ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มาตามสัญญาสำหรับของขวัญที่ “รัฐบาลลุงตู่” จัดเตรียมให้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วยการคลอด “มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย” วงเงิน 380,000 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งพร้อมเผชิญหน้าพายุเศรษฐกิจโลกซึ่งผันผวนหนักหน่วง และยังมีของขวัญให้ประชาชนคนไทยที่ถูกโขกดอกเบี้ย เก็บค่าธรรมเนียมจากแบงก์ที่ทำตัวเป็นเสือนอนกินมานมนานอีกด้วย
ทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ (พปชร.) เตรียมความพร้อมสำหรับมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี มาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว โดยก่อนหน้าที่จะนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและครม.เห็นชอบเมื่อวันอังคารที่ 7 มกราคม ที่ผ่านนั้น นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ได้เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อปรึกษาหารือนอกรอบล่วงหน้าว่ารับประกันผ่านฉลุย
ตามที่นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมครม. ย้ำชัดเจนว่า การส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะเป็นหัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และอยู่ในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดนั้น มีความสำคัญในระดับที่เป็น “วาระแห่งชาติ” กันเลยทีเดียว
สำหรับมติ ครม.อุ้มเอสเอ็มอีรอบนี้ อยู่ที่การขยายเวลาปล่อยสินเชื่อเพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่สอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท ออกไปจนถึง 18 ธันวาคม 2563 และ “มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี สามารถแข่งขันและอยู่รอดได้ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน ภายใต้วงเงินค้ำประกันสินเชื่อและการปล่อยสินเชื่อ รวมทั้งสิ้น 380,000 ล้านบาท
นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง คาดหวังว่า มาตรการต่อเติม เสริมทุน เอสเอ็มอี สร้างไทย ที่ ครม.เห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง จะให้ความช่วยเหลือเอสเอ็มอีได้ไม่น้อยกว่า200,000 ราย ให้สามารถอยู่รอดท่ามกลางเศรษฐกิจโลกผันผวนจากความขัดแย้งในสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีน ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อผู้ประกอบการและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ซึ่งเป็นห่วงโซ่การผลิตสำคัญของภาคการส่งออกไทย รวมทั้งลดผลกระทบจากค่าเงินบาท ปัจจัยกดดันต่อการส่งออก
ภายใต้มาตรการดังกล่าว จะแบ่งความช่วยเหลือเอสเอ็มอี ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ต้องการสภาพคล่อง กลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที และกลุ่มที่มีศักยภาพ ดังนี้ 1.กลุ่มเอสเอ็มอีที่ต้องการสภาพคล่อง ประกอบด้วย 3 โครงการ คือโครงการ บสย.เอสเอ็มอีสร้างไทย โดยบสย.ให้วงเงินค้ำประกัน 6 หมื่นล้านบาท จ่ายค่าชดเชยความเสียหายไม่เกิน 40% ของวงเงินค้ำประกัน โดยค้ำประกันให้กับลูกหนี้ที่มีศักยภาพแต่ความสามารถชำระหนี้ลดลง ลูกหนี้เอ็นพีแอล ลูกหนี้รีไฟแนนซ์
โครงการ Transformation Loan เสริมแกร่ง (Soft Loan เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักร ระยะที่ 2) โดยธนาคารออมสิน วงเงินโครงการ 1.5 หมื่นล้านบาท
โครงการ GSB SMEs Extra Liquidity โดยธนาคารออมสิน มีวัตถุประสงค์เพื่อผ่อนปรนภาระการจ่ายเงินต้นและเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจวงเงินโครงการ 5 หมื่นล้านบาท วงเงินกู้ต่อรายไม่เกิน 50 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้นที่อัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้าชั้นดีลบ1% ระยะเวลากู้สูงสุด 6 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี
2.กลุ่มเอสเอ็มอีที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือทันที โดยโครงการ PGS 5 ถึง PGS 7 จะขยายระยะเวลาการค้ำประกัน ออกไปอีก 5 ปี รวมถึงยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ บสย. จ่ายค่าประกันชดเชยเมื่อสถาบันการเงินดำเนินคดีกับเอสเอ็มอี โดยให้สถาบันการเงินสามารถปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้แก่เอสเอ็มอี เพื่อให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
