ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แม้ในช่วงนี้ ข้าราชการส่วนกลางกำลังขะมักเขม้น กับข้อมูลเพื่อรองรับการอภิปรายงบประมาณปี 2563 ในวาระที่ 2 และ 3 ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 วงเงิน 3,200,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ ได้พิจารณาเสร็จแล้ว ตามเอกสารแนบท้าย 5 เล่ม ที่ได้ส่งให้สมาชิกเพื่อประกอบการประชุมแต่ในส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่น ตอนนี้นอกจากตั้งหน้าตั้งตา รอใช้งบประมาณ พ.ศ. 2563 และบางส่วนก็ต้องใช้เงินใช้ไปพลางก่อนของปีงบประมาณ พ.ศ.2562
หลายวันก่อน หลังจากครม. มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ตามที่ สำนักงบประมาณ (สงป.) เสนอ มีการตั้งวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,300,000 ล้านบาท
วันนี้ ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มีอีกงานคือ เริ่มซักซ้อมแนวทางการใช้งบประมาณ พ.ศ. 2564 กรณีเป็นหน่วยงานรับงบประมาณตรงตามปฏิทินงบประมาณ พ.ศ. 2564 ในช่วงนี้ หน่วยงานกระทรวงต่างๆ อยู่ในช่วงจัดส่งรายการงบประมาณที่จะต้องก่อหนี้ผูกพันมากกว่าหนึ่งปีงบประมาณ และมีวงเงินตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป เพื่อเสนอรัฐมนตรี เจ้ากระทรวง และคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติ
จากนั้น ทุกหน่วยงาน ต้องจัดส่งรายละเอียดคำของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ให้เจ้ากระทรวง ก่อนเข้าสู่กระบวนการอนุมัติงบฯ ในช่วงกลางปีนี้ คาดว่า เดือนพ.ค.63
ช่วงนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2563 ก็น่าจะประกาศใช้แล้ว
เช่นเดียวกับงบประมาณจังหวัดและกลุมจังหวัด พ.ศ. 2564 ที่เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.) เห็นชอบไว้ โดยตัวเลขของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ให้ไว้ที่จำนวน 28,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กำหนดเป็น 70 : 30 จากกรอบงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
(1) งบประมาณจังหวัด จำนวน ประมาณ 19,600 ล้านบาท (งบพัฒนาจังหวัด 18,905 ล้านบาท และงบบริหารจัดการของจังหวัด 695 ล้านบาท)
(2) งบประมาณกลุ่มจังหวัด จำนวนประมาณ 8,400 ล้านบาท (งบพัฒนากลุ่มจังหวัด 8,312 ล้านบาท และงบบริหารจัดการของกลุ่มจังหวัด 88 ล้านบาท)
การซักซ้อมแนวทางการใช้งบประมาณ พ.ศ. 2564 ยังไปถึง"องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น" อปท. จากงบประมาณปี 2563 อปท.จะได้รับจัดสรรกว่า 5.52 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 1.11 หมื่นล้านบาท เป็นการจัดสรรตรงให้กับ อปท. ขนาดใหญ่ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (กทม.) พัทยา และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อีก 76 แห่ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายวิธีการงบประมาณใหม่
ส่วน อปท.ที่ขนาดเล็กลงมา อาทิ เทศบาลต่าง ๆ และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จะได้รับเงินอุดหนุนผ่านทางกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ตามแผนกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น
เทศบาลและ อบต.ต่าง ๆ จะได้รับเงินอุดหนุนรวมกันกว่า 3.18 หมื่นล้านบาท
"โดยรัฐบาลจะต้องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ทำโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านทรัพยากรน้ำ ”สำหรับ วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ ครม.เห็นชอบ นั้นเป็นมติที่มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน (สงป. กระทรวงการคลัง (กค.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ซึ่งเป็นไปตามนัย พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 24 (1) ที่บัญญัติให้ ในการจัดทำงบประมาณประจำปีให้ สงป.เป็นหน่วยงานหลัก โดยร่วมกับ กค. สศช. และ ธปท. เพื่อกำหนดนโยบายงบประมาณประจำปี ประมาณการร ายได้ วงเงินงบประมาณรายจ่ายและวิธีการเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ หรือการจัดการในกรณีที่ประมาณการรายได้สูงกว่าวงเงินงบประมาณ และเมื่อได้ดำเนินการแล้วให้ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
จากการประชุมพิจารณากำหนดวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ระหว่าง 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย สงป. กค. สศช. และ ธปท. เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.62 สรุปสาระสำคัญและมติที่ประชุมได้ ดังนี้
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีการกำหนด "สมมติฐานทางเศรษฐกิจ"ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 64 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 3.1 -4.1 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้น ของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ตามแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดี
ทั้งการลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ และการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภาพรวมอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ
สำหรับเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในปี 2564 ยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.7 - 1.7 ในขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 5.3 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
"ประมาณการรายได้รัฐบาล" ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 คาดว่ารัฐบาลจะจัดเก็บรายได้รวมจำนวน 3,264,200 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากร อากรถอนคืนกรมศุลกากร การจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด
การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม คงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 2,777,000 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวนสูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิที่กำหนดไว้ จำนวน 2,731,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 46,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.7
ส่วน "นโยบายงบประมาณ วงเงิน และโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564"
จากสมมติฐานทางเศรษฐกิจและประมาณการรายได้รัฐบาล และเพื่อให้การจัดการรายจ่ายภาครัฐสามารถขับเคลื่อนภารกิจตามยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ. 2561 -2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ( พ.ศ. 2560 - 2564) นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (พ.ศ. 2562-2565)แผนการปฏิรูปประเทศ และนโยบายรัฐบาลได้ตามเป้าหมาย รวมทั้งสนับสนุนการดำเนินภารกิจของหน่วยงานตามกฎหมาย ได้กำหนดนโยบายงบประมาณขาดดุลสำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 523,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินงบประมาณรายจ่าย จำนวน 3,300,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่กำหนดไว้ 3,200,000 ล้านบาท จำนวน 100,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.1 โดยมีสาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 3,300,000 ล้านบาท โดย ครม. ไดั้รบข้อสังเกตและความเห็นของที่ประชุม 4 หน่วยงาน ดังนี้
การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ควรเป็นการดำเนินนโยบายการคลังที่ยืดหยุ่นและสามารถตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจที่อาจไม่เป็นไปตามที่ประเมินไว้ได้อย่างทันท่วงที
การจัดทำงบประมาณควรคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีความท้าทายมากขึ้นในระยะ 1 - 2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงาน ที่อาจได้รับผลกระทบจากการพัฒนาทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด
"ซึ่งส่งผลให้แรงงานบางส่วนถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยี และอาจไม่สมารถปรับตัวได้ดีดังเช่นอดีตที่ผ่านมาแม้เศรษฐกิจในระยะข้างหน้ามีแนวโน้มดีขึ้น"
การจัดสรรเงินอุดหนุนให้อปท. เป็นภาระงบประมาณเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งเงินอุดหนุนบางส่วนมีความซ้ำซ้อน จึงเห็นควรให้มีการพิจารณาทบทวนเงินอุดหนุนสำหรับภารกิจที่มอบหมายให้อปท. ดำเนินการแทนรัฐบาล รวมถึงการพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การกันเงินสำรองและการใช้จ่ายเงินสะสมของ อปท.
ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้อปท. มีสภาพคล่องเกินอยู่ในระดับสูง สะท้อนให้เห็นได้จากเงินฝากของ อปท. ในระบบสถาบันการเงินที่มีจำนวนมากและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง.