xs
xsm
sm
md
lg

จีน-พม่าเซ็นข้อตกลงชุดใหญ่ครอบคลุมรอบด้านรวม 33 ฉบับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอพี - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน สิ้นสุดการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการเป็นเวลา 2 วัน ในวันเสาร์ (18) หลังเข้าร่วมการลงนามข้อตกลงหลายสิบฉบับ ที่สนับสนุนความสัมพันธ์ทวิภาคีและสร้างความคืบหน้าให้แก่ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ซึ่งพม่าเป็นผู้เล่นสำคัญในโครงการนี้

ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนบันทึกความเข้าใจ จดหมาย และร่างพิธีสาร ครอบคลุม 33 โครงการในภาคส่วนต่างๆ ทั้งข้อมูลข่าวสาร อุตสาหกรรม การเกษตร ความมั่นคง และการโยกย้ายถิ่นฐานของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐกะฉิ่น ที่มีพรมแดนติดกับจีน

ข้อตกลงเหล่านี้ลงนามกันภายหลังการประชุมช่วงเช้าระหว่างผู้นำจีนและนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ โดยข้อตกลงสำคัญที่สุดนั้นดูเหมือนจะเป็นข้อตกลงสัมปทานและผู้ถือหุ้นสำหรับเขตเศรษฐกิจพิเศษจอก์พยู ในอ่าวเบงกอล พร้อมด้วยท่าเรือน้ำลึก ที่เป็นสถานีปลายทางของโครงการระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า ที่มีความยาว 1,700 กิโลเมตร จุดเชื่อมต่อสำคัญในความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของปักกิ่งที่ปลายทางอีกฝั่งอยู่ในมณฑลหยุนหนานของจีน

ส่วนข้อตกลงอื่นๆ ครอบคลุมโครงการแยกกันไปซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับแผนระเบียงเศรษฐกิจ ที่รวมทั้งท่อส่งน้ำมันและก๊าซ และโครงการถนนและรางจากภาคใต้ของจีนผ่านส่วนต่างๆ ของพม่าไปยังจอก์พยู

ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายทางรถไฟ ทางหลวง ท่าเรือ และโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมต่อจีนกับจุดต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา

ระเบียงพม่าช่วยทำให้จีนมีทางลัดเข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย เป้าหมายใหญ่ของผู้วางแผนยุทธศาสตร์จีน ที่ทางออกสู่มหาสมุทรอินเดียนั้นทำให้การนำเข้าน้ำมันและก๊าซจำนวนมากจากอ่าวเปอร์เซียไม่ต้องตัดผ่านช่องแคบมะละกา และยังสามารถใช้งานในเป้าประสงค์ทางทหารได้ในอนาคต

แม้การเยือนของสีจะเกิดขึ้นภายในนามของการฉลองครบรอบ 70 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนและพม่า แต่การเยือนครั้งนี้ยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในสิ่งที่จีนใช้ความแข็งแกร่งทางการทูตและเศรษฐกิจขยายอิทธิพลของตนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ความสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นไปตามรูปแบบที่จัดตั้งขึ้นกับพม่าก่อนหน้านี้ ในยุครัฐบาลเผด็จการทหาร ที่ถูกโดดเดี่ยวและลงโทษจากหลายชาติในฝั่งตะวันตกเพราะการปราบปรามประชาธิปไตยและประวัติด้านสิทธิมนุษยชนที่ไม่ดีนัก ซึ่งปักกิ่งมอบทางเลือกให้แก่พม่าในฐานะนักลงทุน คู่ค้า และผู้จัดหาอาวุธ

รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรีของซูจี ที่เข้าสู่อำนาจในปี 2559 แต่เดิมนั้นได้รับเสียงชื่นชมยกย่องจากการปฏิรูปประชาธิปไตยและเศรษฐกิจ แต่เวลานี้กลับกลายเป็นเสียงตำหนิประณามในเรื่องสิทธิมนุษยชน

รัฐบาลของซูจีอยู่ในจุดที่คล้ายกับรัฐบาลทหารก่อนหน้า ด้วยเผชิญกับความเป็นไปได้ที่จะถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากตะวันตก อันเนื่องจากการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างรุนแรงโดยกองกำลังความมั่นคงของประเทศที่ขับไล่สมาชิกของชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ที่ต้องหลบหนีข้ามแดนไปอาศัยอยู่ในบังกลาเทศเพื่อความปลอดภัย

เมื่อเดือนที่ผ่านมา พม่าต้องขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮกจากคดีที่ถูกฟ้องเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

จีนปกป้องรัฐบาลของซูจีในเวทีต่างๆ เช่น สหประชาชาติ และพม่าได้ตอบแทนกลับด้วยการสนับสนุนจุดยืนของปักกิ่งในประเด็น เช่น การอ้างกรรมสิทธิ์ของจีนเหนือดินแดนในทะเลจีนใต้

การสนับสนุนของจีนนั้นมากกว่าคำพูด ด้วยนับตั้งแต่มีฐานะเป็นนักลงทุนและคู่ค้ารายใหญ่ของพม่า จีนได้มอบตาข่ายความปลอดภัยให้พม่าหากชาติตะวันตกกำหนดมาตรการลงโทษ แต่ชาวพม่าจำนวนมากยังคงกังขาถึงเจตนาของเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่จากทางเหนือรายนี้ และซูจีและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของเธออาจเผชิญต่อข้อกล่าวหาว่าขายชาติ ขณะที่ประเทศกำลังจะจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปลายปีนี้.




กำลังโหลดความคิดเห็น