ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - งบประมาณปี 2563 ยังต้องรอต่อไปก่อน เพราะยังอยู่ในขั้นกรรมาธิการสภาฯ ส่วนงบประมาณ ปี 2564 นั้น ไม่ต้องรอ เดินหน้ากันแล้ว
หลายวันก่อนเพิ่งมีหนังสือเวียนออกประกาศ สำหรับกรอบระยะเวลาการจัดทำแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดถือปฏิบัติ
ตามแผนพัฒนาจังหวัด (พ.ศ.2561-2565) ฉบับทบทวน แผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และแบบสรุปแผนงานโครงการที่จังหวัดขอรับการสนับสนุนจากกระทรวง กรมเพื่อดำเนินการให้สอดคล้องตาม ความต้องการของแผนจังหวัด
เป็นไปกรอบระยะเวลา ของงบประมาณ พ.ศ.2564 ของคณะกรรมการบูรณาการนโยบายพัฒนาภาค (ก.บ.ภ.)
เริ่มจาก 2-26 ธ.ค.62 จังหวัดและกลุ่มจังหวัด จัดทำแผนพัฒนาฯ และแผนปฏิบัติราชการฯ ภายใน 27 ธ.ค.62 จังหวัดและกลุ่มจังหวัดจัดส่งฯ ให้ ก.บ.ภ.
28 ธ.ค.62-12 ม.ค.63 ทีมบูรณาการกลางประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็นของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อประกอบการพิจารณากลั่นกรองแผนฯ
13-17 ม.ค.63 อ.ก.บ.ภ. ที่กำกับดูแลภาค ประชุมพิจารณากลั่นกรอง
24 ม.ค. 63 ก.บ.ภ. และ ก.น.จ. ประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบฯ โดยภายในเดือน ก.พ.63 คณะรัฐมนตรีพิจารณารับทราบแผนดังกล่าว
สำหรับตัวเลขของกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ก.บ.ภ. เห็นชอบ สำหรับงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ไว้ที่จำนวน 28,000 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการจัดสรรงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด กำหนดเป็น 70 : 30 จากกรอบงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 28,000 ล้านบาท แบ่งเป็น
(1) งบประมาณจังหวัด จำนวน ประมาณ 19,600 ล้านบาท (งบพัฒนาจังหวัด 18,905 ล้านบาท และงบบริหารจัดการของจังหวัด 695 ล้านบาท)
(2) งบประมาณกลุ่มจังหวัด จำนวนประมาณ 8,400 ล้านบาท (งบพัฒนากลุ่มจังหวัด 8,312 ล้านบาท และงบบริหารจัดการของกลุ่มจังหวัด 88 ล้านบาท)
ในส่วนของ "งบประมาณของจังหวัด" นั้น ตามกรอบนี้
ให้จังหวัดเสนอโครงการไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของกรอบการจัดสรรงบประมาณ หากเสนอเกินกรอบดังกล่าว จะพิจารณาตามลำดับความสำคัญของโครงการเฉพาะที่อยู่ในกรอบ วงเงินงบประมาณ 2 เท่า เท่านั้น
ในกรอบงบประมาณครั้งนี้ ยังกำหนด "องค์ประกอบในการจัดสรรงบประมาณจังหวัด" ประกอบด้วย
ให้ จัดสรรตามจำนวนประชากรของแต่ละจังหวัด (ร้อยละ 25) (ข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2561) ให้ จัดสรรเฉลี่ยเท่ากันทุกจังหวัด (ร้อยละ 20)
ให้ จัดสรรตามสัดส่วนคนจนในแต่ละจังหวัด (ร้อยละ 10) (ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2561) ให้ จัดสรรผกผันตามรายได้ต่อครัวเรือน (ร้อยละ 25) (ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560)
ให้ จัดสรรตามผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) (ร้อยละ 10) (ข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2560)
กำหนด ประลิทธิภาพการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ร้อยละ 5) (ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย)
ให้ จัดสรรตามประสิทธิภาพการบริหารงบประมาณของจังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 (ร้อยละ 5) (ข้อมูลจากสำนักงบประมาณ) โดยมีเกณฑ์ย่อยในการพิจารณา ดังนี้
ผลการเบิกจ่าย ณ สิ้นปีงบประมาณ 35 คะแนน ผลการก่อหนี้ผูกพันของงบลงทุน 30 คะแนน การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ 30 คะแนน และ ร้อยละการกันเงินไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี 5 คะแนน รวม 100 คะแนน
ในส่วนของ "งบประมาณของกลุ่มจังหวัด" มีการกำหนดสัดส่วนการจัดสรรงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบพัฒนากลุ่มจังหวัด แบ่งออกเป็น 2 ส่วน กำหนดสัดส่วนร้อยละ 40 : 40 ได้แก่
1) งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่เป็นการเพิ่มศักยภาพ ที่เป็นความต้องการรายพื้นที่ หรือแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นร่วมของกลุ่มจังหวัด
2) งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่เป็นการพัฒนาในลักษณะ cluster หรือตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลเชิงพื้นที่ ระดับกลุ่มจังหวัด
โดยในส่วน"งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด" ที่เป็นการเพิ่มศักยภาพที่เป็นความ ต้องการรายพื้นที่ หรือแก้ไขปัญหาที่เป็นประเด็นร่วมของกลุ่มจังหวัด วงเงินงบประมาณ 4,156 ล้านบาท
มีองค์ประกอบในการจัดสรรงบประมาณ ดังนี้ จัดสรรตามขนาดกลุ่มจังหวัด (ร้อยละ 40) จัดสรรตามผลิตภัณฑ์มวลรวมของกลุ่มจังหวัด (ร้อยละ 25) และจัดสรรผกผันกับผลิตภัณฑ์ต่อหัวของกลุ่มจังหวัด (ร้อยละ 25)
ทั้งนี้ กำหนดให้กลุ่มจังหวัดเสนอโครงการได้ไม่น้อยกว่า 1.5 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของกรอบการจัดสรรงบประมาณ โดยหากเสนอเกินกรอบดังกล่าว จะพิจารณาตามลำดับความสำคัญของโครงการ เฉพาะที่อยูในกรอบวงเงินงบประมาณ 2 เท่า เท่านั้น
ในที่นี้ "งบประมาณเพื่อขับเคลื่อนแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด" ที่เป็นการพัฒนาในลักษณะ duster หรือตอบสนองนโยบายสำคัญของรัฐบาลเชิงพื้นที่ ระดับกลุ่มจังหวัด วงเงินงบประมาณรวม 4,156 ล้านบาท
"โดยไม่มีการกำหนดกรอบการจัดสรรงบประมาณรายกลุ่มจังหวัด แต่จะพิจารณาเป็นรายโครงการ"
ทั้งนี้ โครงการที่เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณ ต้องเป็นโครงการที่อยู่ในแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด พ.ศ. 2561-2565 ที่มีลักษณะ ดังนี้
1) โครงการที่สนับสนุนการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาภาคให้บรรลุเ เป้าหมายการพัฒนาของแต่ละภาคโดยเป็นโครงการที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกันเพื่อก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่คุณค่า ทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ หรือ
2) โครงการที่อยู่ในมติการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ โครงการที่ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีในการตรวจราชการในพื้นที่ หรือโครงการที่สนับสนุน การขับเคลื่อนการพัฒนาตามนโยบายการพัฒนาเซิงพื้นที่ของรัฐบาล
"เช่น โครงการตามแนวทางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economics Corridor : SEC)โครงการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ และโครงการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง เป็นต้น"
ทั้งนี้ โครงการจะต้องมีความพร้อมในการดำเนินงาน โดยมีเอกสารยืนยันความพร้อม ทั้งใน เรื่องที่ดิน รูปแบบรายละเอียด บุคลากร และข้อตกลงกับหน่วยงานรับผิดขอบในการดำเนินงานและ การบำรุงรักษา และการปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งโครงการต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดทำโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ที่ ก.บ.ภ. ได้ให้ความเห็นชอบ และสามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หากเป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการเกิน 1 ปี ให้แบ่งการดำเนินการ เป็นระยะ ๆ ละ 1 ปี (Phasing)
สำหรับ การจัดสรรงบบริหารจัดการของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้รวมอยู่ภายใต้กรอบงบประมาณ ที่แต่ละจังหวัดและกลุ่มจังหวัดได้รับการจัดสรร แยกเป็น
กรณีของจังหวัด จัดสรรตามขนาดจังหวัด ซึ่งมี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ จัดสรรตามจำนวนอำเภอในจังหวัด (ร้อยละ 40) จัดสรรตามจำนวนประชากรในจังหวัด (ร้อยละ 30) และ จัดสรรตามขนาดพื้นที่ของจังหวัด (ร้อยละ 30) ซึ่งจากเกณฑ์ดังกล่าวสามารถแบ่งขนาดของจังหวัดได้เป็น 3 ขนาด ดังนี้
"จังหวัดขนาดใหญ่" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 10 ล้านบาท มีจำนวน 24 จังหวัด "จังหวัดขนาดกลาง" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 9 ล้านบาท มีจำนวน 39 จังหวัด "จังหวัดขนาดเล็ก" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 8 ล้านบาท มีจำนวน 13 จังหวัด รวมใช้งบบริหารจัดการของจังหวัด จำนวน 694 ล้านบาท
"กรณีของกลุ่มจังหวัด" ให้จัดสรรตามหลักเกณฑ์ ดังนี้ "กลุ่มจังหวัดที่มีจำนวนจังหวัด 3 จังหวัด" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 4 ล้านบาท "กลุ่มจังหวัดที่มีจำนวนจังหวัด 4-5 จังหวัด" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 5 ล้านบาท และ "กลุ่มจังหวัดที่มีจำนวนจังหวัด 6 จังหวัด" ให้ได้รับงบบริหารจัดการ 6 ล้านบาท รวมใช้งบบริหารจัดการของกลุ่มจังหวัด จำนวน 88 ล้านบาท
ทีนี้มาดู งบพัฒนากลุ่มจังหวัด และงบบริหารจัดการ แบ่งเป็น "ภาคเหนือ" ภาคเหนือตอนบนหนึ่ง รวมงบพัฒนาและงบบริหารจัดการ 206.6 ล้านบาท ภาคเหนือตอนบนสอง 216.9 ล้านบาท ภาคเหนือตอนล่างหนึ่ง 248.1 ล้านบาท และภาคเหนือตอนล่างสอง 204 ล้านบาท
"ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนหนึ่ง 248.9 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนสอง 192.9 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง 233 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหนึ่ง 244 ล้านบาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างสอง 240 ล้านบาท
"ภาคกลาง" ภาคกลางตอนบน 279.1 ล้านบาท ภาคกลางปริมณฑล 312.7 ล้านบาท ภาคกลางตอนล่างหนึ่ง 168.8 ล้านบาท ภาคกลางตอนล่างสอง 196.9 ล้านบาท
"ภาคตะวันออก" ภาคตะวันออกหนึ่ง325.4 ล้านบาท ภาคตะวันออกสอง 255.7 ล้านบาท
"ภาคใต้" ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย 262.3 ล้านบาท ภาคใต้ฝั่งอันดามัน 252.2 ล้านบาท และ"ภาคใต้ชายแดน"185.5 ล้านบาท
รวมทั้งสิ้น 4,244 ล้านบาท
ขณะที่กรอบจัดสรรงบประมาณ "จังหวัด" 76 จังหวัด ยกตัวอย่างจังหวัดใหญ่ ๆ จ.เชียงใหม่ 345.1 ล้านบาท จ.เชียงราย 338.2 ล้านบาท จ.ขอนแก่น 341.2 ล้านบาท จ.อุดรธานี 318.4 ล้านบาท จ.กาฬสินธุ์ 327.3 ล้านบาท จ.นครราชสีมา 425.4 ล้านบาท จ.อุบลราชธานี 323.1 ล้านบาท จ.บุรีรัมย์ 258.4 ล้านบาท จ.สุรินทร์ 320.1 ล้านบาท จ.ศรีสะเกษ 333.1 ล้านบาท จ.สมุทรปราการ 359.2 ล้านบาท จ.ชลบุรี 430.4 ล้านบาท จ.ระยอง 378 ล้านบาท จ.นครศรีธรรมราช 310.5 ล้านบาท จ.สงขลา 307 ล้านบาท
โดยทั้ง 76 จังหวัด จะได้รับการจัดสรรงบประมาณปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 19,600 ล้านบาท.