เอเอฟพี - ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ได้เพิ่มการสนับสนุนต่อนางอองซานซูจีเมื่อวันเสาร์ (18) ด้วยการลงนามข้อตกลงการค้าและโครงสร้างพื้นฐานหลายสิบฉบับ และได้พบหารือกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดพม่าที่ถูกกล่าวหาว่ากำกับดูแลการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา
การเยือนพม่าอย่างเป็นทางการของผู้นำจีนมีขึ้นในขณะที่นักลงทุนจากชาติตะวันตกหลีกห่างจากพม่าเนื่องจากวิกฤติโรฮิงญา
การปราบปรามทางทหารในปี 2560 ต่อชนกลุ่มน้อย ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ บังคับให้โรฮิงญากว่า 740,000 คน จากรัฐยะไข่ต้องอพยพหลบหนีข้ามแดนไปบังกลาเทศ
ปักกิ่งยืนหยัดเคียงข้างพม่าที่ถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และยังยืนยันจุดยืนของตนในคำแถลงร่วมในสื่อทางการของจีน ขณะที่เครื่องบินของสีเดินทางออกจากกรุงเนปีดอ โดยมีเครื่องบินรบคุ้มกัน
จีน “สนับสนุนอย่างมั่นคงต่อความพยายามของพม่าในการปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และศักดิ์ศรีของชาติในเวทีระหว่างประเทศ” และเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ และการพัฒนาในรัฐยะไข่ให้ก้าวหน้า
จีนเวลานี้เป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดของพม่าแม้ความไม่ไว้วางใจยังคงมีอยู่ในหมู่ประชาชน
ข้อตกลงมากกว่า 30 ฉบับ ได้ลงนามกันเมื่อวันเสาร์ (18) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการเยือนพม่าของสี จิ้นผิง ซึ่งซูจีและสีได้ร่วมประชุมหารือพร้อมด้วยรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง
รายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงแทบไม่มีปรากฎ แต่ในบรรดาข้อตกลง 33 ฉบับ หนึ่งในนั้นคือข้อตกลงสัมปทานและผู้ถือหุ้นเขตเศรษฐกิจและท่าเรือน้ำลึกจอก์พยู มูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนหนึ่งของรัฐยะไข่ ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงปี 2560
นอกจากนั้นยังมีจดหมายความตั้งใจสำหรับ “การพัฒนาเมืองใหม่” ในนครย่างกุ้ง และการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับรถไฟเชื่อมต่อ
เป้าหมายคือการบรรลุในสิ่งที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า” ที่เป็นเส้นทางของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคใต้ของจีนที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลไปยังรัฐยะไข่ทางตะวันตกของพม่า ซึ่งจะถูกใช้เป็นประตูออกมหาสมุทรอินเดียที่จีนเฝ้ารอมานาน
พิธีลงนามเกิดขึ้นระหว่างการพบหารือกับซูจีและพล.อ.อาวุโส มิน ออง หล่าย ที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรหลังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการปราบปรามโรฮิงญา
พม่ากล่าวว่าการปราบปรามที่เกิดขึ้นเป็นการปกป้องตนเองจากการโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบ
หลังเดินทางถึงพม่าในวันศุกร์ (17) ผู้นำแดนมังกรเรียกการเยือนนี้ว่าเป็น “ช่วงเวลาประวัติศาสตร์” สำหรับความสัมพันธ์จีน-พม่า ตามการรายงานของหนังสือพิมพ์โกลบอลนิวไลท์ออฟเมียนมาร์
ซูจี ที่ชื่อเสียงกำลังย่ำแย่ในสายตาตะวันตกเนื่องจากการปกป้องกองทัพในกรณีวิกฤติโรฮิงญา กล่าวว่าพม่าจะอยู่ข้างจีนเสมอ
จีนยังคงพันธมิตรที่ขาดไม่ได้สำหรับพม่า ที่สามารถใช้สิทธิวีโต้ยับยั้งการออกข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคแห่งสหประชาชาติได้
และเดิมพันยังสูงขึ้นเมื่อศาลสูงสุดของสหประชาชาติเตรียมที่จะตัดสินในสัปดาห์หน้าว่าจะควรออกมาตรการฉุกเฉินดำเนินการกับพม่าหรือไม่ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อร้องเรียนในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
แต่ความสงสัยที่กว้างขวางเกี่ยวกับอิทธิพลของปักกิ่งในประเทศ ยังคงมีอยู่ในหมู่ผู้ที่กังขาถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจะไหลมายังประชาชนคนหมู่มาก และความสัมพันธ์กับกลุ่มกบฎที่สู้รบกับรัฐในพื้นที่ชายแดน
นักวิเคราะห์การเมือง ขิ่น ซอ วิน กล่าวว่า การขาดความโปร่งใสในข้อตกลง 33 ฉบับที่ลงนามกันเมื่อวันเสาร์ จะนำไปสู่การสะท้อนกลับอย่างรุนแรงในขณะที่ความไม่ไว้วางใจกำลังขยายตัว
ความไม่พอใจเหล่านั้นได้ปรากฎให้เห็นในนครย่างกุ้ง ที่ผู้ชุมนุมหลายสิบคนเดินรวมตัวต่อต้านการฟื้นโครงการเขื่อนยักษ์ที่จีนให้การสนับสนุน พวกเขาถือป้ายเรียกร้องการยกเลิกโครงการเขื่อนมิตโสนมูลค่า 3,600 ล้านดอลลาร์ ที่ไม่ได้กล่าวถึงในข้อตกลงที่ลงนามกัน
“ประธานาธิบดีจีน มาพร้อมกับความสนใจของเขาในพม่า แต่ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของพวกเรา” ผู้ชุมนุม กล่าว
ทั้งนี้โครงการเขื่อนขนาด 6,000 เมกะวัตต์ถูกระงับไปในปี 2554 หลังเผชิญกับการต่อต้านจากทั่วประเทศ.