างๆ ทั้งต่อค่ายรถยนต์ในประเทศ รวมถึงผลต่อกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ซึ่งอยู่ในห่วงโซ่อุปทานอันสัมพันธ์กับตลาดรถยนต์จีนและผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีน ดังรายละเอียดต่อไปนี้

โควิด-19 กดดันกำลังซื้อประชาชนอย่างน้อยครึ่งปี กดดันตลาดรถยนต์ในประเทศหดตัวร้อยละ 7 ถึง 11

เดิมทีตลาดรถยนต์ในประเทศของไทยต้องเผชิญต่อปัจจัยลบอันหลากหลายที่มีอยู่แล้วในตลาด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่มีความแน่นอนจากสงครามการค้าโลกที่ยังไม่สิ้นสุด ขณะที่สงครามระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่อาจกระทบต่อราคาน้ำมันยังมีโอกาสปะทุได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในประเทศที่อาจกระทบต่อทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจ เช่น ความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาล ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น รวมถึงการที่สถาบันการเงินยังคงเพิ่มความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่ออันเนื่องมาจากปัญหาหนี้เสียที่เพิ่มจำนวนขึ้นในช่วงที่ผ่านมา เหล่านี้ส่งผลให้ตลาดรถยนต์ในประเทศปี 2563 นี้มีแนวโน้มหดตัวลงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากการที่ค่ายรถเร่งทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดรูปแบบต่างๆ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทย เคยมองไว้ในช่วงปลายปีที่แล้วว่ายอดขายรถยนต์ในประเทศปี 2563 อาจหดลงได้ถึงร้อยละ 5 มาปิดตัวเลขที่ 960,000 คัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้นในประเทศจีน กลับเป็นปัจจัยที่ยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และย่อมมีผลต่อตลาดรถยนต์ในประเทศตามมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่จะลดลง โดยผลกระทบหลักที่ได้รับ ได้แก่

กำลังซื้อของคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดคาดว่าจะหายไปค่อนข้างมากและเป็นระยะเวลานานกว่า 3 ถึง 6 เดือน กว่าที่สถานการณ์จะเริ่มดีขึ้นและกลับคืนสู่สภาพปกติ เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้หลักให้แก่ไทย โดยคิดเป็นร้อยละ 28 ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาติอื่นก็อาจลดลงด้วยจากความกังวลเกี่ยวกับการมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในไทย

การผลิตและส่งออกสินค้าไทยหลายรายการในช่วงไตรมาสที่ 1 มีความเสี่ยงที่จะหดตัว อันเนื่องจากการที่ภาคการผลิตจีนต้องหยุดการผลิตไปบางส่วน และการขนส่งถูกตัดขาดในบางแห่ง ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งในการฟื้นคืนกำลังการผลิตสู่ระดับปกติ โดยมีการคาดการณ์กันว่า อาจจะเกิดขึ้นอย่างเร็วสุดภายในเดือนมีนาคม นอกจากนี้ บรรยากาศทางเศรษฐกิจที่ซบเซาจากความกังวลต่อการติดเชื้อระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ความต้องการสินค้าทั้งที่จำเป็นและฟุ่มเฟือยต่างๆ ลดลง ซึ่งตัวอย่างสินค้าไทยที่ได้รับผลกระทบ เช่น

กลุ่มสินค้าเกษตรที่ไทยมีการส่งออกไปจีนในสัดส่วนที่สูง จากปัญหาการขนส่งที่ถูกตัดขาด

กลุ่มวัตถุดิบสำหรับผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น ยางพาราที่นำไปผลิตยางล้อรถยนต์ เป็นต้น จากทั้งการหยุดผลิตรถยนต์ในจีน และยอดขายรถยนต์ที่คาดว่าจะหดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาของจีนในปัจจุบัน

กลุ่มวัตถุดิบขั้นกลาง ที่ไทยมีส่วนเกี่ยวพันอยู่ในห่วงโซ่อุปทานกับสินค้าที่ผลิตในจีน หรือแม้แต่สินค้าที่ผลิตในประเทศอื่นแต่มีการส่งออกไปจีนในท้ายที่สุด ไม่ว่าจะในระดับ Tier 1 หรือ Tier 2 เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งไปประกอบรถยนต์ในจีน หรือชิ้นส่วนรถยนต์ที่ส่งไปประกอบเป็นรถยนต์ที่ญี่ปุ่นแล้วส่งไปขายที่จีน เป็นต้น

กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม เช่น รถยนต์ หรือสินค้าอื่นๆ ที่ส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าของไทยที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่นเดียวกับไทย

