“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”
คดีอิลลูมินาติ นั้น ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยคดีว่า ไม่พบข้อเท็จจริงเพียงพอตามที่ผู้ร้องร้องว่า การกระทำของพรรคอนาคตใหม่ นายธนาธร นายปิยบุตร รวมทั้งกรรมการบริหารพรรค เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง แต่หากถ้าภายหลังพบว่ามีข้อบังคับข้อใด เกี่ยวข้องกับการล้มล้างการปกครองฯ ก็ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)วินิจฉัยได้ทันที
พูดง่ายๆ ศาลชี้ว่าคดีนี้ไม่มีมูล พรรคอนาคตใหม่จึงรอดถูกยุบพรรคในดาบแรกไปได้แบบไม่เกินความคาดหมาย
ก่อนจะไปดูดาบสองที่รอเชือดพรรคอนาคตใหม่ในคดีหัวหน้าพรรคให้พรรคกู้เงินตัวเองนั้น เราต้องย้อนไปพูดถึงกรณี นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะรองประธานกรรมาธิการวิสามัญศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ โพสต์แฟนเพจเฟซบุ๊ก สมชัย ศรีสุทธิยากร เกี่ยวกับการกู้เงินของพรรคการเมือง โดยเนื้อหาระบุว่า...
พรรคการเมืองกู้เงินไม่ได้จริงหรือ (ตอนที่ 2) ผมค้างไว้เมื่อวานว่า หากจะยึด พ.ร.ป.พรรคการเมืองใหม่ แล้วบอกว่าพรรคการเมืองไม่สามารถกู้ยืมเงินเพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมทางการเมืองได้ตามตรรกะการลงมติของ กกต.ชุดปัจจุบัน พรรคไหนกู้ ถือว่าผิด กม.ต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค ต้องตัดสิทธิการเมือง ต้องโทษอาญาจำคุก จะกู้ 1,000 บาท 1 ล้าน หรือ กู้ 100 ล้าน แปลว่า กู้เหมือนกัน เหมือนลอกข้อสอบจะข้อเดียวหรือสิบข้อ จับได้ก็ต้องปรับตกไม่มีข้อยกเว้น
ถามว่า นอกจากพรรคอนาคตใหม่ยังมีพรรคการเมืองอื่นกู้ยืมเงินอีกหรือไม่ จากเอกสารงบการเงิน ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 ที่พรรคการเมืองทุกพรรคนำส่ง กกต. ภายในเดือน พฤษภาคม 2562 มีพรรคการเมืองถึง18 พรรค (รวม อนาคตใหม่) ที่ปรากฏรายการเงินกู้ในเอกสารงบการเงินดังกล่าว
1. พรรคพลังศรัทธา มีรายการเงินกู้ระยะสั้น 300,000 บาท
2. พรรคพลังชาติไทย เงินกู้ระยะสั้น 113,988 บาท
3. พรรคไทยธรรม เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 1,000 บาท
4. พรรครวมพลังประชาชาติไทย เงินกู้จากบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้องกัน 5,000,000 บาท
5. พรรครวมใจไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 45,697.86 บาท
6. พรรคอนาคตใหม่ เงินกู้จากหัวหน้าพรรค 161,200,000 บาท
7. พรรคเพื่อสหกรณ์ไทย เงินกู้ยืมระยะสั้น 226,000 บาท
8. พรรคพลังไทยรักชาติ เงินกู้ยืมหัวหน้าพรรค 85,000 บาท
9. พรรคเมืองไทยของเรา เงินกู้ยืมระยะสั้น 542,750 บาท
10. พรรคเพื่อชีวิตใหม่ เงินกู้ยืมระยะยาว 50,000 บาท
11. พรรคเงินเดือนประชาชน เงินกู้ยืมจากกรรมการ 822,183.70 บาท
12. พรรคไทรักธรรม เงินกู้ยืม กรรมการบริหารพรรค 4,376,000 บาท
13. พรรคพลังประชาธิปไตย เงินยืมจากหัวหน้าพรรค 5,584,290 บาท
14. พรรคครูไทยเพื่อประชาชน เงินกู้ยืม 542,125 บาท
15. พรรคพลังท้องถิ่นไท เงินกู้ยืมระยะสั้น 1,427,000 บาท
16. พรรคไทยรักษาชาติ เงินยืมจากหัวหน้าพรรค คณะกรรมการบริหารพรรค 1,738,868.92 บาท
17. พรรคประชาธิปไตยใหม่ เงินกู้ยืมระยะสั้น 4,216,600 บาท
18. พรรคชาติพัฒนา เงินกู้ยืม 2,000,000 บาท
ทั้งหมดนี้ ถือเป็น “ความปรากฏ” ที่นายทะเบียนต้องรับรู้ และหากพบว่าเป็นความผิดต้องชงเรื่องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อมีมติดำเนินการ
