รอยเตอร์ - อองซานซูจี ผู้นำพม่าเรียกร้องต่อคณะผู้พิพากษาศาลโลกวานนี้ (12) ให้ยกฟ้องข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาของประเทศ โดยกล่าวว่า กระบวนการยุติธรรมของประเทศควรได้รับโอกาสในการทำงานก่อน
แกมเบีย กล่าวหาว่าพม่าละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ปี 1948 จากการปราบปรามของทหารที่ขับไล่ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน ออกจากพม่า และแกมเบียได้ร้องต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกคำสั่งมาตรการชั่วคราวเพื่อป้องกันความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นเพิ่มอีก
แต่ซูจี ที่ปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ได้กล่าวต่อศาลในวันที่ 3 และเป็นวันสุดท้ายของการไต่สวนว่า ศาลสหประชาชาติไม่มีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดี และขอให้ศาลถอนคดีออกจากรายชื่อ และควรปฏิเสธคำขอมาตรการชั่วคราวที่ยื่นเสนอโดยแกมเบีย
อับดุลกาวี ยูซุฟ ประธานองค์คณะผู้พิพากษา ระบุว่า คณะจะพิจารณาคำขอออกคำสั่งโดยเร็วที่สุดเท่าที่เป็นได้ แต่ไม่ได้ระบุช่วงเวลาที่ชัดเจน
พอล ไรช์เลอร์ ทนายความฝ่ายแกมเบีย กล่าวว่า พม่าไม่แม้แต่จะพยายามในระหว่างการพิจารณาคดีที่จะปฏิเสธข้อกล่าวหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับความรุนแรงของทหาร และการเนรเทศชาวโรฮิงญาจำนวนมากหลังการปราบปรามปี 2560
คำแถลงจากพม่าว่าพม่ากำลังดำเนินคดีต่อทหารที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดนั้นไม่น่าเชื่อถือ ไรช์เลอร์ ระบุ
“เราจะสามารถคาดหวังได้อย่างไรว่ากองทัพจะรับผิดชอบต่อการกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เมื่อนายพลระดับสูง 6 นาย ที่รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ถูกกล่าวหาเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์จากภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติและได้รับคำแนะนำให้ดำเนินคดีทางอาญา” ไรช์เลอร์ กล่าว โดยอ้างถึงข้อค้นพบของผู้สอบสวนสหประชาชาติที่ในรายงานเดือน ส.ค.2561 ระบุว่า ทหารพม่าได้ดำเนินการสังหารและข่มขืนด้วยเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในปฏิบัติการปี 2560
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีพม่าข้ามแดนไปบังกลาเทศหลังทหารเริ่มการปราบปราม และผู้สืบสวนสหประชาชาติได้กล่าวว่า อาจมีคนถูกฆ่าราว 10,000 ราย.