xs
xsm
sm
md
lg

เงินกู้ 191 ล.ยุบแน่! “โหรศรี” ให้หาพรรคสำรองรอได้เลย จะแม่นเหมือน “ไม่ยุบ” คดีล้มการปกครองฯหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“โหรศรี” การันตีความแม่นยำ หลังเคยโพสต์ว่า คดีล้มการปกครองฯ “ไม่ยุบส้มหวาน” แต่ คดีเงินกู้ 191 ล้าน ฟันเปรี้ยง หาพรรคสำรองรอเอาไว้ได้เลย

น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง วันนี้ (21 ม.ค. 63) เฟซบุ๊ก ศรีสุวรรณ จรรยา ของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความระบุว่า

“โหรศรีบอกแล้วครับ ว่า อนค.จะไม่ถูกยุบพรรคเพราะคดีอิลลูมินาติ (คดีล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) แต่คดีเงินกู้ 191 ล้าน เตรียมพรรคสำรองได้เลยครับ.”

ทั้งนี้ โพสต์ของ “ศรีสุวรรณ” เกิดขึ้น หลังจากรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยกคำร้องยุบพรรคอนาคตใหม่

โดยมีคำวินิจฉัยว่า เป็นเพียงข้อห่วงใยของผู้ร้อง เป็นเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ ไม่มีพฤติการณ์ว่าผู้ถูกร้องทั้ง 4 ล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด จึงวินิจฉัยว่า ไม่เป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น วันนี้ (21 ม.ค. 63) เช่นกัน เฟซบุ๊ก เพนกวิน - Parit Chiwarak และทวิตเตอร์ @paritchi ของนายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนวร่วมกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โพสต์ข้อความ หัวข้อ “อย่าไว้ใจทาง อย่าวางใจเผด็จการ”

โดยระบุว่า “ดีใจกับพรรคอนาคตใหม่ที่ #ไม่ยุบ ครับ แต่อย่าเพิ่งย่ามใจ ยังเหลือคดีเงินกู้อีกคดีนะครับ ฝ่ายเผด็จการมักจะเปิดช่องให้เราย่ามใจแล้วค่อยแทงข้างหลังอย่างเลือดเย็น.”

แน่นอน, ทั้งสองโพสต์สะท้อนให้เห็น ว่า พรรคอนาคตใหม่ยังไม่ปลอดภัยจากคดียุบพรรคเสียทีเดียว เพราะยังเหลือคดีที่ กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) ร้องให้ “ยุบพรรค” อีกหนึ่งคดี คือ คดีที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ให้พรรคอนาคตใหม่ กู้เงินจำนวน 191.2 ล้านบาท ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ข้อมูลหลักฐาน ชัดเจนยิ่งกว่าคดีนี้ เพียงแต่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตีความข้อกฎหมายออกมาอย่างไรเท่านั้น

แต่ถ้าฟังจาก นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ดูเหมือนค่อนข้างมั่นใจว่า สามารถต่อสู้คดีได้

โดยกล่าว หลังพรรครอดพ้นจากการถูกยุบว่า เราพร้อมต่อสู้คดี เพราะการพิจารณาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ถูกต้อง ภายหลังคณะอนุกรรมการของกกต.ได้ยกคำร้องไปแล้ว แต่กกต.ก็ยังดำเนินการต่อไป ซึ่งเราได้ฟ้องร้องเป็นคดีอาญาต่อ กกต.แล้ว ขณะเดียวกัน จะร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเปิดการไต่สวนเพื่อเรียกเอกสารและพยานบุคคลเข้ามาพิจารณา

“การกู้เงินไม่มีกฎหมายห้าม เพราะมีหลายพรรคกู้เงิน เงินกู้ไม่ใช่ประโยชน์ และเงินกู้เราได้ทยอยคืนไปบางส่วนและเป็นเงินใช้เพื่อทำกิจกรรมของพรรคการเมือง จึงมั่นใจว่า เราไม่มีความผิด”

อย่างไรก็ตาม ถ้าวิเคราะห์ ตามข้อกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายแล้ว ถือว่า พรรคอนาคตใหม่ ต้องลุ้นหนักทีเดียว

คดีนี้ มติ กกต.เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 62 มีเอกสารเพียงแค่แผ่นเดียว ไม่มีการจัดแถลงข่าวเพื่ออธิบายมติ และเนื้อหาในเอกสารก็ไม่มีคำอธิบายเหตุผลที่เป็นเบื้องหลังมติแต่อย่างใด

