xs
xsm
sm
md
lg

เหยื่อโรฮิงญาวอนขอความยุติธรรม ก่อนศาลโลกเปิดไต่สวนพม่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




รอยเตอร์ - สมาชิกชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาของพม่าวอนขอความยุติธรรมก่อนการไต่สวนคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะเริ่มขึ้น ที่นางอองซานซูจี จะเข้าปกป้องประเทศจากข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

แกมเบียเริ่มดำเนินกระบวนการทางกฎหมายกับพม่าในเดือน พ.ย. กล่าวหาว่าพม่าละเมิดข้อผูกพันภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 และการพิจารณาคดีครั้งนี้ เป็นคดีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คดีที่ 3 ที่ยื่นฟ้องยังศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

ในช่วง 3 วันของการไต่สวน คาดว่าซูจีจะยังคงปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์และแถลงว่าปฏิบัติการของทหารเป็นการปราบปรามการก่อการร้ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา

การดำเนินการต่อหน้าคณะผู้พิพากษา 17 คนในสัปดาห์นี้ จะไม่จัดการกับข้อกล่าวหาหลักเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แต่แกมเบียได้ขอให้ศาลสั่งพม่าให้ยุติกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่อาจทำให้ข้อพิพาทรุนแรงยิ่งขึ้น

แกมเบียจะแถลงต่อศาลว่า กองกำลังของพม่าได้กระทำทารุณอย่างเป็นระบบและกว้างขวางภายใต้การรณรงค์ที่ทราบกันว่าเป็น “ปฏิบัติการกวาดล้าง” ตั้งแต่เดือน ส.ค.2560 ที่ถือเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

คำฟ้องศาลของแกมเบียกล่าวหาว่าพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยมีเจตนาที่จะทำลายโรฮิงญาแบบเป็นกลุ่ม ทั้งหมด หรือบางส่วน ด้วยการรุมโทรมข่มขืนและการใช้ความรุนแรงทางเพศในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการทำลายอย่างเป็นระบบด้วยการเผาหมู่บ้านของพวกเขา และบ่อยครั้งมีผู้อาศัยถูกขังอยู่ภายในบ้านที่กำลังลุกไหม้

ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าในปี 2560 หลังการปราบปรามภายใต้การนำของทหาร และจำต้องอาศัยอยู่ในค่ายพักที่แออัดในบังกลาเทศ

ฮะสินา เบกุม อายุ 22 ปี กล่าวว่า เธอเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้หญิงที่ถูกทหารพม่าซึ่งเผาหมู่บ้านของเธอข่มขืน

“พวกเขาทำสิ่งเหล่านี้กับฉัน กับญาติของฉัน และเพื่อนๆ ของฉัน ฉันสามารถพูดต่อหน้าพวกเขา มองตาของพวกเขาได้ เพราะฉันไม่ได้โกหก” เบกุม กล่าว

เบกุม ออกจากค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลบหนีออกจากพม่า และเดินทางถึงกรุงเฮกเมื่อวันจันทร์ (9) พร้อมกับเหยื่ออีก 2 คน และล่าม

“ฉันรู้สึกดีมาก” ฮะสินา กล่าวจากห้องพักคืนก่อนวันพิจารณาคดี

“ทหารพม่าข่มขืนผู้หญิงเราหลายคน เราต้องการความยุติธรรมด้วยความช่วยเหลือจากประชาคมระหว่างประเทศ” ฮะสินา กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น