รอยเตอร์ - อองซานซูจี ผู้นำพม่า กล่าวขอบคุณผู้สนับสนุนที่จัดการชุมนุมใหญ่ในนามของเธอในขณะที่เธอขึ้นศาลโลกในกรุงเฮกปกป้องประเทศจากข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ในการกล่าวต่อประชาชนทั้งประเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ซูจีเดินทางกลับพม่าเมื่อวันอาทิตย์ (15)
แกมเบีย กล่าวหาพม่าละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 จากการปราบปรามของทหารที่ขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ออกจากพม่าไปบังกลาเทศ และแกมเบียได้ขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีคำสั่งมาตรการชั่วคราวป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงขึ้นอีก
“การสนับสนุนจากประชาชนที่มอบให้อย่างเอื้อเฟื้อนั้นเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ให้แก่เราขณะที่เรากล่าวแถลงคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ” ซูจี กล่าวออกอากาศทางโทรทัศน์
ซูจีเป็นผู้นำทีมกฎหมายฝ่ายพม่าเดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์เป็นเวลา 3 วัน เพื่อร่วมการไต่สวนคดีสัปดาห์ก่อน ซึ่งซูจีปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และโต้แย้งว่าศาลไม่มีขอบเขตอำนาจ
“ทุกประเทศต่างผ่านช่วงเวลายากลำบากและแม้แต่พม่าก็ไม่มีข้อยกเว้น การพิจารณาคดีดังกล่าวได้มอบโอกาสในการประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของเรา ทั้งยังช่วยเสริมกำลังให้แข็งแกร่งและแก้ไขให้ถูกต้อง” ซูจี กล่าว
“ความท้าทายที่เราเผชิญที่ศาลโลกนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพียงเพราะวิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ แต่รวมถึงการพลาดโอกาสในการจัดการกับปัญหาทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ อย่างสร้างสรรค์และเป็นธรรมในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา”
ซูจีได้รับการยกย่องจากตะวันตกในฐานะสัญลักษณ์ผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย และยังเป็นนักโทษการเมืองชื่อดังในช่วง 15 ปี ของการถูกกักบริเวณในบ้านพักจากการคัดค้านรัฐบาลเผด็จการทหารที่ปกครองประเทศในช่วงเวลานั้น
เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพผู้นี้ได้เข้ามามีอำนาจหลังได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งปี 2558 ที่ยุติการปกครองของทหารนานครึ่งศตวรรษ
แต่ท่าทีของซูจีที่มีต่อประเด็นปัญหาโรฮิงญาทำให้เธอถูกปลดรางวัลจำนวนมาก และยังมีการเรียกร้องให้คณะกรรมการรางวัลโนเบลเรียกคืนรางวัลสาขาสันติภาพของเธอ และเธอยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากอดีตผู้สนับสนุนคนดัง และองค์กรต่างๆ อีกด้วย
แต่ในพม่า ซูจียังคงได้รับความเคารพยกย่องจากประชาชนอย่างมากมาย
การดำเนินการทางกฎหมายในกรุงเฮกได้ฟื้นการสนับสนุนซูจีขึ้นมาอีกระลอก โดยบรรดาผู้สนับสนุนได้จัดการชุมนุมทั่วประเทศ ที่ส่งเสียงร้องให้กำลังใจพร้อมโบกธงชาติว่า “ยืนเคียงข้างซูจี”
อีกด้านหนึ่งคณะเจ้าหน้าที่พม่าได้เดินทางไปเยี่ยมค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเมื่อวันพุธ (18) ที่พวกเขาได้พูดคุยกับชาวโรฮิงญาหลายสิบคนในความพยายามที่จะเริ่มกระบวนการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศ
พม่าระบุว่า ฝ่ายตนพร้อมที่จะรับผู้ลี้ภัยกลับตั้งแต่เดือน ม.ค.2561 และได้สร้างค่ายพักไว้ใกล้กับชายแดนเพื่อรับผู้ลี้ภัยเหล่านี้ แต่แกนนำโรฮิงญากล่าวว่า พวกเขาต้องการให้พม่ายอมรับว่าพวกเขาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีสิทธิในการเป็นพลเมืองของพม่าก่อนที่พวกเขาจะเดินทางกลับ
ชาวโรฮิงญาหลายแสนคนที่ยังคงอยู่ในฝั่งพม่าส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และใช้ชีวิตในสภาพที่เหมือนถูกแบ่งแยก ทั้งยังถูกจำกัดอยู่แต่ในเขตค่ายพักและหมู่บ้าน พวกเขาไม่สามารถเดินทางได้อย่างเป็นอิสระ
พม่าไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์พื้นเมือง และประชาชนจำนวนมากเรียกโรฮิงญาว่าเบงกาลี ที่หมายถึงผู้ที่อยู่ในบังกลาเทศ
แกนนำโรฮิงญาที่เข้าร่วมการพูดคุยเมื่อวันพุธกล่าวว่าไม่มีความคืบหน้าใดๆ เกิดขึ้น
“เราผิดหวังมาก มันจะเป็นอีกหนึ่งการเจรจาที่ล้มเหลว พวกเขาพูดแต่เรื่องเดิมๆ ไม่มีอะไรใหม่” แกนนำโรฮิงญากล่าวกับรอยเตอร์.