xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“อนาคตใหม่” ยุบไปก็ไม่ระคาย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - พอเหมาะพอเจาะพอดีสำหรับคิวที่ “ศาลรัฐธรรมนูญ” นัดหมายอ่านคำวินิจฉัยยุบ “พรรคอนาคตใหม่” ในวันที่ 21 ก.พ.นี้

เป็นคดีที่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่พรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจาก “เสี่ยเอก” ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จำนวน 191,200,000 บาท ซึ่งเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าตามคำร้องของผู้ร้องและคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดีพอวินิจฉัยได้ ไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานบุคคล แต่เพื่อประโยชน์ แห่งการพิจารณา ให้พยานบุคคล รวม17 ปาก ตามที่ผู้ถูกร้องยื่นบัญชีระบุพยาน จัดทำบันทึกเพื่อยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็นเป็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 17 ก.พ.63 และให้เลขาธิการ กกต.ในฐานะผู้เกี่ยวข้องจัดทำความเห็นเป็นหนังสือและส่งเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันที่ 12 ก.พ.63

นัดอ่านคำวินิจฉัย ในวันศุกร์ที่ 21 ก.พ.63 เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ณ ห้องพิจารณาคดี ชั้น 3 ศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์

น่าสนใจว่า วันพิพากษา “ค่ายเฮียทอน” มีขึ้นก่อนการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลที่กำหนดเริ่มต้นในวันที่ 24 ก.พ.เป็นต้นไป เพียงแค่ 3 วันเท่านั้น

ความพอเหมาะพอเจาะที่ว่า ทาง “ค่ายสีส้ม” ที่ยังฉลองที่รอดถูกยุบพรรคในคดีล้มล้างการปกครองไม่เสร็จดี ก็ต้องออกมาโวยวายทันทีถึง “วาระซ่อนเร้น” ในการเล่นงานพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งพรรคอนาคตใหม่ถึงเป็นหัวหอกสำคัญของทางฝ่ายค้าน

และก็เป็น “จารย์ป๊อก” ปิยบุตร แสงกนกนกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ยกขบวน ส.ส.มาเกือบหมดพรรค เกาะโพเดี้ยมแถลงข่าวที่รัฐสภา โดยจั่วหัวทันทีว่า “พวกเราไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง” กับคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ พร้อมยกกรณี “เอกสารหลุด” ของ กกต.มารีรันยืนยันอีกครั้งว่า กระบวนการพิจารณาในชั้น กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“กกต. ได้ส่งเรื่องไปที่อนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนถึง 2 คณะและมีการยกคำร้องทั้ง 2 คณะ ตามกฎหมายเรื่องต้องยุติลงทันที แต่ กกต. กลับยังเดินหน้ากระบวนพิจารณาต่อไป นอกจากนี้ กกต. ยังอ้างฐานความผิด คือ การได้เงินมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เพื่อขอให้มีการยุบพรรคทั้งๆ ที่ไม่เข้าองค์ประกอบความผิด ไม่เคยเปิดโอกาสให้พรรคได้ต่อสู้คดีแต่อย่างใด” เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ย้ำอีกครั้งหลังพยายาม “ตีปี๊บ” ประเด็นนี้มาแล้วหลายรอบ แต่ดูเหมือนจะจุดไม่ติด

โดย “ค่ายสีส้ม” ก็ยังหวังด้วยว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะเปิดกระบวนการไต่สวน ตามที่ได้ร้องขอไป ซึ่งอย่างที่ทราบว่าศาลได้ “ตัดจบ” นัดอ่านคำวินิจฉัยทันที แต่ก็ได้ให้ผู้เกี่ยวข้องส่งข้อเท็จจริงและความเห็นเป็นเอกสารได้

แม้สถิติการขึ้นไต่สวนในชั้นศาลรัฐธรรมนูญของ “ค่ายสีส้ม” ดูจะไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะคิวที่เจ้าของพรรค “เสี่ยเอก-ธนาธร” ที่เคยน็อคคาห้องไต่สวนมาแล้ว ในคดีถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด เข้าลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ที่ถูกสั่งให้สมาชิกภาพการเป็น ส.ส.สิ้นสุดลง

ต่างจากคดีล้มล้างการปกครอง ที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่เปิดให้มีกระบวนการไต่สวน แต่ผลลัพธ์ออกมา “เป็นคุณ” กับพรรคอนาคตใหม่ที่ไม่ถูกยุบพรรค

