รอยเตอร์ - สหรัฐฯ กำหนดมาตรการลงโทษกับผู้นำทหารของพม่า 4 นาย ซึ่งรวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ความเคลื่อนไหวที่รุนแรงที่สุดที่วอชิงตันได้ดำเนินการกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวโรฮิงญาและชนกลุ่มน้อยต่างๆ
การกำหนดมาตรการลงโทษครั้งนี้ได้มุ่งเป้าไปที่ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ซึ่งเกิดขึ้นวันเดียวกับที่นางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือนของพม่า เข้าร่วมการไต่สวนวันแรกที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติในกรุงเฮก ซึ่งซูจีจะเป็นผู้นำการแก้ต่างให้แก่ประเทศจากข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
การปราบปรามของทหารในปี 2560 ในพม่า ได้ขับไล่ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ที่ต้องหลบหนีไปยังบังกลาเทศ และผู้สืบสวนของสหประชาชาติได้กล่าวว่า ปฏิบัติการของพม่ายังรวมถึงการสังหารหมู่ การรุมโทรมข่มขืน และการวางเพลิงอย่างกว้างขวาง และดำเนินการด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดต่างๆ และระบุว่า การกระทำของทหารเป็นส่วนหนึ่งของการต่อสู้กับการก่อการร้าย
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุในคำแถลงว่า กองกำลังทหารพม่าได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย
“ในช่วงเวลานี้ สมาชิกของชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ถูกฆ่าหรือได้รับบาดเจ็บจากกระสุนปืน และมักเกิดขึ้นในขณะหลบหนี หรือจากการที่ทหารใช้อาวุธที่คล้ายใบมีดขนาดใหญ่ หลายคนถูกเผาตายในบ้านของตัวเอง” คำแถลง ระบุ
นอกจาก พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่ายแล้ว มาตรการลงโทษยังมุ่งเป้าไปที่พล.อ.อาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และนายทหารใต้บังคับบัญชาอีก 2 นาย ที่เป็นหัวหน้าหน่วยกองกำลังทหารชั้นนำที่เป็นหัวหอกในการปราบปรามโรฮิงญา
รายงานพิเศษของรอยเตอร์เมื่อปีก่อนได้รายงานเป็นครั้งแรกถึงบทบาทของหน่วยทหาร 2 หน่วย คือ กองพลทหารราบที่ 33 และกองพลทหารราบที่ 99 ในเหตุการณ์ความขัดแย้งปี 2560
กองพลทหารราบที่ 33 ได้นำการปฏิบัติการทางทหารในหมู่บ้านอินดิน ที่รอยเตอร์ได้เผยเรื่องราวการสังหารหมู่ผู้ชายและเด็กชายโรฮิงญา 10 คน โดยทหารและชาวบ้านที่เป็นชาวพุทธ และสองนักข่าวของรอยเตอร์ที่ทำงานในเรื่องนี้ถูกจำคุกนานกว่า 500 วัน
มาตราการลงโทษกำหนดยึดทรัพย์ในสหรัฐฯ ของผู้ตกเป็นเป้าหมาย และห้ามพลเมืองสหรัฐฯ ดำเนินธุรกิจกับคนเหล่านี้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อมูลว่านายพลทั้ง 4 นาย ที่ก่อนหน้านี้ถูกห้ามเดินทางเข้าสหรัฐฯ ในเดือน ก.ค. มีทรัพย์สินอยู่ในสหรัฐฯ หรือไม่
มาตรการลงโทษเพิ่มเติมนี้เกิดขึ้นหลายเดือนหลังวอชิงตันเผชิญต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษสหประชาชาติ ในเดือน ก.ค. ที่กล่าวว่ามาตรการลงโทษห้ามเดินทางก่อนหน้านั้นยังไม่เพียงพอ
จอห์น ซิฟตัน ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอทช์ภูมิภาคเอเชีย ระบุว่า การตัดสินใจกำหนดมาตรการลงโทษเป็นเรื่องที่น่ายินดี แม้ใช้เวลานานกว่าจะเกิดขึ้น
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า มาตรการลงโทษครั้งใหม่มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในพม่า ที่ซูจีเข้ากุมอำนาจหลังการเลือกตั้งครั้งสำคัญในปี 2558
แต่อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ไม่ได้กำหนดมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจกับพม่า ซึ่งยกเลิกไปหลังทหารเริ่มคลายการยึดอำนาจ และไม่ได้มุ่งเป้าไปยังบริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของซึ่งครอบครองหลายภาคส่วนในเศรษฐกิจพม่า
มาร์ค ฟาร์แมนเนอร์ ผู้อำนวยการ Burma Campaign UK องค์กรเรียกร้องสิทธิมนุษยชนในพม่าที่มีสำนักงานในอังกฤษ ระบุว่า บริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของยังคงทำธุรกิจกับบริษัทของสหรัฐฯ
“บริษัทที่ทหารเป็นเจ้าของเป็นแหล่งทุนให้แก่การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่พวกเขาจะต้องเผชิญต่อมาตรการลงโทษ” ฟาร์แมนเนอร์ กล่าวกับรอยเตอร์.