เอพี - นางอองซานซูจี ของพม่า กล่าวปฏิเสธว่ากองกำลังทหารของประเทศกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา โดยกล่าวกับศาลสูงสุดของสหประชาชาติว่า การอพยพของชาวมุสลิมหลายแสนคนนั้นเป็นผลร้ายจากการสู้รบกับกลุ่มกบฏ
ซูจี กล่าวโต้แย้งต่อข้อกล่าวหาที่ว่ากองทัพได้สังหารพลเรือน ข่มขืนผู้หญิง และเผาบ้านเรือนในปี 2560 ในสิ่งที่ผู้กล่าวหาพม่าระบุว่า เป็นการกวาดล้างชาติพันธุ์และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่ทำให้ชาวโรฮิงญามากกว่า 700,000 คน ต้องอพยพหลบหนีไปบังกลาเทศ
ผู้นำทางพฤตินัยของพม่า ระบุว่า ข้อกล่าวหาเกิดขึ้นจาก “ความขัดแย้งทางอาวุธภายในประเทศ ที่เริ่มมาจากการโจมตีด้วยอาวุธที่ประสานงานกันและครอบคลุม และหน่วยป้องกันของประเทศได้ตอบโต้กลับ แต่เป็นเรื่องน่าเศร้า ที่ความขัดแย้งทางอาวุธนี้นำไปสู่การอพยพของชาวมุสลิมหลายแสนคน”
การปรากฏตัวของซูจีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทำให้ซูจีถูกโจมตีว่าเธอกำลังปกป้องกองกำลังทหารที่เคยกักบริเวณเธออยู่แต่ภายในบ้านพักนานราว 15 ปี
ซูจี กล่าวต่อศาลว่า แกมเบียที่ยื่นฟ้องคดีในนามขององค์การความร่วมมืออิสลาม ได้ให้ภาพที่ไม่สมบูรณ์และก่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ของพม่าในเดือน ส.ค.2560
แกมเบียกล่าวหาว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ได้เกิดขึ้นและกำลังดำเนินอยู่ และได้ร้องขอให้ศาลโลกดำเนินมาตรการที่จะหยุดยั้งความรุนแรง ซึ่งรวมถึงมาตรการทั้งหมดภายใต้อำนาจของศาลที่จะป้องกันการกระทำที่เทียบเท่าหรือมีส่วนทำให้เกิดอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในพม่า
แต่ซูจี กล่าวว่า สถานการณ์ในภูมิภาคที่ยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของพม่านี้มีความซับซ้อนและไม่ง่ายที่จะเข้าใจ และซูจียังให้รายละเอียดเกี่ยวกับการตอบสนองของกองทัพต่อเหตุการณ์การโจมตีในวันที่ 25 ส.ค.2560 โดยกลุ่มกบฏซึ่งได้รับการฝึกโดยกลุ่มหัวรุนแรงชาวอัฟกานิสถานและปากีสถาน
ในการกล่าวแถลงต่อศาลในฐานะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ซูจียืนยันว่า กองกำลังทหารของประเทศได้พยายามที่จะลดความเสียหายที่ไม่ตั้งใจ ระหว่างการต่อสู้ตามสถานที่ต่างๆ 12 แห่ง ขณะเดียวกัน ซูจียอมรับว่าอาจมีการใช้กำลังมากเกินไป และเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งอาจสังหารคนที่ไม่ได้ร่วมการรบ ซูจี กล่าวว่า การสืบสวนของพม่ากำลังตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นและควรอนุญาตให้การทำงานสำเร็จลุล่วง
ซูจี และทีมกฎหมายของพม่าได้กล่าวแถลงว่าอนุสัญญาว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใช้ไม่ได้กับพม่า พวกเขาอ้างถึงโครเอเชียระหว่างสงครามบอลข่านในช่วงทศวรรษ 1990 โดยกล่าวว่า ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นั่น ที่ประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้ต้องออกจากบ้านของตนเองเนื่องจากการสู้รบ.