รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาเกือบ 100 คนถูกนำตัวขึ้นศาลในพม่าเพื่อเผชิญต่อข้อหาเดินทางอย่างผิดกฎหมาย หลังพวกเขาถูกจับกุมตัวขณะหลบหนีจากสภาพที่เหมือนถูกแบ่งแยกในรัฐยะไข่
กลุ่มชาวโรฮิงญา 93 คน ถูกนำตัวขึ้นศาลในวันเดียวกันที่นางอองซานซูจี ผู้นำพม่าปรากฏตัวที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในกรุงเฮก เพื่อปกป้องประเทศจากข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรัฐยะไข่
ตำรวจติดอาวุธเข้าห้ามนักข่าวเข้าไปในศาลของเมืองปะเต็ง (พะสิม-Pathein) โดยอ้างถึงเหตุผลด้านความปลอดภัย ทั้งที่โดยปกติแล้วการพิจารณาคดีเช่นนี้ในพม่ามักอนุญาตให้นักข่าวเข้าสังเกตการณ์
โรฮิงญา 93 คน ถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 28 พ.ย. บนชายหาดในเขตอิรวดีทางตะวันตกเฉียงใต้ของพม่า หลังทั้งหมดแล่นเรือออกมาจากรัฐยะไข่
ชาวโรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีออกจากพม่าไปยังบังกลาเทศในปี 2560 เพื่อหลบหนีการปราบปรามของทหารที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติกล่าวว่าเป็นการดำเนินการที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และยังรวมถึงการสังหารหมู่และการข่มขืน
แต่ชาวโรฮิงญาที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอีกราว 600,000 คน ถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอยู่แต่ในค่ายพักและหมู่บ้านต่างๆ ที่พวกเขาไม่สามารถเดินทางได้อย่างเป็นอิสรเสรี หรือเข้าถึงการดูแลสุขภาพและการศึกษาได้
หลังการพิจารณาคดี ตะซิน มัต มัต วิน ทนายความ กล่าวกับนักข่าวว่าผู้พิพากษาได้เลื่อนการพิจารณาคดีไปจนถึงวันที่ 20 ธ.ค. และหากพวกเขาถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง พวกเขาจะเผชิญต่อโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี
นักเคลื่อนไหวที่เข้าสังเกตการณ์คดีกล่าวว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต้องหลบหนีเพราะไม่สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเสรีในพื้นที่ของพวกเขา.