xs
xsm
sm
md
lg

‘ซูจี’ บินเยี่ยมรัฐกะฉิ่นก่อนผู้นำจีนเยือนพม่า คาดหารือโครงการท่าเรือ-เขื่อนยักษ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอเอฟพี - อองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า เดินทางไปยังพื้นที่ที่มีพรมแดนติดกับจีนไม่กี่วันก่อนที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเยือนประเทศ และคาดว่าจะผลักดันโครงการท่าเรือและเขื่อนในพม่า

ซูจีอยู่ในชุดพื้นเมืองของกลุ่มชาติพันธุ์ได้ร่วมเต้นรำกับขบวนแห่บนท้องถนนในวันนี้ (10) ที่เมืองมิตจีนา เมืองเอกของรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือของประเทศ ซูจีได้เรียกร้องต่อฝูงชนหลายพันคนให้มุ่งมองที่ปัจจุบัน และเรียกร้องสันติภาพความสงบสุขในพื้นที่ห่างไกลนี้ ที่ผู้ก่อความไม่สงบยังคงปะทะกับกองทัพเพื่อเรียกร้องการปกครองตนเองและทรัพยากร

แต่ซูจีไม่ได้กล่าวถึงเขื่อนมิตโสนที่จีนให้การสนับสนุน โครงการมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ที่ระงับการดำเนินการไปในปี 2554 หลังเผชิญต่ิการคัดค้านอย่างกว้างขวาง ซึ่งข้อเสนอให้ฟื้นโครงการเขื่อนทำให้ประชาชนหลายพันคนรวมตัวชุมนุมประท้วงเมื่อปีก่อน

พม่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญในโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน วิสัยทัศน์มูลค่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ของสี จิ้นผิง ที่เกี่ยวข้องกับโครงการทางน้ำ ทางรถไฟ และถนนทั่วภูมิภาคเอเชีย แอฟริกา และยุโรป

ระหว่างการเยือนพม่า 2 วัน ที่จะเริ่มในวันที่ 17 ม.ค. ประธานาธิบดีสี และผู้นำทางการเมืองและทหารของพม่า คาดว่าจะหารือถึงโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ตามการเปิดเผยของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงการต่างประเทศของจีน ส่วนประเด็นเรื่องเขื่อนในรัฐกะฉิ่น รัฐมนตรีช่วยระบุว่า ทั้งสองฝ่ายยังคงสื่อสารกันอย่างใกล้ชิดในเรื่องนี้

ซูจีเคยเป็นฝ่ายคัดค้านโครงการก่อนพรรคการเมืองของเธอชนะการเลือกตั้งในปี 2558 แต่ในเดือน มี.ค.2562 ซูจีได้เรียกร้องให้ประชาชนพิจารณาเรื่องนี้จากมุมมองที่กว้างขึ้น

การประเมินด้านสิ่งแวดล้อมเมื่อ 5 ปีก่อน ให้คำแนะนำคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนโดยระบุว่า เขื่อนอาจเปลี่ยนแปลงการไหลของแม่น้ำอิรวดี

เขื่อนมิตโสนเป็นหนึ่งในหลายโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากปักกิ่งในพม่า รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกในเมืองจอก์พยู รัฐยะไข่ ที่จะทำหน้าที่เป็นประตูของจีนสู่มหาสมุทรอินเดีย

ตอนเหนือของรัฐยะไข่เป็นพื้นที่ปฏิบัติการของทหารที่ปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2560 แต่พื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองจอก์พยูยังไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว

นักวิเคราะห์กล่าวว่า พม่าใกล้ชิดกรุงปักกิ่งมากขึ้นเนื่องจากการสนับสนุนของเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รายนี้ที่มีต่อซูจีในวิกฤตดังกล่าว วิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของเธอในฝั่งตะวันตก แม้ว่าเธอยังได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศ

ประธานาธิบดีสี คาดว่าจะพบหารือกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ที่ถูกกล่าวหาว่ากำกับดูแลการปราบปรามชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญา ที่ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 740,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ

ซูจีได้ปกป้องประเทศของเธอต่อข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติในกรุงเฮกเมื่อเดือนก่อนในคดีที่คาดว่าจะดำเนินไปอีกนานหลายปี.
กำลังโหลดความคิดเห็น