จากผลของปัจจัยลบต่างๆ โดยเฉพาะผลของการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่นอกจากจะกระทบต่อภาคธุรกิจในหลายส่วนแล้ว ยังอาจส่งผลต่อการจัดงานมอเตอร์โชว์ 2020 ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนมีนาคมด้วยหากสถานการณ์การแพร่ระบาดยังคงดำเนินไปถึงปลายเดือนมีนาคม ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้น่าจะกดดันกำลังซื้อและความเชื่อมั่นผู้บริโภคค่อนข้างมาก และส่งผลต่อเนื่องมาสู่ตลาดรถยนต์ไทยช่วงไตรมาส 1 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ตลาดรถยนต์ในประเทศช่วงไตรมาสที่ 1 มีโอกาสที่อาจจะทำยอดขายได้ไม่เกิน 215,000 คัน หรือหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 18 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2562 ส่งผลให้มีการปรับลดประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศโดยรวมทั้งปี 2563 ลงสู่ระดับยอดขาย 900,000 ถึง 940,000 คัน หรือหดตัวลงร้อยละ 7 ถึง 11 จากที่ปี 2562 ทำได้ 1,007,552 คัน ทั้งนี้ ตั้งอยู่บนสมมติฐานที่จีนสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศและกลับมาดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้ตามปกติภายในสิ้นไตรมาสที่ 1 ขณะเดียวกัน ก็ไม่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสเดียวกันเป็นวงกว้างในประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ประเภทรถยนต์ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในปีนี้น่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งยังมีช่องให้ทำตลาดได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคไทยให้การยอมรับกับรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น และยังเป็นประเภทรถที่คนซื้อเป็นกลุ่มที่มีรายได้มั่นคง แตกต่างจากรถยนต์อีโคคาร์ที่แม้จะมีการเปิดตัวรุ่นใหม่ที่น่าสนใจออกมา แต่ผู้ซื้อหลักเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำกว่าและมีโอกาสได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจได้ง่าย จึงน่าจะทำให้ยอดขายรถยนต์อีโคคาร์ไม่เติบโตดังที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ ขณะที่รถกระบะก็คาดว่าจะได้รับผลกระทบเช่นเดียวกันจากปัจจัยลบต่างๆ ข้างต้น โดยเฉพาะผู้ซื้อในภาคเกษตร

ยอดการผลิตรถยนต์ลดลงเหลือ 1.9 ล้านคัน หลังไทยอาจส่งออกได้ต่ำกว่าที่เคยมองไว้ที่ 9.8 แสนคัน

นอกจากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่คาดว่าจะหดตัวสูงดังกล่าวแล้ว เมื่อพิจารณาถึงตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ตัวเลขปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 2563 มีความเป็นไปได้สูงที่อาจลดลงไปต่ำกว่าที่เคยมองไว้ก่อนหน้านี้ที่ 980,000 คัน หรือหดตัวลงมากกว่าร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากในครั้งนั้นพิจารณาเฉพาะผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ต่อธุรกิจท่องเที่ยวในประเทศคู่ค้าไทยที่อาจจะซบเซาลงเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันผลของการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่สามารถควบคุมได้นั้น ได้แผ่ขยายเป็นวงกว้างออกไปกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ในประเทศผู้นำเข้ารถยนต์หลักของไทยด้วย โดยเฉพาะเมื่อจีนมีความต้องการนำเข้าสินค้าส่งออกหลักของประเทศคู่ค้าไทยลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาลงในปัจจุบัน โดยตัวอย่างสินค้าส่งออกสำคัญไปจีนของประเทศผู้นำเข้ารถยนต์หลักของไทยอย่างออสเตรเลีย และเวียดนามที่มีแนวโน้มนำเข้าลดลงในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 นี้ ได้แก่

แร่ธรรมชาติจากออสเตรเลีย ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักอันดับ 2 และจีนเป็นตลาดหลักที่นำเข้าสูงมากด้วยสัดส่วนกว่า 3 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกแร่ธรรมชาติทั้งหมดของออสเตรเลีย

โทรศัพท์มือถือและแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์จากเวียดนาม โดยมีการคาดการณ์กันว่า ยอดขายโทรศัพท์มือถือในจีนมีโอกาสที่จะปรับลงกว่าร้อยละ 50 ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563 นี้ จากการปิดโรงงานผลิตและร้านจำหน่ายโทรศัพท์มือถือชั่วคราวในจีน

โดยปริมาณยอดขายรถยนต์ในประเทศและการส่งออกรถยนต์ของไทยในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวลงอย่างมากดังกล่าว ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การผลิตรถยนต์ในประเทศปี 2563 นี้มีแนวโน้มที่ต้องเผชิญต่อภาวะหดตัวสูงอีกครั้ง โดยคาดว่าอาจทำได้เพียงระดับตัวเลข 1,900,000 คัน หรือหดตัวลงกว่าร้อยละ 6 จากปีที่แล้วที่ทำได้ 2,013,710 คัน ซึ่งจะกลายมาเป็นตัวเลขการผลิตรถยนต์ที่ต่ำที่สุดในรอบกว่า 6 ปีของไทย

อย่างไรก็ตาม การผลิตรถยนต์ในประเทศของไทยยังอาจต้องติดตามสถานการณ์การผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในจีนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากบางค่ายจำเป็นต้องนำเข้าชิ้นส่วน OEM จากโรงงานที่หยุดผลิตไปในจีน ขณะที่ค่ายอื่นแม้จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโรงงานที่หยุดผลิตไป แต่ชิ้นส่วน OEM ที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตในระดับ Tier 2 หรือ Tier 3 บางชิ้นที่ต้องผลิตขึ้นมาเป็นชิ้นส่วนระดับ Tier 1 ที่ต้องเข้าไปอยู่ในสายการผลิตรถยนต์ อาจเป็นชิ้นส่วนที่ต้องหยุดผลิตลงชั่วคราวในจีนได้ ซึ่งหากการกลับสู่ระดับการผลิตในภาวะปกติของโรงงานต่างๆ ใช้ระยะเวลานานเกินกว่าเดือนกุมภาพันธ์ไป ก็อาจกระทบต่อปริมาณการผลิตรถยนต์ในระยะสั้นได้ ซึ่งในเวลานั้นค่ายรถอาจจำเป็นต้องพิจารณาหาชิ้นส่วนจากผู้ผลิตชิ้นส่วนรายอื่นประกอบไปด้วยเพื่อรักษาระดับการผลิตรถยนต์ให้สามารถรองรับต่อความต้องการของตลาดได้ อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า มีโอกาสที่กำลังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ และรถยนต์จะกลับฟื้นคืนมาสู่ระดับปกติได้อย่างรวดเร็วทั้งในจีนและไทยเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้นแล้ว เนื่องจากโดยปกติแล้วในภาวะเร่งรีบผู้ผลิตชิ้นส่วนและค่ายรถสามารถใช้กลยุทธ์การเพิ่มช่วงเวลาการทำงานได้

ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน เมื่อมองกลับมาที่อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่สำคัญต่อการผลิตรถยนต์ คือ ชิ้นส่วนรถยนต์ โดยเฉพาะชิ้นส่วนประเภท OEM จะเห็นได้ว่ามีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบดังกล่าวอย่างไม่อาจเลี่ยงทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังต่อไปนี้

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ไปจีนลดลง โดยที่แม้ปัจจุบันไทยจะมีการส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ (HS Code : 8708) ไปจีนคิดเป็นสัดส่วนไม่มากประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกชิ้นส่วนทั้งหมด แต่กระปุกเกียร์และชิ้นส่วนเป็นกลุ่มที่ไทยส่งออกไปจีนเป็นหลักถึงกว่าร้อยละ 27 ของการส่งออกชิ้นส่วนดังกล่าวของไทยไปยังต่างประเทศ ทำให้การผลิตรถยนต์ในจีนที่กว่าจะกลับคืนสู่ระดับการผลิตปกติอย่างเร็วในเดือนมีนาคมนั้น น่าจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกชิ้นส่วนประเภทนี้มากกว่าตัวอื่น ซึ่งแต่เดิมในปี 2562 ที่ผ่านมา การนำเข้ากระปุกเกียร์และชิ้นส่วนจากไทยก็ได้หดตัวลงมากถึงร้อยละ 36 แล้ว จากการที่จีนไปเพิ่มการนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น แทน

การส่งออกชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นชิ้นส่วน OEM ในระดับ Tier 1 และ Tier 2 ไปประกอบเป็นรถยนต์ในประเทศต่างๆ มีโอกาสหดตัวลง เช่น ชุดเกียร์และตัวขับเคลื่อน เครื่องยนต์บางรุ่น ชิ้นส่วน IC สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ sensor เพื่อตรวจจับความร้อนของท่อไอเสีย เป็นต้น ที่ส่งออกไปประกอบเป็นรถยนต์ที่ญี่ปุ่น มีโอกาสที่จะปรับลดลงได้ในปีนี้ เมื่อผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้การผลิตรถยนต์ในญี่ปุ่นบางค่ายต้องหยุดชะงักลงจากการขาดแคลนชิ้นส่วนรถยนต์จากจีน ขณะเดียวกัน ก็ทำให้ปริมาณความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นและการส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นไปจีนมีโอกาสหดตัวลงในปีนี้เช่นเดียวกันกับไทย