คือนายสมชัยมองว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ผิด กกต.ต้องเอาผิดอีก 18 พรรคด้วย
ต่อมาสำนักงาน กกต. ออกเอกสารข่าวแจงการตรวจสอบรายได้ของพรรคการเมือง หลังมี อดีต กกต.เปิดเผยรายงานงบประมาณของพรรคการเมือง 18 พรรคการเมือง ที่ระบุมีการยืมเงินนั้นว่า พรรคการเมือง ที่มีรายการกู้ยืมเงินในเอกสารที่ยื่นแจ้งต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยชี้แจงว่า กรณีที่มีเรื่องร้องเรียนมายัง กกต.ตามกฎหมายเลือกตั้งและพรรคการเมือง เช่น คำร้องเงินกู้พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมจากหัวหน้าพรรคนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มีผู้ยื่นเมื่อ 16 พฤษภาคม 2562 กกต.ได้ดำเนินการทั้งทางอาญา ที่ยังอยู่ระหว่างการวินิจฉัยเพื่อรอชี้ขาด
ส่วนคดียุบพรรคการเมือง กกต.มีมติให้นายทะเบียนพรรคการเมืองพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งปรากฏพรรคอนาคตใหม่กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง จึงเป็นเหตุให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคอนาคตใหม่
แต่กรณีที่ไม่มีการร้องเรียน เป็นกรณีการตรวจสอบรายได้ของพรรคการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมืองปี 2560 ซึ่งกำหนดให้ทุกพรรคการเมือง ต้องจัดทำงบประมาณประจำปีของพรรค ส่งให้นายทะเบียนพรรคการเมือง ในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด คือ ภายในเดือนพฤษภาคม ของปีถัดไป เพื่อประกาศให้ประชาชนรับทราบ
และการตรวจสอบรายได้ของพรรคการเมือง จากงบการเงินประจำปี นายทะเบียนพรรคการเมือง จะดำเนินการตรวจสอบได้เมื่อพรรคการเมือง จัดส่งงบการเงินในแต่ละปี ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองแล้ว โดยเป็นงบการเงิน ตั้งแต่ปี 2557-2561 รวมแล้ว 384 เล่ม รายงานประกาศให้ประชาชนทราบ
โดยขณะนี้อยู่ระหว่างที่นายทะเบียนตรวจสอบ และหากตรวจสอบแล้วพบว่า พรรคการเมืองกระทำการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมือง จะแจ้งให้พรรคการเมืองทราบเพื่อมาชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงพยานหลักฐานในเวลาที่กำหนด
ผมคิดว่า จริงๆ แล้ว กกต.มีเหตุผลที่จะอธิบายนายสมชัยได้ชัดเจนกว่านี้ เพราะจริงๆ แล้วพรรคการเมืองสามารถกู้เงินได้ แต่ถือว่า การกู้เงินของพรรคการเมืองนั้นถือเป็น “ประโยชน์อื่นใด”
ถ้าเราไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ได้ระบุถึงที่มาของรายได้ไว้ใน มาตรา 62 พรรคการเมืองอาจมีรายได้ ดังต่อไปนี้ (7) ดอกผลและรายได้ที่เกิดจากเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดของพรรคการเมือง
นั่นหมายความว่า พรรคการเมืองสามารถกู้ยืมได้ตามนิยามของ คำว่า “ประโยชน์อื่นใด” อธิบายไว้ในมาตรา 4 ว่า “ประโยชน์อื่นใด” หมายความรวมถึง การให้ใช้ทรัพย์สิน การให้บริการ หรือการให้ส่วนลดโดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนที่ไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า และการทําให้หนี้ที่พรรคการเมืองเป็นลูกหนี้ลดลงหรือระงับสิ้นไปด้วย
และผมทราบว่า การร้องศาลรัฐธรรมนูญของกกต.นั้นก็ตีความว่า เงินกู้เป็นประโยชน์อื่นใด ไม่ใช่บอกว่าเงินกู้เป็นเงินบริจาคดังที่หลายคนมโนไปแล้วเอาไปเขียนล้อเลียนว่า ต่อไปกู้เงินใครไม่ต้องจ่ายแล้ว เพราะถือว่า เป็นเงินบริจาค