3.กลุ่มเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ ปัจจุบันมีมาตรการด้านการเงินเพื่อสนับสนุนทั้งโครงการสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนและโครงการค้ำประกันสินเชื่อ ดังนี้ โครงการสนับสนุนเอสเอ็มอีรายย่อย ผ่านกองทุน สสว. โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) เป็นผู้พิจารณาสินเชื่อวงเงินคงเหลือ 5 พันล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 1% ต่อปี ระยะเวลากู้ไม่เกิน 7 ปี ปลอดชำระเงินต้นสูงสุดไม่เกิน 1 ปี
โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนของ ธพว.วงเงินคงเหลือ 2 หมื่นล้านบาท โดยปรับปรุงกลุ่มเป้าหมายให้ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียและมีการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แล้วสามารถเข้าโครงการได้, โครงการสินเชื่อเอสเอ็มอีประชารัฐสร้างไทยของธนาคารออมสิน โดย ณ วันที่ 16 ธันวาคม 2562 มีวงเงินคงเหลือ 4.5 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี ใน 2 ปีแรก โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 4 ปี
โครงการสินเชื่อ กรุงไทยเอสเอ็มอี ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเพิ่มวงเงินสินเชื่ออีก 1 หมื่นล้านบาท เป็น 6 หมื่นล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 4% ต่อปี โดยกำหนดการจ่ายค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อแทนเอสเอ็มอีเป็นระยะเวลา 4 ปี, โครงการ PGS 8 ของ บสย. สำหรับวงเงินค้ำประกันโครงการที่เหลือ บสย. จะจ่ายค่าประกันชดเชยให้กับสถาบันการเงินโดยสถาบันการเงินไม่ต้องดำเนินคดีกับเอสเอ็มอีก่อน เพื่อให้สถาบันการเงินช่วยลูกหนี้โดยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้แทนการฟ้องดำเนินคดี รวมถึงขยายการค้ำประกันสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมการให้เช่าซื้อ ธุรกรรมการให้เช่าแบบลิสซิ่ง และธุรกรรมแฟ็กเตอริงได้อีกด้วย
และ โครงการ Direct Guarantee ของ บสย. วงเงินค้ำประกัน 5 พันล้านบาท วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 10 ล้านบาทรวมทุกสถาบันการเงิน โดย บสย. เป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมค้ำประกันตามระดับความเสี่ยงของลูกค้า ระยะเวลาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี
นอกจากนั้น ยังมีมาตรการอื่นๆ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาแนวทางการกันสำรองที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกันไม่ให้เป็นหนี้เสียและกรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียและมีการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มเติม ทั้งของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการภาษีอากรและค่าธรรมเนียม ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.2563 ถึง 31 ธ.ค.2564 โดยยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกหนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของเจ้าหนี้ ได้แก่ ธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ และธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพ
รวมทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนหรือขายทรัพย์สิน การให้บริการ และการกระทำตราสาร เพื่อชำระหนี้ อันเนื่องมาจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้, ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่จำนองเป็นประกันหนี้กับสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น เพื่อนำเงินไปชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน (เฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระ)
และ ยกเว้นการดำเนินการตามหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่กรมสรรพากรกำหนด สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ รวมถึงการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจาก 2% เหลือ 0.01% สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง คาดว่า กลุ่มแรกนี้ จะมีเอสเอ็มอีที่ต้องการความช่วยเหลือประมาณ 5 หมื่นคน หรือประมาณ 50% ของเอสเอ็มอีที่จะเข้าไปช่วยเหลือทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่สอง คือกลุ่มที่มีอุปสรรคมากและกำลังจะกลายเป็นหนี้เสีย คาดว่าจะมีเอสเอ็มอีอยู่จำนวน 20% หรือ 2 หมื่นคนที่อยู่ในข่าย