นอกจากนี้ ประเทศอื่นๆ อย่างมาเลเซียและอินโดนีเซียอาจเผชิญปัญหาจากการขาดแคลนชิ้นส่วนที่จะมาประกอบรถยนต์บางค่ายจากจีนเช่นกัน ซึ่งหากชิ้นส่วนรถยนต์ไทยอยู่ในสายการผลิตรถยนต์ของค่ายดังกล่าวก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 ประเทศมุ่งผลิตเพื่อรองรับตลาดในประเทศเป็นหลัก และมีความเกี่ยวพันกับชิ้นส่วนรถยนต์จีนน้อยกว่าชิ้นส่วนรถยนต์จากไทยมาก ทำให้ผลกระทบอยู่ในวงจำกัดกว่าเมื่อเทียบกับญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม ความต้องการซื้อรถยนต์ของทั้ง 2 ประเทศที่คาดว่าจะหดตัวลงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจก็ย่อมทำให้ความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์เพื่อผลิตรถยนต์ลดลงอย่างไม่อาจเลี่ยงเช่นกัน

ความต้องการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์โดยรวมประเภท OEM เพื่อประกอบรถยนต์ในไทยลดลง อันเนื่องมาจากปริมาณการผลิตรถยนต์ที่คาดว่าจะหดตัวลงค่อนข้างมากในปีนี้จากสภาพตลาดที่ซบเซาทั้งในและต่างประเทศ

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีน และนานาประเทศดังกล่าว ซึ่งอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า สิ่งที่ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจจะดำเนินการในอนาคตหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือ การปรับปรุงแผนยุทธศาสตร์ในการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์ OEM สำหรับการผลิตเพื่อรับมือต่อปัญหาที่รอบด้านขึ้นในอนาคต เช่น การเพิ่มปริมาณสต๊อกชิ้นส่วนรถยนต์ที่จำเป็นและมีผู้ผลิตน้อยรายมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าจะสวนทางกับกลยุทธ์การผลิตแบบ Just-in-Time ที่ทำมาในอดีตเพื่อลดต้นทุนการจัดการสต๊อก แต่ก็มีประโยชน์มากหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินดังเช่นครั้งนี้ และอีกแนวทางหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้น คือ ค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนอาจกระจายความเสี่ยงด้วยการลดการพึ่งพิงการผลิตและจัดหาชิ้นส่วนจากฐานการผลิตในประเทศเดียวมากขึ้น และหันมาลงทุนผลิตและกระจายการจัดหาชิ้นส่วนรถยนต์มายังประเทศอื่นที่มีศักยภาพมากขึ้น ซึ่งไทยอาจกลายมาเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่เหมาะสมและมีโอกาสที่การลงทุนผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จะเข้ามาในประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะ ชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า หากภาครัฐร่วมมือกับภาคเอกชนในการส่งเสริมและสนับสนุนการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศมากขึ้น เช่น การสนับสนุนการตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าให้กระจายครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ การใช้มาตรการรัฐรูปแบบต่างๆ เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์ไฟฟ้าจากหลายค่ายเข้ามาทำตลาดและมีการแข่งขันในตลาดมากขึ้นในช่วงแรกเพื่อกระตุ้นอุปสงค์จากฝั่งผู้บริโภค ซึ่งจะส่งผลผลักดันให้การลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนเข้ามามากขึ้นตามความต้องการในตลาดที่สูงขึ้น

โดยสรุป ปี 2563 นี้ เป็นอีกปีที่ยากลำบากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนไทย เนื่องจากต้องเผชิญต่อปัจจัยลบรอบด้าน โดยเฉพาะปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก ซึ่งไทยเองก็ได้รับผลกระทบทำให้บรรยากาศการใช้จ่ายของผู้บริโภคโดยรวมซบเซาลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายสำหรับสินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น รถยนต์ ทำให้ในปี 2563 นี้ ทั้งยอดขายรถยนต์ในประเทศ การส่งออก และการผลิตมีทิศทางที่หดตัวลงค่อนข้างมากทั้งหมด ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในขณะนี้ก็เกิดในประเทศฐานการผลิตรถยนต์อื่นเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น จีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นต้น จึงส่งผลกระทบมายังการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ประเภท OEM ในประเทศของไทยด้วย ที่ต้องเผชิญต่อความต้องการใช้ที่ลดลงทั้งในประเทศและต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางสถานการณ์โดยรวมที่ดูไม่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนไทยนัก ณ ขณะนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้นดังกล่าวอาจกลายมาเป็นโอกาสให้แก่ไทยได้ หากไทยเร่งสร้างบรรยากาศส่งเสริมการตลาดและการลงทุน โดยเฉพาะสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน อาจทำให้ไทยสามารถดึงดูดค่ายรถและผู้ผลิตชิ้นส่วนเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นได้ เมื่อทุกบริษัทน่าจะเริ่มมองถึงการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนออกจากประเทศจีนมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น