เอเอฟพี - แกมเบียกล่าวโจมตีการนิ่งเงียบของอองซานซูจีต่อชะตากรรมของชาวมุสลิมโรฮิงญาวันนี้ (12) หลังเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพกล่าวป้องพม่าต่อข้อกล่าวหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่ศาลสูงสุดของสหประชาชาติ
ทนายความฝ่ายแกมเบีย กล่าวว่า ถ้อยแถลงของซูจีที่ว่าการปราบปรามของทหารในปี 2560 ของพม่านั้นเป็นปฏิบัติการกวาดล้างที่มุ่งเป้าโจมตีกลุ่มกบฏ เป็นการเพิกเฉยต่อข้อกล่าวหาอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับการสังหารหมู่ การข่มขืน และถูกบังคับให้ต้องออกจากประเทศ
ทนายความฝ่ายแกมเบียกล่าวต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่า การนิ่งเงียบของซูจีนั้นได้พูดออกมามากยิ่งกว่าคำพูดของซูจีเสียอีก
“คำว่า ‘ข่มขืน’ ไม่เคยหลุดออกจากปากของผู้แทนเลย” ฟิลิปป์ แซนด์ ทนายความฝ่ายแกมเบีย กล่าวถึงซูจีที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีซึ่งไม่ได้แสดงอารมณ์ใดๆ ออกมาขณะรับฟัง
แกมเบียยื่นฟ้องศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ กล่าวหาพม่าละเมิดอนุสัญญาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และเรียกร้องมาตรการฉุกเฉินเพื่อปกป้องคุ้มครองโรฮิงญา
จากที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการยกย่องว่าเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิมนุษยชน แต่ชื่อเสียงของซูจีต้องมัวหมองจากการตัดสินใจของเธอที่จะอยู่ฝั่งเดียวกับทหารในวิกฤตโรฮิงญา
ซูจีกล่าวแถลงต่อศาลเมื่อวันพุธ (11) ว่า ปฏิบัติการที่นำไปสู่การอพยพหลบหนีของชาวโรฮิงญากว่า 740,000 คน ไม่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อยู่เบื้องหลัง
ซูจียังกล่าวปกป้องการกระทำของพม่า โดยระบุว่า พม่าเผชิญต่อความขัดแย้งภายใน และทหารดำเนินการปฏิบัติการกวาดล้างหลังการโจมตีของกลุ่มกบฏโรฮิงญาในเดือน ส.ค.2560
แต่พอล ไรช์เลอร์ ทนายความฝ่ายแกมเบียอีกคนหนึ่ง กล่าวว่า ผู้ที่เสียชีวิตยังรวมถึง “เด็กทารกที่ถูกทุบตีจนตาย หรือถูกแยกออกจากอ้อมแขนของแม่และถูกโยนลงแม่น้ำจนจมน้ำตาย พวกเขากี่คนที่เป็นผู้ก่อการร้าย?”
“ความขัดแย้งกันด้วยอาวุธไม่สามารถเป็นข้ออ้างเพื่อการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ไรช์เลอร์ กล่าว
ทนายความฝ่ายแกมเบีย กล่าวอีกว่า ซูจียังล้มเหลวที่จะปฏิเสธข้อสรุปของการสอบสวนของสหประชาชาติในปี 2561 ที่พบว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นในพม่ากับชาวโรฮิงญา
“สิ่งที่ชัดที่สุดคือสิ่งที่พม่าไม่ได้ปฏิเสธ” ไรช์เลอร์ กล่าว
การตัดสินใจเกี่ยวกับมาตรการอาจใช้เวลาหลายเดือน ขณะที่คำตัดสินสุดท้ายหากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตัดสินใจที่จะพิจารณาคดีอย่างเต็มรูปแบบอาจใช้เวลาอีกนานหลายปี.