สำหรับกลุ่มที่สาม เป็นลูกหนี้กลุ่มปกติที่คาดว่า จะมีสัดส่วน 30% หรือ 3 หมื่นราย แต่ต้องการสภาพคล่องเพิ่ม มีสินเชื่อวงเงิน 1 แสนล้านบาทจากธนาคารกรุงไทย 6 หมื่นล้านบาท และธนาคารออมสิน 4 หมื่นล้านบาทเข้ามาช่วยเหลือ และคาดว่าจะมีธนาคารพาณิชย์เข้ามาร่วมปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติม
มาตรการที่ออกมาอุ้มเอสเอ็มอีคราวนี้ ทางรัฐมนตรีคลังได้หารือสมาคมธนาคารไทย แบงก์ชาติ และแบงก์รัฐแล้ว คาดว่าการช่วยเหลือนี้จะดูแลเศรษฐกิจช่วงต้นปีให้เติบโตต่อไปได้ และอยากเห็นเศรษฐกิจเติบโตในระดับ 2.8-3%
นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไปบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.) กล่าวว่า การเพิ่มอัตราการค้ำประกันเป็น 40 % หมายความว่า กรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ ปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอีแล้วสินเชื่อนั้นกลายเป็นหนี้เสียในพอร์ตของธนาคารไม่เกิน 40% บสย.จะจ่ายเคลมให้ 100 %
นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลมองเรื่องการช่วยเหลือเอสเอ็มอีเป็นวาระแห่งชาติ เพราะปัจจุบันผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านรายในประเทศ มียอดขายสินค้าที่คิดเป็นมูลค่าราว 40% ของจีดีพี มีการจ้างงานถึง 14 ล้านคน คิดเป็น 80-85% ของการจ้างงานในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ การขยายวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจาก 30% เป็น 40% เป็นนโยบายที่จะทำให้เม็ดเงินสินเชื่อไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ และแรงจูงใจให้แบงก์ร่วมปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น จากที่ผ่านมาเคยตั้งวงเงินการค้ำประกันไว้ที่ 18% แต่แบงก์ไม่ยอมปล่อยสินเชื่อ
กล่าวจำเพาะในส่วนของแบงก์ชาติ ซึ่งออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี ให้มีผลวันที่ 1 มกราคม 2563 - 31 ธันวาคม 2564 ประกอบด้วย 1.การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันสำหรับลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL โดยลดดอกเบี้ย และการขยายระยะเวลาชำระหนี้ 2.การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่เป็น NPL ให้เลื่อนขั้นเป็นลูกหนี้ปกติได้เมื่อลูกหนี้ปรับโครงสร้างและชำระหนี้ได้ 3 เดือน หรือ 3 งวดติดต่อกัน จากเดิมที่ต้องรอถึง 12 เดือน
3.สนับสนุนสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ให้สินเชื่อใหม่ เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน สามารถจัดชั้นเป็นหนี้ปกติได้หากลูกหนี้มีกระแสเงินสดรองรับการชำระหนี้ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง 4.สนับสนุนสถาบันการเงินไม่ลดวงเงินที่ยังไม่ได้ใช้ของลูกหนี้ และไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินสินเชื่อที่ลูกหนี้ยังไม่ได้ใช้ และ 5.ให้สถาบันการเงินรายงานเป้าหมายสินเชื่อตามมาตรการและยอดคงค้างสินเชื่อของลูกหนี้ เป็นรายเดือนภายใน 21 วันนับจากวันสิ้นเดือน เพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้
นอกจากจะช่วยอุ้มเอสเอ็มอีแล้ว แบงก์ชาติ ยังสั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระของประชาชน ดังนี้ 1.ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ แทนการคิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน
2. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น แทนการคิดบนฐานของเงินต้นคงเหลือ และให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัย ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด
3.ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรแก่ผู้ใช้บริการโดยไม่ต้องให้ผู้ใช้บริการร้องขอ จากเดิมที่ไม่มีการคืนส่วนต่างหรือคืนเมื่อร้องขอเท่านั้น
นอกจากนี้ แบงก์ชาติจะจัดให้มีการเปรียบเทียบข้อมูลอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของผู้ให้บริการแต่ละราย เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ใช้บริการและเพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เหมาะสมมากขึ้นด้วย
มาตรการอุ้มเอสเอ็มอีที่สำคัญระดับเป็นวาระแห่งชาติเพื่อเป็นเสาหลักเศรษฐกิจฐานราก พร้อมดัดหลังแบงก์ที่คิดค่าธรรมเนียมแพง โขกดอกโหดเกิน ถือเป็นของขวัญที่ได้ใจประชาชนไปเต็มๆ