บอกสั้นๆ แค่ไม่กี่บรรทัดว่า กกต.มีมติด้วยเสียงข้างมากยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะกระทำฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงต้องยุบพรรคตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93

แล้วถ้าไล่เรียงให้ดี ก็จะเห็นว่า มาตรา 72 ระบุห้ามไม่ให้พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้า กรรมการบริหาร รับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่วนมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) เป็นบทบัญญัติรับรองว่า ถ้าพรรคการเมืองกระทำผิดตามมาตรา 72 มีโทษถึงยุบพรรค ส่วนมาตรา 93 เป็นเรื่องทางธุรการ ว่าการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ต้องทำอย่างไร

เมื่อเป็นเช่นนี้ สาระสำคัญจึงอยู่ที่มาตรา 72 หาใช่ มาตรา 62 ที่ระบุว่า พรรคการเมืองมี “รายได้” จาก 7 ช่องทาง เช่น รับบริจาค จัดระดมทุน หรือขายสินค้า แต่ไม่มีกำหนดว่าให้ “กู้เงิน” มาใช้จ่ายได้

ประเด็นนี้พรรคอนาคตใหม่โต้ว่า เงินกู้เป็นรายจ่าย ไม่ใช่รายได้ และกฎหมายไม่ได้ห้ามการกู้เงิน จึงทำได้ และไม่ผิดอะไร

แต่นักกฎหมายอธิบายว่า กฎหมายพรรคการเมืองเป็นกฎหมายมหาชน พรรคการเมืองเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชน (ค้ากำไรไม่ได้) จึงต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อะไรที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติเอาไว้ให้กระทำ ต้องถือว่าไม่สามารถกระทำได้ ฉะนั้นการกู้เงินจึงกระทำไม่ได้ แต่การฝ่าฝืนมาตรา 62 กฎหมายไม่ได้กำหนดโทษเอาไว้ เพราะกฎหมายทั้งฉบับไม่ได้พูดถึงการกู้เงินเลยแม้แต่ประโยคเดียว

และมาตรา 66 ที่ระบุ เพดานการรับบริจาคเงินของพรรคการเมือง หากรับบริจาคจากคนทั่วไป รับบริจาคได้ไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคนต่อปี ถ้ารับบริจาคเกินกว่านี้ จะมีความผิด พรรคโดนปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท ถูกริบเงินส่วนเกิน และตัดสิทธิ์เลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคเป็นเวลา 5 ปี แต่ไม่มีโทษยุบพรรคเช่นกัน

ภาพจากแฟ้ม
นี่คือ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 2 มาตราหลักๆ ที่พูดถึงกันก่อนหน้าที่ กกต.จะยื่นคำร้อง

ทำให้นักวิชาการหลายคนฟันธงเลยด้วยซ้ำ เหมือนกับที่แกนนำพรรคอนาคตใหม่ฟันธงว่า “งานนี้ไม่มีทางยุบพรรคได้” แต่ปรากฏว่า เมื่อ กกต.ออกมติมาจริงๆ กลายเป็นการอ้างอิงมาตรา 72 มาตราเดียว ไม่พูดถึงมาตรา 62 และ 66 เลยแม้แต่น้อย

พลันมติ กกต.ใช้มาตรา 72 นายปิยบุตร และมือกฎหมายของพรรคอนาคตใหม่ ก็ออกมาชี้ประเด็นทันทีว่า กกต.ตีความกฎหมายไม่ถูกต้อง จ้องเล่นงานพรรคอนาคตใหม่ ใช้คำรุนแรงถึงขนาดว่า “อัปยศ” กันเลยทีเดียว

นายปิยบุตร บอกว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 72 คือ การป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินหรือนำเงินจากแหล่งที่มาที่ผิดกฎหมายมาใช้จ่าย หรือทำงานทางการเมือง เช่น เงินจากการค้ายาเสพติด ค้าของเถื่อน เป็นต้น จากนั้นก็ตั้งคำถามกลับว่า เงินของนายธนาธร ในฐานะหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ที่นำมาให้พรรคกู้ เป็นเงินผิดกฎหมายตรงไหน

นี่เอง จึงนำมาสู่การวิเคราะห์ว่า มาตรา 72 ตีความได้อย่างไร

1. ห้ามใคร-ห้ามพรรคการเมือง และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ข้อนี้ชัดเจนว่าห้ามทั้งในระดับพรรค และผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองเป็นรายบุคคล