ถอดรหัสความพยายามของพรรคอนาคตใหม่ที่อยากให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดกระบวนการไต่สวนในคดีเงินกู้ 191 ล้านบาทนั้น ก็เพราะต้องการที่จะคาดคั้น กกต.ให้ยอมรับว่ากระบวนการพิจารณาในชั้น กกต.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มากกว่าที่จะต่อสู้ว่าพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้หรือไม่

เพราะ “ค่ายสีส้ม” โดยเฉพาะ “จารย์ป๊อก” ค่อนข้างมั่นใจว่า เอกสารหลุดของ กกต.นั้นเป็น “ของจริง” อีกทั้งมีพยานที่เป็นเจ้าหน้าที่ กกต.บางปาก อาจให้การที่ “เป็นคุณ” แก่พรรคอนาคตใหม่

ทั้งนี้ “เอกสารหลุด” ที่พรรคอนาคตใหม่ พยายามอ้างอิงนั้น เป็นกระบวนการภายหลังจากที่ กกต.รับคำร้องจาก “ศรีสุวรรณ จรรยา - สุรวัชร สังขฤกษ์” ว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดกฎหมาย “มาตรา 66” ของกฎหมายพรรคการเมือง ที่กู้เงินจาก “หัวหน้าทอน” ถือเป็นการบริจาคเงินมูลค่าเกิน 10 ล้านบาทต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายพรรคการเมือง

โดย กกต.ได้มอบหมายให้คณะกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 13 และสำนักสืบสวนสอบสวนและวินิจฉัย สำนวนที่ 18 ดำเนินการสืบสวนสอบสวน โดยทั้ง 2 คณะ ระบุว่า พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจาก “ธนาธร” จริง แต่การกู้ยืมเป็นหนี้สิน ไม่ใช่รายได้ และพรรคการเมืองก็สามารถกู้เงินได้ตามกฎหมาย จึง “เห็นควรยกคำร้อง”

อย่างไรก็ดี กกต.ได้สั่งตั้งให้คณะอนุกรรมการวินิฉัยชี้ขาดข้อโต้แย้งอีก ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฯ มีมติ 3 ต่อ 2 เสียงชี้ว่า “ค่ายสีส้ม” ทำผิด “มาตรา 66” ของกฎหมายพรรคการเมือง เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งตัดสิทธิเลือกตั้งของหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหาร 5 ปี และริบเงินส่วนที่เกินกว่า 10 ล้านบาทให้เป็นของแผ่นดิน

อันเป็นที่มาของมติ กกต.ชุดใหญ่ที่มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่าพรรคอนาคตใหม่ทำผิดมาตรา 72 แห่ง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ให้พิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 ของกฎหมายฉบับเดียวกัน

ทำให้ผู้ถูกร้องอย่าง “ค่ายสีส้ม” โวยไม่เลิกที่มี “มาตรา 72” งอกออกมาด้วย เหตุเพราะโทษของมาตราดังกล่าวถึงขั้น “ยุบพรรค” ต่างจาก “มาตรา 66” ที่ “ผู้ร้อง” ยื่นเข้ามาให้ กกต. ซึ่งโทษสูงสุดเพียงแค่ “โดนปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ถูกริบเงินส่วนเกิน และตัดสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี”

วันนั้นทางพรรคอนาคตใหม่ที่มองว่า มีเจตนายัดเยียดข้อหากลั่นแกล้งพรรคอนาคตใหม่เพื่อให้ถูกยุบ ก็ตอบโต้ กกต.อย่างรุนแรง กระทั่งออกบทความในเว็บไซต์ทิ้งคำถามว่า “กกต.ยังมียางอายอยู่หรือไม่” เลยทีเดียว

น่าสนใจว่า แม้ “ค่ายเฮียทอน” จะยืนยันว่าการกู้เงินของพรรคการเมืองสามารถทำได้ในหลายวาระ แต่ก็หันมาให้น้ำหนักในประเด็น “กระบวนการภายในของ กกต.” มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

เนื่องเพราะเมื่อกาง “กฎหมายใหม่” พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2560 ใน “มาตรา 62” ระบุว่า พรรคการเมืองมี “รายได้” ได้จาก 7 ช่องทาง เช่น รับบริจาค จัดระดมทุน หรือขายสินค้า แต่ไม่มีกำหนดว่าให้ “กู้เงิน” มาใช้จ่ายได้ แตกต่างจาก “กฎหมายเก่า” พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 ที่เคยเปิดช่อง “รายได้อื่น” จึงเคยมีรายการ “เงินกู้ยืม” ในบัญชีงบดุลของหลายพรรคการเมือง

ประเด็นนี้เองเคยทำให้นักกฎหมายขั้นเทพอย่าง “ปิยบุตร” เคย “หน้าแหก” มาแล้ว เพราะไปรื้อแฟ้มงบดุลของหลายพรรคการเมืองมาเทียบเคียงกับการกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ แต่ปรากฏว่าเป็นการดำเนินการภายใต้กฎหมายคนละฉบับ

เพิ่งจะมา “กู้หน้า” ได้ไม่นาน เมื่อ สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. และอดีตผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมากางเอกสารเปิดเผยว่า จากเอกสารงบการเงินล่าสุด ลงวันที่ 31 ธ.ค.2561 ที่อยู่ภายใต้ “กฎหมายใหม่” มีถึง 18 พรรคการเมือง ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว


ในจำนวนนั้นมีพรรคการเมืองที่มี ส.ส. 7 พรรค นอกเหนือจาก “อนาคตใหม่” แล้วที่เหลือเป็นพรรครัฐบาลทั้งหมด ได้แก่ “ค่ายกำนัน” พรรครวมพลังประชาชาติไทย, “ค่ายสุวัจน์” พรรคชาติพัฒนา, “ค่ายเสี่ยชัช” พรรคพลังท้องถิ่นไท และ “พรรคเสียงเดียว" อีก 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยใหม่, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน และพรรคพลังชาติไทย

เรียกว่า “อนาคตใหม่” ออกหน้าไหน อนาคตของพรรคการเมืองเหล่านั้นก็คงไม่ต่างกัน เข้าสูตร “เบี้ยแลกขุน” กันไป

ทีนี้ต้องมาดูว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้จริงตามที่ “ค่ายเฮียทอน” ยืนยันหรือไม่ ก็ต้องกาง “มาตรา 62” ระบุรายได้ของพรรคการเมืองมาได้จาก 7 ทาง ประกอบด้วย 1.เงินทุนประเดิม, 2.เงินค่าธรรมเนียมและค่าบํารุงพรรคการเมือง, 3.เงินที่ได้จากการจําหน่ายสินค้าหรือบริการ, 4.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการจัดกิจกรรมระดมทุนของพรรค, 5.เงิน ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นใดที่ได้จากการรับบริจาค, 6.เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และ 7.ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง

พร้อมกันนี้ยัง “บังคับ” การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองตามมาตรา 87 ประกอบมาตรา 62 วรรคท้ายด้วยว่า “พรรคต้องใช้จ่ายจากเงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองเท่านั้น” เท่ากับว่า เงินหรือทรัพย์สินใดๆ ที่ไม่ได้มาจากรายได้ตามมาตรา 62 ก็ถือเป็นเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไม่ได้ เมื่อไม่ใช่เงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็จะใช้จ่ายเงินนอกเหนือจากเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไม่ได้

“กฎหมายพรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน ค้ากำไรไม่ได้ จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อะไรที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้ให้กระทำ ต้องถือว่าไม่สามารถกระทำได้ ฉะนั้นการกู้เงินจึงกระทำไม่ได้” เป็นความเห็นของ “อดีต กกต.สมชัย” ที่แม้จะไม่เห็นด้วยกับมติของ กกต.ที่ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ก็ยอมรับว่าแง่มุมกฎหมายเขียนไว้เช่นนั้น

พิจารณาตามนี้แล้ว ก็มี “สมการ” ขึ้นมาว่า เมื่อพรรคอนาคตใหม่ ยอมรับว่านำเงินกู้ 191 ล้านบาทจาก “เฮียทอน” มาใช้จ่ายในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งเข้าข่าย “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” เท่ากับว่า กิจกรรมการหาเสียงต่างๆ รวมทั้งผลการเลือกตั้งของพรรคอนาคตใหม่ ก็ควร “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หรือควรเป็น “โมฆะ” ได้เลยทีเดียว

เพียงแต่ในกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดเช่นนั้น เป็นเหตุให้ กกต.ชุดใหญ่ไปหยิบเอา “มาตรา 72” ที่ว่า “ห้ามมิให้พรรคการเมืองรับเงินโดยรู้หรือควรรู้ว่าได้มาไม่ชอบด้วยกฎหมาย” มาเป็น “ข้อหาหลัก” แทนที่ “มาตรา 66” ที่พูดถึงเพดานการรับบริจาคของพรรคการเมือง ที่ผู้ร้องยื่นมา

ด้วยคงเห็นว่า “มาตรา 72” นั้นตรงกับพฤติการณ์ของพรรคอนาคตใหม่มากกว่า

จับสุ่มเสียงของ “จารย์ป๊อก” ล่าสุดก็เหมือนยอมรับโดยดุษฎีว่าคง “แพ้ตั้งแต่ในมุ้ง” เมื่อไม่มีโอกาสได้ต่อสู้ในชั้นศาล ถึงขั้นสั่งลาล่วงหน้าแล้วว่า

“ถ้าไม่ได้เป็น ส.ส. เราก็ทำงานการเมืองต่อไป ถ้าเราหยุดก็เท่ากับเรากำลังเข้าทางผู้กำกับภาพยนตร์เรื่องยุบพรรคนี้ แต่เรายืนยันว่าเราไม่หยุด เรายังคงมั่นใจในเพื่อน ส.ส. เราว่าเดินหน้าสู้ต่อแน่นอน และพรรคอนาคตใหม่ไม่ใช่เป็นแค่ร่างกายในรูปของพรรคการเมืองเท่านั้น แต่เรากำลังทำให้พรรคอนาคตใหม่เป็นจิตวิญญาณ เป็นอุดมการณ์ เป็นความคิดด้วย แม้ร่างกายจะตายไป แต่จิตวิญญาณ อุดมการณ์ของพรรคอนาคตใหม่จะยังคงอยู่ต่อไป”

เป็นสุ้มเสียงที่คล้ายคลึงกับการสั่งลาของ “หัวหน้าทอน” ก่อนถูกวินิจฉัยให้พ้นจาก ส.ส.ที่ว่า พร้อมจะดำเนินงานการเมืองต่อ “นอกสภา” อีกทั้งยังไม่ต่างจากที่ได้แถลงร่ำลาก่อนการตัดสินคดีล้มล้างการปกครอง ว่าพรรคอนาคตใหม่ยังขับเคลื่อนต่ออย่างแน่นอนในชื่อพรรคใหม่ เพียงแต่กรณีหลังรอดตัว ยังไม่ต้องหยิบ “พรรคสำรอง” มาใช้

เป็นที่รับรู้ในวงกว้างพอสมควรว่า สัญญาณคดีกู้เงิน ชัดเสียยิ่งกว่าคดีล้มล้างการปกครอง ในการยุบพรรคอนาคตใหม่ ด้วยเป็นความผิดที่จับต้องได้ ไม่ได้กล่าวหาลอยๆ เช่นคดีก่อน ถึงขนาดที่ว่าบ่อนไม่กล้าเปิดอัตราต่อรองเลยทีเดียว

“ประชาชนและสื่อมวลชนจำนวนมากวิเคราะห์กันไปต่างๆ นานาว่า พรรคอนาคตใหม่มีโอกาสถูกยุบก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจ จะไม่มีชื่อพรรคอนาคตใหม่ในสภาผู้แทนราษฎร จะทำให้ ส.ส. ที่เป็นกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิและอดอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำให้ ส.ส. บางส่วนย้ายไปสนับสนุนฝ่ายรัฐบาล ทำให้เสียงพรรคร่วมฝ่ายค้านหายไป ทำให้สภาวะรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำหมดไป จะทำให้รัฐมนตรีทั้ง 6 รอดพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ไปได้”

คือสิ่งที่ “ปิยบุตร” ว่าไว้ ที่เหมือนรู้ตัวแล้วว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 21 ก.พ.นี้

คาดคะเนกันว่า โทษทัณฑ์ขั้นร้ายแรงที่สุดของ “ค่ายสีส้ม” ไม่พ้นถูกยุบพรรค และกรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง ส่งผลให้กรรมการบริหารที่เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 10 คนพ้นจาก ส.ส.โดยอัตโนมัติ

คำถามมีว่า หากพรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ จะมีสิทธิเลื่อนผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับถัดไปขึ้นมาทดแทนกรรมการบริหารพรรคที่ถูกแบนทางการเมืองหรือไม่ จึงเคยมีข้อเสนอให้ ส.ส.ที่เป็นกรรมการบริหารลาออกจาก ส.ส.ก่อนการตัดสินคดีล้มล้างการปกครอง แต่ก็เลือกที่จะแข็งใจรอรับผล ดีที่ครั้งนั้นรอดมาได้

แน่นอนว่า สัญญาณจาก “เฮียทอน” คือ สู้ต่อ โดยหา “พรรคสำรอง” รองรับ ส.ส.ให้มีการสังกัดรักษาสมาชิกภาพเอาไว้ หลังจากพรรคถูกยุบภายใน 30 วัน

จับยามสามตาแล้ว ก็อาจเห็น “ส.ส.เลือดแท้” พรรคอนาคตใหม่ ทั้งแบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ เหลืออยู่ราวๆ 60 คน ที่ยังคง “จงรักภักดี” กับ “เฮียทอน” มีบางส่วนเตรียม “ตีจาก” ไปเริ่มต้นกับพรรคอื่น โดยเฉพาะ “ส.ส.ส้มหล่น” ที่อาจได้เลื่อนขึ้นมาแทนกรรมการบริหารพรรค

จังหวะดีช่วงโหวตญัตติไม่ไว้วางใจ กดบัตรผิดๆ ถูกๆ ไปโดนปุ่ม “ไว้วางใจ” ขึ้นมา ก็อาจได้กิน “กล้วย” กันอิ่มแปล้

ขณะที่ผู้นำ “พรรคใหม่” คงหนีไม่พ้น “เสี่ยทิม” พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่โชว์ฟอร์มโดดเด่นในสภาเป็นแกนหลัก ประสานกับ “ซุปตาร์สีส้ม” อย่าง “ดร.ไหม” สิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่รอดพ้นจากการสิ้นสภาพ ส.ส. เพราะไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคชุดเดิม

อย่างไรก็ดี “เกมในสภา” ของฝ่ายค้านย่อมอ่อนด้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจากจำนวน ส.ส. ที่คาดว่า ลูกพรรคอนาคตใหม่ที่อยู่ในภาวะ “ผึ้งแตกรัง” คงโดนช้อนซื้ออย่างหนักหน่วง เพราะฝ่ายรัฐบาลเองก็ต้องการปรับดุลเสียง ส.ส.ในสภา ให้พ้นภาวะ “ปริ่มน้ำ” เสียที

หนักกว่านั้นคือ ฝ่ายค้านก็จะขาด “อาวุธหนัก” ไปหลายหน่อ ตั้งแต่ ปิยบุตร แสงกนกกุล - พรรณิการ์ วานิช- กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ - ชำนาญ จันทร์เรือง - พล.ท.พงศกร รอดชมภู - ไกลก้อง ไวทยการ - เยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ - สุรชัย ศรีสารคาม - เจนวิทย์ ไกรสินธุ์ - จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ

งานของ “รัฐบาลพลังประชารัฐ” ก็หมูขึ้นอีกหลายเท่า และแต้มต่อของ “พลังประชารัฐ” กับพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ก็จะดูดีขึ้นอีกด้วย

ขณะเดียวกัน ถ้าจะว่าไป ทางฝ่าย “อนาคตใหม่” เองก็ไม่สูญเสียอะไรมากมายเช่นกัน แม้ “คีย์แมน” จะหลุดจาก ส.ส.กันเป็นแถว แต่ที่ผ่านมาครึ่งปีในสภาฯ ก็ยังไม่เคยผลักดันแนวนโยบายที่หลายเรื่อง “แหลมคม” ของพรรคได้สำเร็จเลย โหวตอย่างไรก็แพ้วันยังค่ำ

เช่นเดียวกับ “ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นแค่เพียง “พิธีกรรม” เพราะสุดท้ายตอนยกมือ ถึงอย่างไร “พรรคร่วมรัฐบาลก็ชนะ” ด้วยมีเสียงที่เหนือกว่า ดังนั้น ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไรในวันที่ 21 ก.พ. ก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “ล้านเปอร์เซ็นต์”

การถูกเขี่ยออกจากระบบ แล้วไปเล่น “เกมนอกสภา” อาจดีกว่าด้วยซ้ำ อีกทั้งยังมีประเด็น “ถูกกระทำ” ให้ปั่นกระแสต่อเนื่องอีกด้วย เพราะ“เกมนอกสภา” ที่ “ค่ายเฮียทอน-ติ่งสีส้ม” พยายามปั่นกันมาตั้งแต่ตอนที่ “เฮียทอน” หลุด ส.ส. ทั้ง “แฟลชม็อบ” ประเดี๋ยวประด๋าว หรือ “วิ่งไล่ลุง” ก็ดูจะจุดให้เป็นกระแสต่อเนื่องไม่ได้

ด้วยเหตุนี้ จากที่เคยประหวั่นพรั่นพรึงในตอนแรกๆ หลังๆ มาฝ่ายรัฐบาลจะ “เบาใจ” ไปเยอะ

กลายเป็นว่าคิวยุบพรรคอนาคตใหม่ อาจจะไม่ได้ส่งผลสะท้านสะเทือนอะไรมากมาย

เข้าทำนอง “ยุบก็ช่าง ไม่ยุบก็ช่าง”.


กำลังโหลดความคิดเห็น