รอยเตอร์ - นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงโตเกียวกล่าววิจารณ์ความเห็นของเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำนครย่างกุ้งที่กล่าวกับสื่อท้องถิ่นว่า เขาไม่คิดว่าทหารพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยมุสลิมโรฮิงญาในประเทศ
โรฮิงญามากกว่า 730,000 คน หลบหนีจากพม่าไปยังบังกลาเทศในปี 2560 หลังการปราบปรามของทหาร ที่สหประชาชาติได้กล่าวว่า เป็นการปราบปรามที่มีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และรวมถึงการสังหารหมู่และการข่มขืน
การโจมตีของทหารนำมาซึ่งการยื่นฟ้องดำเนินคดียังศาลต่างๆ ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นศาลอาญาระหว่างประเทศ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่ตั้งอยู่ในกรุงเฮก
ซอ มิน ตุ๊ต รองประธานสมาคมโรฮิงญาพม่าในญี่ปุ่น กล่าวว่า ความเห็นของเอกอัครราชทูตนั้นรบกวนจิตใจ
“ผมรู้สึกผิดหวังมาก และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลญี่ปุ่นอีกครั้งว่าได้โปรดพยายามช่วยเหลือชาวโรฮิงญาและไม่เข้าข้างอาชญากร วันนี้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่ได้ให้ความร่วมมือ ไม่สนับสนุนการดำเนินการของสหประชาชาติต่อพม่า” ซอ มิน ตุ๊ต กล่าวกับนักข่าวต่างชาติในกรุงโตเกียว
อิชิโระ มารุยะมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำพม่าได้กล่าวกับอิรวดี เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นในเดือน ธ.ค. ว่า เขาไม่คิดว่าทหารพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือมีเจตนาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และว่ามาตรการคว่ำบาตรทางการค้าที่อาจเกิดขึ้นกับพม่าจากวิกฤตโรฮิงญาจะเป็นเรื่องไร้สาระที่สุด
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่เป็นศาลสูงสุดของสหประชาชาติ จะออกคำตัดสินว่าด้วยคำร้องขอมาตรการฉุกเฉินในคดีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อพม่าในวันที่ 23 มกราคมนี้ ตามการระบุของกระทรวงยุติธรรมแกมเบีย
ประเทศจากแอฟริกาตะวันตกที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามได้ยื่นฟ้องในเดือน พ.ย. กล่าวหาพม่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่
รัฐบาลพม่าโต้แย้งอย่างหนักต่อข้อสรุปดังกล่าว และระบุว่า ปฏิบัติการของทหารเป็นการปราบปรามการก่อการร้ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญา
กระทรวงการต่างประเทศของญี่ปุ่น ระบุว่า ญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในจุดที่จะแสดงความเห็นเกี่ยวกับคดีความที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
“เอกอัครราชทูตมารุยะมะ ไม่ได้ตั้งใจที่จะตัดสินล่วงหน้าถึงข้อค้นพบหรือคำพิพากษาในคดีความนี้ เขาเพียงแต่แสดงความรู้สึกในฐานะบุคคลที่ทำงานอยู่ในประเทศ รวมทั้งแสดงความเข้าใจต่อความซับซ้อนของสถานการณ์ในรัฐยะไข่” กระทรวงระบุในคำแถลง.