แต่แม้จะเข้าข่ายว่าเป็น “ประโยชน์อื่นใด”สามารถกู้ยืมเงินได้ แต่ก็จะไปติดกับดักในมาตรา 66 ว่า บุคคลใดจะบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองมีมูลค่าเกินสิบล้านบาทต่อพรรคการเมืองต่อปีมิได้ และในกรณีที่บุคคลนั้นเป็นนิติบุคคล การบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองไม่ว่าพรรคเดียวหรือหลายพรรคเกินปีละห้าล้านบาทต้องแจ้งให้ที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นทราบในการประชุมใหญ่คราวต่อไปหลังจากบริจาคแล้ว
พรรคการเมืองจะรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดซึ่งมีมูลค่าเกินวรรคหนึ่งมิได้
ดังนั้นการที่พรรคอนาคตใหม่กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้า พรรคอนาคตใหม่ เป็นเงินจำนวน 191.2 ล้านบาท ทาง กกต.จึงมองว่า เป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 จึงมีมติด้วยคะแนนเสียงข้างมาก ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ตาม มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560
โดย พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ มาตรา 72 ห้ามมิให้พรรคการเมืองและผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงินทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ความหมายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็คือ ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองพ.ศ.2560 เพราะมีวงเงินเกิน 10 ล้าน ตามมาตรา 66 นั่นเอง
ทีนี้มาดูว่า พรรคการเมืองที่นายสมชัยอ้างว่ากู้ยืมเงินเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ และการกู้ยืมเงินสามารถทำได้แต่ถือเป็น “ประโยชน์อื่นใด” แล้วมีความผิดเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่หรือไม่นั้น คำตอบคือ ไม่มีพรรคการเมืองไหนทั้ง 18 พรรค กู้ยืมเกินวงเงินที่กฎหมายห้ามเลย ดังนั้นจึงไม่มีพรรคการเมืองไหนที่มีความผิดเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่
ผมเข้าใจว่า นายสมชัยเอาเรื่อง 18 พรรคมาโยงเพื่อจะชี้ให้เงินว่า ถ้าพรรคอนาคตใหม่ผิดพรรคการเมืองอื่นก็ผิด เพราะเชื่อเช่นกันว่าการกู้เงินสามารถทำได้ แต่นายสมชัยเคยเป็นกกต.ย่อมจะต้องรู้ว่ากฎหมายมีเจตนาควบคุมที่มาของเงินและรายจ่ายพรรคการเมือง ดังนั้นจึงไม่ใช่ใครจะเอาเงินมาจากไหนก็ได้เพื่อเอามาใช้จ่ายเกินข้อกำหนดของกฎหมายได้
แล้วถามว่า พรรคอนาคตใหม่ที่รอดจากการถูกยุบพรรคในคดีอิลลูมินาติอันพิลึกพิลั่นแล้วจะรอดจากคดีกู้เงินหรือไม่
ไปดู มาตรา 92 เมื่อคณะกรรมการมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทําการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น วรรคหนึ่ง (3) กระทําการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74
เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดําเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทําการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น
มาตรา 126 ผู้ดํารงตําแหน่งในพรรคการเมืองผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 72 ต้องระวางโทษจําคุก ไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น
ตัวนายธนาธรนั้นมีเงินวงเงินบริจาคให้พรรคเต็มพิกัดอยู่แล้ว เงินที่ให้กู้ซึ่งมาจากบุคคลเดียวกันจึงเป็นวงเงินที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ เงินนี้จึงต้องถูกริบเข้ากองทุนพรรคการเมืองหากศาลชี้ว่ามีความผิด
ดังนั้นแม้จะรอดจากคดีอิลลูมินาติอันพิลึกพิลั่น แต่ผมเชื่อว่าดาบสองคดีกู้เงินนั้นรอดยากครับ
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan