xs
xsm
sm
md
lg

“เสียบบัตรแทน” พฤติกรรมของ ส.ส.ที่กระทบต่อสถาบันการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การเมืองไทยประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง เมื่อปมการยุบพรรคอนาคตใหม่คลายลง ก็มีปมอื่นถูกสร้างขึ้นมา อันเป็นเรื่องเกี่ยวกับความชอบตามรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมที่ขาดความเป็นมืออาชีพของนักการเมืองหน้าใหม่บางคน แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดและการกระทำแบบเก่า

พฤติกรรมนั้นคือการลงมติโดยผู้ลงคะแนนไม่อยู่ในที่ประชุม หรือ เรียกเป็นภาษาการเมืองว่า “เสียบบัตรแทน” ในอดีต ส.ส.บางคนเคยกระทำพฤติกรรมแบบมานี้มาแล้ว และส่งผลให้พระราชบัญญัติที่เกิดจากการลงมติโดยมิชอบต้องตกไป แต่ปรากฎว่า ส.ส.บางคน บางพรรคไม่สรุปบทเรียน และยังคงทำแบบเดิมอีก แต่คราวนี้หนักกว่าเดิม เพราะเป็นร่างพ.ร.บ. งบประมาณแผ่นดิน ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อการบริหารประเทศและเสถียรภาพของรัฐบาล

ผลที่ตามมาคือ ทำให้ฝ่ายรัฐบาลระส่ำระสายนั่งกันไม่ติด หาทางออกกันอย่างเคร่งเครียด และท้ายที่สุดก็ตกลงร่วมกันว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เมื่อเรื่องอยู่ในกระบวนการตีความของศาลแล้ว ผลที่ออกมาก็มีอย่างน้อยสองทาง ทางแรกคือ ร่าง พ.ร.บ.นั้นตกไปเพราะมีกระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การตีความแบบนี้อยู่ภายใต้หลักคิดแบบองค์รวมที่ว่า หากเรื่องใดที่ขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการทั้งหมดไม่ถูกต้องแม้เพียงขั้นตอนเดียว ผลผลิตภาพรวมที่ออกมาจะเสียหายทั้งระบบ และไม่สามารถนำไปใช้ได้อีกต่อไป เช่น การผลิตรถยนต์ หากขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งในการติดตั้งระบบไฟฟ้าของรถยนต์ผิดพลาด เครื่องยนต์ก็ไม่สามารถทำงานได้

ส่วน ทางที่สอง อาจออกมาว่า ร่าง พ.ร.บ. ไม่ตกไป ยังเป็นผลผลิตที่มีความชอบตามรัฐธรรมนูญและนำใช้ได้อยู่ แม้ว่ามีขั้นตอนบางขั้นตอนไม่ถูกต้องก็ตาม การตีความแบบนี้อยู่ภายใต้หลักคิดแบบแยกส่วนที่ว่า แม้มีองค์ประกอบย่อยบางส่วนของระบบเสียหาย หรือไม่ชอบธรรม แต่ความเสียหายนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่กระทบกับองค์รวมของระบบใหญ่ ตัวอย่างเช่น รถยนต์ หากขั้นตอนการผลิตบางขั้นตอน เช่น การติดที่ปัดน้ำฝน ผิดพลาดจนใช้ไม่ได้ รถยนต์ก็สามารถยังใช้ขับขี่ได้ตามปกติ แม้ในยามฝนตกอาจมีปัญหาบ้างก็ตาม

สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรม “ลงคะแนนโดยไม่อยู่ในที่ประชุม” ที่เกิดขึ้นทันทีคือความล่าช้าของการใช้งบประมาณแผ่นดินในการบริหารประเทศ ล่าช้าไปอย่างน้อยหนึ่งเดือน และความไม่แน่นอนว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณจะผ่านหรือไม่ก็ส่งผลต่อตลาดหลักทรัพย์ไทยทันที โดยดัชนีตลาดหลักทรัพย์ตกลงไปสิบกว่าจุดหลังจากมีข่าวนี้ออกมา ปรากฎการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมที่ผิดพลาดของ ส.ส. เพียงไม่กี่คนสร้างผลกระทบทางลบต่อการเมืองและเศรษฐกิจอย่างมหาศาลทีเดียว

นอกจากความเสียหายต่อตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นแล้ว ความเสียหายต่อเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศก็จะปรากฎตามมา เพราะโอกาสที่ระบบเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศจะได้รับทรัพยากรจากงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดโครงการ การจ้างงานและการผลิตในภาคส่วนต่าง ๆ ล่าช้าออกไป เมื่อเงินเข้าระบบเศรษฐกิจช้า จักรกลเศรษฐกิจก็ขับเคลื่อนช้าตามไปด้วย ซึ่งเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่ย่ำแย่อยู่แล้ว ให้แย่หนักขึ้นไปอีก

และหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุดคือ ศาลรัฐธรรมพิจารณาและตัดสินให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณตกไป ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นก็ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แม้ว่ารัฐบาลจะเตรียมแผนรองรับเอาไว้โดยการออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แล้วก็ตาม แต่นั่นก็สามารถเยียวยาความเสียหายทางเศรษฐกิจได้เพียงบางส่วน และไม่สามารถทดแทนโอกาสที่สูญหายไปจากความล่าช้าของการใช้งบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งความเสียหายต่อสถาบันการเมืองที่เกิดขึ้นได้

ทั้งรัฐบาลและรัฐสภาจะเสียหายอย่างใหญ่หลวง สำหรับรัฐบาลเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพอย่างสิ้นเชิงในการบริหารการเมืองของรัฐบาล นั่นคือรัฐบาลไม่สามารถบริหารจัดการเรื่องง่าย ๆ อย่างการลงมติในสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกพรรครัฐบาลให้ลุล่วงไปได้ด้วยดี บ่งบอกว่ารัฐบาลละเลยการดูแลพฤติกรรมที่ไร้ความรับผิดชอบ มักง่าย และขาดสติปัญญาในการวินิจฉัยลำดับความสำคัญของงานของคนไม่กี่คน จนกลายมาเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่นสะเทือนเสถียรภาพของรัฐบาลเอง

ราคาความน่าเชื่อถือและคะแนนนิยมของรัฐบาลก็ดิ่งลงไปอีก และหากรวมเอาความไร้สมรรถนะในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษเข้ามาด้วยแล้ว ภาพความล้มเหลวในการบริหารประเทศและความล้มละลายของความน่าเชื่อถือก็ปรากฎให้เห็นด้วยไม่ต้องบรรยายให้มากความ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังอาจไม่ทราบและไม่สามารถรับรู้ได้ว่า ในสายตาของคนส่วนใหญ่ของประเทศ รัฐบาลของท่านได้กลายเป็นตัวตลกและสัญลักษณ์แห่งความล้มเหลวไปแล้ว

ด้านสภาผู้แทนราษฎร ความเสียหายก็เกิดขึ้นไม่ด้อยไปกว่ากัน พฤติกรรมเสียบบัตรแทนย่อมบ่งบอกถึงความไร้ประสิทธิภาพในการทำงานของสภาผู้แทนราษฎร ที่ไม่สามารถทำให้สมาชิกสภาปฏิบัติตนอย่างมีจริยธรรมและรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้ อีกทั้งขาดประสิทธิภาพในการจัดระบบการลงคะแนนให้รัดกุม และไม่จริงจังเข้มงวด ตรวจตราให้ถี่ถ้วน กลับปล่อยปละละเลย จนเปิดช่องให้สมาชิกทำในสิ่งที่สร้างความเสียหายต่อประเทศได้

หากถามว่าใครบ้างต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นบ้าง ลำดับแรกก็คือ ส.ส.ที่กระทำพฤติกรรมดังกล่าว รับผิดชอบอย่างไร ขั้นต้นคือต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. เพราะละเลยและไม่ให้ความสำคัญต่อพันธกิจที่สำคัญที่สุดของ ส.ส. อันได้แก่การออกกฎหมาย กลับไปให้ความสำคัญกับเรื่องส่วนตัวและหาคะแนนนิยมในพื้นที่แทน ความคิดและการกระทำเช่นนี้ไม่เหมาะกับการเป็น ส.ส.อีกต่อไป

และหากสภาผู้แทนราษฎรยังมี ส.ส.ที่มีความคิดและพฤติกรรมแบบนี้อยู่อีก ในอนาคตก็อาจสร้างความเสียหายมากขึ้นและอาจส่งผลกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยโดยรวมด้วย อย่าลืมว่าในอดีต พฤติกรรมหลายประการของ ส.ส. ถูกอ้างเอาเป็นเหตุในการทำรัฐประหารหลายครั้ง ดังนั้นเพื่อเป็นการตัดไฟแต่ต้นลม ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ไม่ควรเป็น ส.ส. อีกต่อไป

หาก ส.ส. ไม่ลาออกแล้วจะทำอย่างไร กรณีนี้พรรคที่ ส.ส.ผู้นั้นสังกัดต้องรับผิดชอบด้วยการมีมติขับ ส.ส. ออกจากพรรค และพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ไม่ต้องรับ ส.ส.ผู้นี้เข้าสังกัด ซึ่งทำให้สถานะความเป็น ส.ส. ของเขาก็หมดไปตามกฎหมาย นอกจากขับ ส.ส.ที่สร้างความเสียหายออกจากพรรคแล้ว สิ่งที่พึงกระทำต่อไปคือ การขอโทษต่อประชาชน และหาก ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณตกไปหรือเป็นโมฆะ พรรคต้องแสดงความรับผิดชอบมากขึ้น โดยการลาออกจากการเป็นรัฐบาล แต่หากพรรคไม่ลาออกจากรัฐบาล นายกรัฐมนตรีควรทำอย่างไร สิ่งที่สามารถทำได้คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและดึงพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลแทน หรือนายกรัฐมนตรีอาจลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ได้

บทเรียนที่ฝ่ายการเมืองควรสรุป และเรียนรู้จากกรณีนี้มีหลายประการด้วยกัน บทเรียนสำหรับ ส.ส. ก็คือ ส.ส.พึงตระหนักว่า สังคมไทยในยุคปัจจุบันประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง พฤติกรรมเก่า ๆ จำนวนมากหลากหลายพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ไม่รับผิดชอบ ไร้ประสิทธิภาพ และไร้จริยธรรม ที่ท่านทั้งหลายเคยทำและคิดว่าเป็นแนวปฏิบัติปกติของท่าน พึ่งทราบว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับพฤติกรรมแบบนั้นอีกต่อไป และพึงทราบว่า สังคมในศตวรรษที่ ๒๑ เป็นสังคมข้อมูลข่าวสาร ดังนั้นสิ่งที่ท่านกระทำ แม้พยายามปกปิดเพียงใดก็มิอาจเล็ดลอดสายตาของสาธารณะไปได้ ไม่ถูกเปิดออกมาในวันนี้ ก็จะถูกเปิดออกมาในวันหน้าอยู่ดี รวมทั้งพึงตระหนักว่า การเมืองในยุคปัจจุบันมีการแข่งขันกันสูง ซึ่งทำให้คู่แข่งของท่านทั้งหลายจับตามมองและติดตามพฤติกรรมของพวกท่านอย่างใกล้ชิด พลาดขึ้นมาเมื่อไร หายนะก็จะตามมาในไม่ช้า

สำหรับพรรคการเมือง พวกท่านที่เป็นแกนนำพรรคทั้งหลาย แม้ว่าหลายพรรคยังใช้วิธีการเก่า ๆ ในการจัดตั้งพรรคและการหาเสียง จนทำให้ชนะเลือกตั้ง ได้ที่นั่งจำนวนมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่การทำงานทั้งในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติก็ดี มิใช่เรื่องที่จะใช้วิธีคิดหรือแบบแผนการทำงานแบบเดิมได้อีกต่อไป

ดังนั้นสิ่งใดที่กระทำตามสัญชาติญาณดั้งเดิม มองประโยชน์ของตนเองและพรรคเป็นที่ตั้ง บริหารแบบเล่นพรรคเล่นพวก หรือปกป้องพวกพ้องโดยไม่ใส่ใจต่อความรู้สึกของประชาชนและมติมหาชน หรือตัดสินใจทางการเมืองโดยขาดการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของประชาชน ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่สาธารณะไม่ยอมรับทั้งสิ้นและหากยังไม่ปรับตัวและคิดว่าแบบแผนพฤติกรรมและการตัดสินใจแบบเดิมยังใช้ได้ดังอดีต ก็เหมือนกับนกกระจอกเทศที่เอาหัวซุกใต้ผืนทราย โดยไม่เห็นหายนะที่กำลังเกิดขึ้น

สำหรับรัฐบาล บทเรียนที่ชัดเจนคือ ความอ่อนแออันเกิดจากการเป็นรัฐบาลผสมหลายพรรค แต่ละพรรคมีความเป็นอิสระสูงและก็มีอำนาจในการต่อรองมาก และการมีกลไกการประสานงานอ่อนแอ ทำให้ไม่สามารถสร้างความเป็นเอกภาพได้ ความผิดพลาดคลาดเคลื่อนและพฤติกรรมเบี่ยงเบนของสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลก็เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ๆ และในที่สุดก็จะกัดกร่อนและทำลายรัฐบาลให้ล่มสลายได้

สุดท้ายคือสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภา ซึ่งเป็นสถาบันที่มีความสามารถจดจำบทเรียนในอดีตได้ดีนัก เพราะขาดการหยุดกุมแก่นหลักทางความคิดอันเป็นเสาหลักของประชาธิปไตย สิ่งสำคัญอย่างยิ่งของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคือ การมีสถาบันสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาที่เข้มแข็ง ซื่อสัตย์ โปร่งใส มีประสิทธิภาพ มีความรับผิดชอบต่อประชาชน มีคุณธรรม และยึดกุมหลักประชาธิปไตย หากสภาผุ้แทนราษฎรขาดองค์ประกอบเหล่านี้ก็ย่อมนำไปสู่การสูญสิ้นศรัทธา ซึ่งทำให้ผู้คนหมดหวังในระบอบประชาธิปไตย และสร้างเงื่อนไขเปิดทางให้แก่การรัฐประหาร

ดังนั้นประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้าน ประธานกรรมาธิการสามัญ วิปทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนงานของสภาผู้แทนราษฎร จะต้องปรับรื้อวิธีคิดเดิม สร้างกรอบคิด ระบบ แนวทาง และบรรทัดฐานปฏิบัติใหม่ที่สอดคล้องกับบริบทของศตวรรษที่ ๒๑ เพื่อให้การทำงานของสภาผู้แทนราษฎรไทย ข้ามพ้นจากหลุมดำวังวนเดิมที่เป็นปัญหาของประเทศเสียที และเริ่มต้นวางรากฐานที่เข้มแข็งให้แก่ระบอบประชาธิปไตยต่อไป

หลัก ๆ ก็คือ ช่วยกันหยุดการคิดและกระทำพฤติกรรมอันเป็นบ่อนทำลายสถาบันการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และสร้างกรอบคิดและพฤติกรรมใหม่ที่เสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบอบประธิปไตยขึ้นมาแทน


กำลังโหลดความคิดเห็น