2. ห้ามอะไร-ห้ามรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด

3. ห้ามทำไม ห้ามส่วนไหน-ส่วนที่กฎหมายห้ามก็คือ เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ทางพรรครู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่า มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นี่คือ องค์ประกอบของมาตรา 72 ประเด็นที่ต้องมาถกกันต่อก็คือ องค์ประกอบข้อ 3 ว่าด้วยเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่ห้ามรับนี้ หมายถึงอะไรและกินความขนาดไหน ซึ่งมีอยู่ 2 อย่าง คือ เงินที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กับเงินที่มีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อหลังเข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา คือ แหล่งที่มาของเงินและทรัพย์สินนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เป็นเงินจากการค้ายาเสพติด แบบนี้ห้ามรับแน่ ถ้ารับก็สมควรยุบพรรคตามโทษที่กฎหมายกำหนดทันที

แต่ประโยคแรกที่ว่า “เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดที่รู้ หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ตรงนี้ต้องตีความว่า หมายถึงเงินนั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แบบเงินค้ายา หรือหมายถึงแค่ “วิธีการที่พรรคการเมืองได้เงินมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” กันแน่

ถ้าตีความว่า เงินนั้นได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก็จะคล้ายๆ กับแบบแรกที่บอกว่า แหล่งที่มาของเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น เงินที่ไปโกงเขามา หรือเงินค้ายาเสพติด ซึ่งตอนที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กกต.ก็ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่าเงินกู้ 191.2 ล้านบาท มีแหล่งที่มาไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร

ถ้าเป็นแบบนี้ ก็น่าคิดว่ากฎหมายจะเขียนแยกเป็น 2 ประโยคทำไม เพราะความหมายเหมือนกัน

แต่ถ้าประโยคที่ว่า “เงินที่รู้หรือควรรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หมายถึงว่า “วิธีการที่พรรคได้เงินมา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ถ้าแบบนี้ก็อาจจะตีความได้ว่า พรรคอนาคตใหม่ได้เงิน 191.2 ล้านบาท มาด้วยวิธีการกู้เงิน ซึ่งการกู้เงินนั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดให้พรรคการเมืองกระทำได้ จึงเข้าข่ายเป็นการ “ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” หมายถึง “วิธีการได้มา” ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

และ กกต.อาจจะมองว่า สาเหตุที่ต้องทำเป็นสัญญาเงินกู้ เพราะถ้าจะบริจาค ก็จะติดเพดานมาตรา 66 คือบริจาคได้คนละ 10 ล้านบาทต่อปี จึงต้องทำ “นิติกรรมอำพราง” เป็นเงินกู้แทน ทั้งที่จริงๆ ก็คือจะบริจาคหรือเอาเงินให้กับพรรคนั่นแหละ

นี่คือเงื่อนแง่ทางกฎหมายที่พรรคอนาคตใหม่ และ กกต. ต้องไปสู้กันต่อในศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลอาจจะเปิดให้ส่งพยานหลักฐานเพิ่ม หรืออาจเปิดไต่สวนด้วยวาจา ก่อนจะวินิจฉัยในขั้นตอนสุดท้าย (อ้างอิงจาก เรื่องผ่ามาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมือง เจตนารมณ์ที่ซ่อนอยู่ กับข้อต่อสู้ของ อนค. /13 ธ.ค.62 / โดย ปกรณ์ พึ่งเนตร)

แน่นอน, ดูจากสาระสำคัญมาตรา 72 พ.ร.ป.พรรคการเมืองแล้ว การจะตัดสิน “ยุบส้มหวาน” หรือไม่ อยู่ที่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ และถึงตอนนี้ยังถือว่าออกได้ทั้งสองหน้า

ที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นแล้วว่า การจะยุบพรรคการเมืองพรรคใด ด้วยคดีใด ก็มิใช่สักแต่ว่าต้องการยุบก็ยุบ โดยไม่สนใจพยานหลักฐานแต่อย่างใด

อย่าง คำวินิจฉัย คดีล้มล้างการปกครองฯ เห็นชัดเจนว่า ถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ ก็ไม่ได้เอนเอียงไปกับกระแสความต้องการของใคร หรือฝ่ายใด อย่างที่ใครบางคนหรือบางพรรคชอบโจมตีและดิสเครดิตจนแทบไม่มีดี...

ส่วนคดีเงินกู้ 191.2 ล้านบาท ถ้าเกิดยุบพรรคอนาคตใหม่ขึ้นมา ก็ไม่รู้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะโดนหนักแค่ไหนเช่นกัน ได้แต่หวังว่าจะยอมรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเหมือนอย่างคดีนี้ ที่ได้ประโยชน์จากคำตัดสิน!?


กำลังโหลดความคิดเห็น