ข่าวปนคน คนปนข่าว
**จบเห่? โครงการทางเดินเลียบเจ้าพระยา บทเรียนกทม. หลังศาลปกครอง สั่งเบรกการสร้าง ชี้เข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใครต้องรับผิดชอบ?
คนกรุงเทพฯและคนรักแม่น้ำเจ้าพระยาร้อง เฮ!! ดังๆ เมื่อศาลปกครองกลางมีคำสั่งกำหนดมาตรการเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยสั่งห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เฉพาะในส่วนของแผนงานที่ 1 คือ ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลฯ จะมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น
โดยศาลฯเห็นว่า การก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เป็น 1 ในจำนวน 12 แผนงาน ในโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแผนงานดังกล่าว จะมีการก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา กว้างประมาณ 6 - 10 เมตร ยาวตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ระยะทางประมาณ 57 กิโลเมตร ล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อใช้เป็นทางสัญจรรองรับการเดินทางด้วยจักรยาน ชมทัศนียภาพ พักผ่อนหย่อนใจ และออกกำลังกาย น่าจะไม่ใช่อาคาร หรือสิ่งล่วงล้ำลำแม่น้ำเจ้าพระยาที่เจ้าท่า จะพึงอนุญาตได้ตาม มาตรา 117 วรรคสอง ของพ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2556 ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 63 (พ.ศ. 2537) และการก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา มีผลกระทบต่อการเดินเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา และมิใช่การสร้างสิ่งล่วงล้ำเข้าไปในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อการคมนาคมและการขนส่งทางน้ำ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยการผังเมือง
แต่ทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าลักษณะสิ่งก่อสร้างที่เป็นอาคารตาม มาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งในการดำเนินโครงการดังกล่าว ไม่ปรากฏว่ากรุงเทพมหานครได้มีการแจ้งและส่งแผนผังบริเวณ แบบแปลนฯ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นก่อนทำการก่อสร้างตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2528 ) กรณีจึงมีมูลว่า "การก่อสร้างทางเดินเลียบ แม่น้ำเจ้าพระยาตามโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาน่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย"
และเมื่อปรากฏว่ากรุงเทพมหานคร ได้ดำเนินการเตรียมการที่จะดำเนินการก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นลำดับ กรณีจึงถือได้ว่า กรุงเทพมหานคร ตั้งใจที่จะกระทำต่อไป ซึ่งการละเมิดหรือการกระทำที่ถูกฟ้องร้อง และการห้ามมิให้กรุงเทพมหานคร ดำเนินการก่อสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยามิได้มีผลกระทบต่อการจัดทำบริการสาธารณะของกรุงเทพมหานคร จึงมีคำสั่งห้ามดังกล่าว
คดีนี้ เครือข่ายวางแผน และผังเมืองเพื่อสังคมกับพวกรวม 12 ราย ยื่นฟ้อง คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 ขอให้ศาลเพิกถอนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และสั่งกรุงเทพมหานคร ยกเลิกการดำเนินโครงการดังกล่าวทั้งหมด และระหว่างศาลพิจารณาคดี ขอให้มีคำสั่งห้ามกรุงเทพมหานคร ดำเนินโครงการ ซึ่งศาลฯ ได้มีการเรียกคู่กรณีไต่สวนไปเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา ก่อนจะมีคำสั่ง
เรื่องทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยานี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์มานาน และได้รับการคัดค้านจากบรรดาผู้รักแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะเกรงจะทำให้ทัศนียภาพสิ่งก่อสร้างริมน้ำ หรือภูมิทัศน์ วัฒนธรรมทั้งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเสียไป แต่ กทม.ก็ดึงดันที่จะเดินหน้าโครงการที่มีมูลค่ากว่า 8,200 ล้านมาตลอด
จากนี้ไปคงต้องถามดังๆ ไปถึง ผู้ว่าฯ อัศวิน ขวัญเมือง ว่าจะเอายังไงต่อ หรือมีใครต้องรับผิดชอบอะไรบ้างมั้ย ?
** ยุบ-ไม่ยุบ พรรคอนาคตใหม่ 21 ก.พ.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ชี้ชะตา
ใครที่เล่นพนันกันว่า "ศึกถลกหนังลุงตู่" กับ "เกมเชือดอนาคตใหม่" รายการไหนจะมาก่อนกัน... ตอนนี้ก็เช็กบิลกันได้แล้ว!!
ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดออกมาแล้วว่าจะนัดอ่านคำวินิจฉัย "คดีเงินกู้" พรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 21 ก.พ.นี้ ...ขณะที่ "วิป3ฝ่าย" คือวิปรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และตัวแทนจากครม. หารือได้ข้อยุติแล้วว่าจะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล วันที่ 24-26 ก.พ. และลงมติวันที่ 27 ก.พ.นี้
กรณีของพรรคอนาคตใหม่นั้น กกต. ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เพื่อมีคำสั่ง "ยุบพรรคอนาคตใหม่" จากกรณีกู้ยืมเงิน "นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" หัวหน้าพรรค จำนวน 191 ล้านบาท ...เข้าข่ายกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองหรือไม่...
ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเมื่อวานนี้ (5ก.พ.) มีการอภิปราย เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยคดีนี้ เห็นว่าตามสำนวนคำร้องของกกต. และคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพรรคอนาคตใหม่ เพียงพอแก่การวินิจฉัยได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องทำการไต่สวนพยานบุคคลเพิ่มเติมอีก 17 ปาก ตามที่พรรคอนาคตใหม่ร้องขอมา ... แต่เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณา และประโยชน์ของพรรคอนาคตใหม่ ศาลฯจึงเปิดโอกาสให้พยานบุคคลดังกล่าว จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริง หรือความเห็น "เป็นลายลักษณ์อักษร" มายื่นต่อศาลฯ ภายในวันที่ 12 ก.พ.นี้ และยังเปิดโอกาสให้ เลขาธิการกกต. ในฐานะผู้เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นเป็นหนังสือ เอกสาร ส่งต่อศาลฯ ภายในวันที่ 12 ก.พ. เช่นกัน
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินชี้ขาดในวันที่ 21 ก.พ. ว่า "ยุบหรือไม่ยุบ" พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งคีย์ของเรื่องนี้จะอยู่ที่ว่า พรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ หรือไม่ได้ ... ถ้าได้ก็มีโอกาสรอด แต่ถ้าไม่ได้โอกาสที่จะถูกยุบพรรคก็มีสูง!!
และถ้า"ยุบพรรค" ผลที่ตามมาคือ คณะกรรมการบริหารพรรค ต้องสิ้นสภาพ ส.ส. และถูกตัดสิทธิทางการเมือง ห้ามตั้งพรรคใหม่ภายใน 10 ปี แล้วยังอาจถูกจำคุกด้วย (โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี) ส่วนส.ส.ลูกพรรค ต้องหาพรรคใหม่สังกัดให้ได้ภายใน 60 วัน นับจากวันที่ศาลสั่งยุบพรรค มิฉะนั้นจะสิ้นสภาพส.ส.ไปด้วย ...สำหรับสมาชิกพรรคโดยเฉพาะกลุ่มที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ก็คงต้องมาเริ่มตั้งหลัก นับหนึ่งกันใหม่...
กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ปัจจุบันมี 14 คน คือ 1.นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ซึ่งถูกคำสั่งศาลรธน.ให้ต้องพ้นสภาพความเป็นส.ส.ไปแล้ว 2. นายปิยบุตร แสงกนกกุล 3. น.ส.กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ 4. นายชำนาญ จันทร์เรือง 5. พล.ท.พงศกร รอดชมภู 6. น.ส.พรรณิการ์ วานิช 7. นายไกลก้อง ไวทยการ 8. นางเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ 9. นายสุรชัย ศรีสารคาม 10. นายเจนวิทย์ ไกรสิงห์ 11. น.ส.จารุวรรณ ศรัณย์เกตุ ทั้งหมดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
ส่วนอีก 4 ราย ที่ประกอบด้วย 1. นายชัน ภักดีศรี 2. นายสุนทร บุญยอด 3. นายรณวิต หล่อเลิศสุนทร และ 4. นายนิติพัฒน์ แต้มไพโรจน์ ไม่ได้เป็น ส.ส.ของพรรค
ดังนั้น ถ้ามีการยุบพรรคจริง ส.ส.บัญชีรายชื่อก็จะหายไป 10 คน เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรค ...ถ้าอนาคตใหม่ได้เตรียมพรรคสำรอง ไว้รองรับส.ส.แล้ว และคิดว่าส.ส.ส่วนใหญ่ จะไปเข้าสังกัดพรรคที่เตรียมไว้ ...หากต้องการจะให้จำนวนส.ส.ได้ไปสังกัดพรรคใหม่ให้มากที่สุด กรรมการบริหารพรรคชุดนี้ก็ต้องลาออก ก่อนที่จะถึงวันที่ 21 ก.พ. เพื่อจะได้เลื่อนผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อที่รอคิว อยู่ขึ้นมาเป็นส.ส.แทน...
แต่กรรมการบริหารพรรคที่เป็นส.ส.อยู่ จะลาออกหรือไม่ เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยากพอสมควร...เพราะถ้าลาออกแล้ว เกิดศาลฯไม่ได้สั่งให้ยุบพรรค ก็จะเป็นการลาออกที่ "เสียของ"ไป...นั่นเป็นปัญหาภายในพรรคอนาคตใหม่ที่ต้องไปขบคิด
สำหรับภาพการเมืองโดยรวม หากมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก่อนที่จะมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล..."ลุงตู่" ก็อาจจะโล่งอกไปได้ระดับหนึ่ง เพราะเชื่อว่าสภาพภายในพรรคต้องรวนแน่ ...เนื่องจากส.ส.ที่จะย้ายไปเข้าสังกัดพรรคร่วมรัฐบาล ก็ต้องลุกขึ้นอภิปรายในเชิงสรรเสริญ เยินยอฝ่ายรัฐบาล
ขณะที่ส.ส.ที่ยังคงยึดมั่นกับแนวทางเดิมที่จะเป็นฝ่ายค้าน อาจจะเจ็บแค้น อภิปรายอย่างดุเดือด...หรืออาจจะหมดอารมณ์อภิปราย เพราะระดับแกนนำหลักๆ หมดสิทธิเข้าสภาฯไปแล้ว คำว่า เผด็จการ ...ฉีกรัฐธรรมนูญ...สืบทอดอำนาจ...เถื่อน...กร่าง...ซึ่งเป็นคำที่"ลุงตู่"แสลงหู อาจลดน้อยลงก็ได้...ที่สำคัญคือ ไม่ต้องมาลุ้นเสียงโหวต ว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน
ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นการคาดการณ์...ส่วนความเป็นจริงจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ต้องรอวันที่ 21 ก.พ.นี้