“คลองไทย” ถูกปลุกผีขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เมื่อที่ประชุมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยเส้น 9A กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลา ตามข้อเสนอของพล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังชาติไทย
ส.ส.ทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน กลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สนับสนุนให้ตั้งกรรมาธิการศึกษาเรื่องนี้จำนวน 49 คน โดยมีกำหนดพิจารณาเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 120 วัน
โครงการขุดคลองไทยถูกผลักดันมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่มาเข้มข้นเอาจริงเอาจังกันในยุค คสช.มีการปล่อยข่าวปลอมว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจว ศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคลองไทย แต่ถูกคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋ว ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง เป็นเรื่องของนายหน้าหลอกเงินจีน ปล่อยข่าว
ที่ฮือฮากันมาก คือ สามารถทำให้นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ขณะที่ยังดำรงตำแหน่ง องคมนตรี เขียนจดหมายถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี สนับสนุนการสร้างคลองไทย ในขณะที่สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.สายทหาร เตรียมที่จะเสนอพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พิจารณาสร้างคลองไทย พล.อ.ประยุทธ์ เคยให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการสร้างคลองไทยในยุคที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี เป็นอันขาด อย่างไรก็ตาม มักจะรายงานข่าว “ลักไก่” ออกมาเป็นระยะๆ ว่า นายกฯ สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาแล้ว ซึ่งไม่เป็นความจริง
น่าสังเกตว่า โครงการขุดคลองไทยนี้ เคลื่อนไหวผ่านนายทหารนอกราชการที่เกษียณอายุราชการแล้ว อย่างเช่น พล.อ.หาญ ลีลานนท์ อดีตแม่ทัพภาค 4 พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 และพล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิรัฐบุรุษ ซึ่งเป็นนายกสมาคมคลองไทย เพื่อการศึกษาและพัฒนา เป็นต้น
สมาคมคลองไทย เพื่อการศึกษาและพัฒนา เป็นองค์กรเคลื่อนไหวให้ข้อมูลผ่านสื่อมวลชนถึงคุณประโยชน์ของคลองไทย การจัดรับฟังความเห็นของประชาชนในพื้นที่ หลายครั้งในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งทุกครั้งมีข้อสรุปว่า ประชาชนเห็นด้วย
คลองไทย คือ คลองที่เชื่อมมหาสมุทรอินเดียกับอ่าวไทย แนวคลองจะอยู่ตรงไหน ยังไม่มีความชัดเจน ล่าสุดคือ แนว 9 A ตัดผ่าน 5 จังหวัด คือ ตรัง กระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
ประโยชน์ของคลองไทยที่ผู้สนับสนุนยกขึ้นมาอ้าง คือ ช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียไปทะเลจีนใต้ ไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาซึ่งแออัดตัดตรงผ่านคลองไทยได้เลย ซึ่งจะทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเดินเรือในภูมิภาคนี้แทนสิงคโปร์
ระยะเวลาที่จะประหยัดได้ จากข้อมูลของสมาคมคลองไทยฯ เอง บอกว่า 1-2 วัน ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในธุรกิจเดินเรือหัวเราะอยู่ในใจ เพราะถ้าประหยัดเวลาได้แค่ 1-2 วัน จะมีประโยชน์อะไร คลองสุเอซหรือคลองปานามาประหยัดเวลาได้ 1 ใน 3 หรืออย่างน้อย 10 วัน
เรื่องนี้เพียงเรื่องเดียว คลองไทยก็ตกม้าตายแล้ว ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเทคนิคการก่อสร้าง ที่ความต่างของระดับน้ำที่ฝั่งมหาสมุทรอินเดียกับระดับน้ำในคลองไทยที่ต่างกันมาก เรือขนาดใหญ่ออกจากคลองแล้ว จะลงไปในมหาสมุทรอย่างไร จะวิ่งลงไปแบบสไลเดอร์ได้หรือไม่ แนวคลองที่ตัดผ่านป่าชายเลน ชุมชนชายฝั่งซึ่งจะทำลายระบบนิเวศวิทยา และวิถีชีวิตของชุมชน งบประมาณก่อสร้างจะมาจากไหน ฯลฯ
เรื่องการขุดคลองไทยนี้ เป็นความต้องการของทุนจีน ซึ่งยังไม่เปิดเผยตัว วัตถุประสงค์ก็ชัดๆ ง่ายๆ เป็นเรื่องของธุรกิจล้วนๆ คือ มีรายได้หลักจากการขุดคลอง ประชาชนในพื้นที่ที่แนวคลองผ่าน เคยเล่าให้สื่อบางสำนักฟังว่า มีคนจีนมาสำรวจพื้นที่ พูดคุยด้วยว่า คลองไทยจะทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น
เมื่อปี 2556 สภาผู้แทนราษฎร นิการากัวลงมติให้สัมปทาน บริษัท ฮ่องกง เพื่อการลงทุนพัฒนาคลองนิการากัว (เอชเคเอ็นดี) ของนายหวัง จิ้ง มหาเศรษฐีจีน ขุดคลองผ่านตอนใต้ของนิการากัว เชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกเข้ากับทะเลแคริบเบียน โดยมีอายุสัมปทาน 50 ปี
จนถึงบัดนี้ โครงการคลองนิการากัวยังไม่ได้มีการดำเนินการอะไรเลย แต่มีข่าวว่า อาจจะมีการต่ออายุสัมปทานอีก 50 ปี
ยุทธศาสตร์ของจีนในยุคสี จิ้นเผิง เป็นผู้นำ คือ การส่งออกทุนจีนผ่านโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในนาม หนึ่งแถบหนึ่งสะพาน โดยบริษัทจีนเป็นผู้ก่อสร้าง ใช้วัสดุแรงงานจากจีน ใช้เงินกู้จีน หลายๆ โครงการเมื่อก่อสร้างเสร็จแล้วขาดทุน ไม่มีการใช้ประโยชน์ เพราะการลงทุนไม่ได้เกิดจากการศึกษาความเป็นไปได้จริงๆ เมื่อขาดทุนชำระหนี้ที่กู้จากจีนไม่ได้ ก็จะถูกยึดโครงการ
โครงการท่าเรือน้ำลึกศรีลังกาเป็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นแล้ว โครงการรถไฟจีน-ลาวกำลังจะเป็นรายต่อไป รัฐบาล คสช.รู้ทันเรื่องนี้ จึงดึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนมาลงทุนเองทั้งหมด
โครงการคลองไทยถูกนำเสนอจากจีนมาก่อนที่สี จิ้นผิง จะมีอำนาจ ก่อนที่จะมีโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง คือ มีการผลักดันผ่านวุฒิสมาชิกเมื่อประมาณปี 2547 แต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้า เพราะไม่มีความชัดเจนว่า เมื่อขุดคลองแล้วไทยจะได้ประโยชน์อะไร มีแต่การบรรยายสรรพคุณว่า จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการเดินเรือ ประชาชนสองฝั่งคลองจะพ้นจากความยากจน
เมื่อสี จิ้นผิง ประกาศโครงการ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง โครงการคลองไทยก็ถูกโมเมเอาไปพ่วงกับหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางด้วย เพื่อให้ดูขลัง แต่ความจริงแล้วไม่เกี่ยวกันเลย
ก็หวังว่า การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ซึ่งทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล สร้างมิติใหม่ เห็นด้วยกัน จะเป็นเพียงผลการศึกษา คงไม่ถึงกับลงมติให้สร้าง ให้ขุดแบบสภานิการากัว เมื่อ 7 ปีก่อนนะ เพราะเห็นอยู่ว่า ขุดคลองไทยแล้วใครจะได้ประโยชน์