xs
xsm
sm
md
lg

แกมเบียกล่าวแถลงศาลโลก ร้องพม่ายุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




เอเอฟพี - นางอองซานซูจี เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เผชิญกับการเรียกร้องให้พม่า “ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา ขณะที่เธอทำหน้าที่เป็นผู้นำการปกป้องประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในวันนี้ (10)

ผู้นำพลเรือนของพม่าร่วมรับฟังเรื่องราวการสังหารหมู่และการข่มขืนที่แกมเบียได้กล่าวแถลงยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก

ขณะเดียวกัน ประชาชนหลายพันคนในนครย่างกุ้งรวมตัวเดินขบวนเพื่อแสดงการสนับสนุนนางอองซานซูจี ผู้ที่นิ่งเงียบต่อชะตากรรมของโรฮิงญาจนทำให้ชื่อเสียงในระดับสากลของเธอในฐานะผู้ต่อสู้เรียกร้องสิทธิต้องมัวหมอง

ชาวโรฮิงญาราว 740,000 คน อพยพหลบหนีข้ามแดนไปยังบังกลาเทศ หลังการปราบปรามนองเลือดโดยทหารพม่าในปี 2560 ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

“บอกพม่าให้ยุติการสังหารที่ไร้สติเหล่านี้ ยุติการกระทำโหดร้ายทารุณเหล่านี้ที่ยังคงสร้างความตกใจต่อมโนธรรมร่วมของเรา ยุติการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กับประชาชนของตัวเอง” อาบูบาคาร์ ตัมบาดู รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของแกมเบีย กล่าวต่อคณะตุลาการ

แกมเบียกล่าวหาพม่าละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 และได้ขอให้ศาลออกมาตรการฉุกเฉินเพื่อยุติความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มอีก

“การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กำลังปรากฏให้เห็นต่อหน้าเรา แต่เรากลับไม่ได้ทำอะไรเพื่อหยุดยั้ง ทุกวันที่นิ่งเฉยหมายความว่ามีคนจำนวนมากกำลังถูกฆ่า ผู้หญิงจำนวนมากกำลังถูกข่มขืน และเด็กอีกมากกำลังถูกเผาทั้งเป็น จากอาชญากรรมอะไร? เพียงแค่พวกเขาเกิดมาแตกต่าง” ตัมบาดู อดีตอัยการศาลในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาปี 1994 กล่าวเสริม

ซูจีมีกำหนดที่จะกล่าวแก้ต่างให้แก่พม่าในวันพุธ และคาดว่าเธอจะกล่าวแถลงว่าพม่ากำลังดำเนินการปฏิบัติการที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อต้านกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา และว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศไม่มีเขตอำนาจในคดีนี้




การตัดสินใจของเธอในการเป็นผู้นำคดีของประเทศที่ศาลโลกได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความนิยมในพม่า ประเทศที่ชาวโรฮิงญาถูกพิจารณาอย่างกว้างขวางว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายแม้จะอาศัยอยู่ในพม่ามาหลายทศวรรษก็ตาม

ในพม่า ประชาชนจำนวนมากเข้าร่วมการเดินขบวนเพื่อแสดงการสนับสนุนซูจีในหลายเมืองทั่วประเทศในวันนี้ (10) เช่น ที่นครย่างกุ้ง มีประชาชนเข้าร่วมราว 2,000 คน ขณะที่เมืองมัณฑะเลย์ มีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน

ซอ โพ ข่า นักร้องเร็กเก้ยอดนิยมเป็นหนึ่งในคนดังที่ขึ้นเวทีชุมนุมในนครย่างกุ้ง ที่ร้องบอกให้ทุกคนรักกันก่อนเข้าสู่บทเพลง

“เราต้องอยู่เคียงข้างเธอเพราะเธอเดินทางไปปกป้องศักดิ์ศรีของประเทศ” ตัน ซิน ชาวย่างกุ้ง อายุ 57 ปี ที่ติดสติกเกอร์รูปซูจีบนแก้มทั้งสองข้างกล่าว

อย่างไรก็ตาม ทนายความฝ่ายแกมเบีย กล่าวว่า การปรากฏตัวของป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ทั่วพม่าในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้ที่มีภาพของซูจีพร้อมกับนายพล 3 นายที่มีสีหน้ายิ้มแย้มเบิกบาน แสดงให้เห็นว่าซูจีล่มหัวจมท้ายกับกองทัพ

“เป็นความตั้งใจที่จะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาทั้งหมดล่มหัวจมท้ายด้วยกันและพม่าไม่มีความตั้งใจที่จะนำผู้นำทหารมารับผิดชอบ” ทนายความกล่าวต่อศาล

กลุ่มผู้ชุมนุมสนับสนุนชาวโรฮิงญาราว 50 คน รวมตัวกันที่ด้านนอกประตูศาลถือป้ายเรียกร้องให้ทหารพม่ายุติการโจมตีโรฮิงญา และว่าวันนี้เป็นวันยุติธรรมสากลสำหรับโรฮิงญา ส่วนอีกด้านหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สนับสนุนซูจี ที่ถือป้ายที่มีรูปซูจีพร้อมข้อความระบุว่า “เรารักคุณ เราอยู่เคียงข้างคุณ”

“ซูจีเป็นเพียงคนเดียวที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้” ส่วย ส่วย เอ อายุ 47 ปี กล่าวกับเอเอฟพี.






กำลังโหลดความคิดเห็น