xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ทรัมป์” พลาดท่าฆ่า “โซไลมานี” เหมือนชนะ แต่สุดท้ายต้อง “ถอย”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ พล.ต.กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่าน ซึ่งถูกสังหารโดยปฏิบัติการโดรนของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.
ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - สถานการณ์ในตะวันออกกลางกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตามอง หลังจากสหรัฐฯ ส่งโดรนสังหารปลิดชีพ พล.ต. กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านดับคาขบวนรถที่สนามบินกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. นับเป็นการกระทำอุกอาจที่กระพือเสียงวิจารณ์ถึงความความบ้าระห่ำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่อิหร่านเปิดฉากแก้แค้นด้วยการยิงถล่มฐานทัพอเมริกันในอิรัก จนเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นในภูมิภาค

แต่แล้วผู้คนทั่วโลกก็กลับมาหายใจหายคอได้ทั่วท้อง เมื่อ ทรัมป์ ออกมาประกาศในวันพุธ (8 ม.ค.) ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารตอบโต้อิหร่าน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณปลดชนวนของวิกฤตครั้งนี้ และนำมาซึ่งคำถามมากมายว่า ทำไมทรัมป์ถึงตัดสินใจ “หยุด” ด้วยผิดวิสัยผู้นำอย่างเขา

ปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรน “เอ็มคิว-9 รีปเปอร์” เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ม.ค. ส่งผลให้ โซไลมานี และบุคคลอื่นๆ อีก 9 คนเสียชีวิต รวมถึง อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลัง Popular Mobilization Forces (PMF) ของอิรัก ซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทของโซไลมานี และถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐฯ

รัฐบาลอิหร่านประกาศจะ “แก้แค้นอย่างสาสม” ขณะเดียวกันก็ประกาศแต่งตั้งนายพล เอสมาอิล กานี (Esmail Ghaani) ขึ้นเป็นผู้บัญชาการหน่วยคุดส์คนใหม่

โซไลมานี ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนวีรบุรุษของอิหร่าน ด้วยบุคลิกที่กล้าหาญและมากบารมีจนเป็นที่รักใคร่ในหมู่ทหาร ครั้งหนึ่ง อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน เคยตั้งฉายาให้นายพลผู้นี้ว่าเป็น “ผู้สละชีพเพื่อการปฏิวัติที่ยังคงมีชีวิตอยู่” (living martyr of the revolution) ในขณะที่สหรัฐฯ มอง โซไลมานี เป็นเพียงฆาตกรที่อยู่เบื้องหลังแผนเข่นฆ่าทหารอเมริกัน

โซไลมานี เริ่มปฏิบัติภารกิจแนวหน้าในสงครามอิหร่าน-อิรักเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก่อนจะขึ้นมากุมอำนาจบัญชาการเหนือหน่วยคุดส์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง

ชื่อเสียงของนายพลผู้นี้เริ่มดังกระฉ่อนหลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกมากล่าวโทษเขาว่าอยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิดแบบติดตั้งข้างถนนเพื่อพุ่งเป้าเล่นงานทหารอเมริกันในอิรัก ภาพของ โซไลมานี ยังปรากฏอยู่ตามบัญชีอินสตาแกรมหรือถูกใช้เป็นภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือของพวกหัวรุนแรง และเวลานี้ก็ถูกนำขึ้นป้ายบิลบอร์ดเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านล้างแค้นให้แก่การสิ้นชีพของเขา

สำหรับหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” นั้นมีกำลังพลทั้งสิ้นราว 125,000 นาย อยู่ในสังกัดของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ (IRGC) ซึ่งมีลักษณะเสมือนเป็นกองทัพอีกกองทัพหนึ่งคู่ขนานไปกับกองทัพอิหร่าน ทว่าขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ทั้งนี้ IRGC ยังเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ โครงการขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ของอิหร่าน มีกองกำลังทางนาวีที่คอยเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนั้นยังมีกองกำลัง “บาซิจ” (Basij) ที่สมาชิกเป็นอาสาสมัครล้วนๆ

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน มีอำนาจอิทธิพลแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยมาทั้งทางการทหารและทางการเมืองในระยะ 2-3 ทศวรรษมานี้ ขณะที่กองทัพตามแบบแผนเดิมของอิหร่านถูกลดความสำคัญลง ทั้งจากการกำจัดพวกนายทหารเก่ายุคพระเจ้าชาห์ระหว่างการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 และจากการถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรในช่วงหลังจากนั้นมา

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมอิทธิพลให้แก่ IRGC มาจากการที่หน่วยรบพิเศษคุดส์ออกไปทำงานทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางร่วมกับกลุ่มหุ้นส่วนพันธมิตรต่างๆ เช่น กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นชาวอิรัก, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, และกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน โดยนำวิธีการต่อสู้แบบอสมมาตรมาใช้ตอบโต้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของอเมริกาในภูมิภาค

หลังการเสียชีวิตของโซไลมานี พล.อ. โกลามาลี อาบูฮัมเซห์ ผู้บัญชาการ IRGC ประกาศว่าอิหร่านมีแผนโจมตีทรัพย์สินของอเมริกา 35 จุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงที่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลซึ่งอยู่ในรัศมีโจมตีของขีปนาวุธอิหร่านด้วย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ออกมาขู่กลับว่าสหรัฐฯ กำลังเล็งเป้าหมายพื้นที่สำคัญ 52 จุดของอิหร่าน รวมถึงสถานที่ที่มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรม โดยเป้าหมาย 52 จุดนั้นแทนจำนวนคนอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ ที่เตหะรานเมื่อปลายปี 1979

“คนพวกนั้นได้รับไฟเขียวให้ฆ่าคนของเรา พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทรมานและตัดแขนขาพลเมืองของเรา พวกเขาสามารถซุกระเบิดเอาไว้ข้างถนนเพื่อโจมตีคนของเราได้ แล้วเราจะไม่มีสิทธิ์แตะต้องสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของพวกเขาหรือ? ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก” ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (5)

สำนักงานสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรีอิรักเผยแพร่ภาพรถยนต์ซึ่งถูกเพลิงไหม้ ภายหลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ใกล้ๆ สนามบินแบกแดดเมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค.
สมาชิกพรรคเดโมแครตออกมาวิจารณ์ ทรัมป์ ว่า “ขาดความยับยั้งชั่งใจ” และการใช้กำลังทหารทำลายสถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมในอิหร่านจะเข้าข่าย “ก่ออาชญากรรมสงคราม” ซึ่งกระแสทักท้วงเหล่านี้ทำให้ มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องออกมาย้ำหนักแน่นในวันจันทร์ (6) ว่ากองทัพอเมริกันจะไม่ทำอะไรที่ละเมิดกฎหมายสงครามอย่างแน่นอน ขณะที่ ทรัมป์ เองก็ยอมรับเสียงอ่อยในวันต่อมาว่าคงไม่สั่งทำลายแหล่งวัฒนธรรมของอิหร่านตามที่ขู่ไว้

ชาวอิหร่านนับล้านๆ คนออกมารวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงเตหะรานเมื่อวันจันทร์ (6) เพื่อร่วมแสดงความอาลัยในพิธีศพของนายพลโซไลมานี ขณะที่ผู้จัดงานคนหนึ่งประกาศเชิญชวนชาวอิหร่านให้ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 ดอลลาร์เพื่อให้ได้เงินถึง 80 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท ไว้เป็น “ค่าหัว” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

รัฐสภาอิหร่านยังได้ผ่านกฎหมายฉุกเฉินประกาศว่ากองกำลังอเมริกาทั่วโลกเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” รวมทั้งอนุมัติเพิ่มงบประมาณให้หน่วยคุดส์อีก 224 ล้านดอลลาร์

ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่าคำสั่งปลิดชีพ โซไลมานี เป็นการกระทำอย่างหุนหันพลันแล่นที่ไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามว่าสหรัฐฯ มีเหตุผลและความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนในการ “ลอบสังหาร” ครั้งนี้

มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ อ้างว่า โซไลมานี กำลังวางแผนโจมตีขนานใหญ่ต่อบุคลากรและทรัพย์สินของอเมริกา ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในเวลา “ไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ และไม่กี่เดือน” แต่ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยัน ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนที่ระบุว่า ข่าวกรองซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัด โซไลมานี นั้น “เบาบางอย่างยิ่ง” และความตายของนายพลผู้นี้ก็ไม่ได้ทำให้กองกำลังอิหร่านหมดพิษสงแต่อย่างใด
เอลิซาเบธ วอร์เรน ส.ว.หญิงจากพรรคเดโมแครตซึ่งสมัครเป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ปลายปีนี้ อ้างถึงทฤษฎี ‘wag the dog’ ซึ่งหมายถึงการที่ ทรัมป์ จงใจกระพือความขัดแย้งกับอิหร่านขึ้นมาในช่วงเวลานี้ เพื่อให้คนอเมริกันเลิกใส่ใจเรื่องที่เขาถูกรัฐสภาไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) และยังเป็นการเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มชาวอเมริกันขวาจัดในช่วงก่อนเลือกตั้งด้วย

เมื่อเช้าตรู่วันพุธ (8) อิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอเมริกัน 2 แห่งในอิรัก ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการครั้งแรกของเตหะรานเพื่อทำตามสัญญาที่จะแก้แค้นการลอบสังหารนายพลโซไลมานี

สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่ามีการยิงขีปนาวุธทั้งหมด 15 ลูกโจมตีฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายวอชิงตันระบุว่าที่ตั้งทหารอเมริกันอย่างน้อย 2 แห่งในอิรักโดนโจมตีเมื่อเวลา 1.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลอิรักอ้างว่ามีขีปนาวุธถูกยิงเข้ามามากถึง 22 ลูก

คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ชี้ว่าปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการ “ตบหน้าอเมริกาฉาดใหญ่” พร้อมไล่ตะเพิดทหารอเมริกันให้ออกไปจากตะวันออกกลางเสีย ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ประกาศกร้าวว่า เนื่องจากวอชิงตันสังหาร โซไลมานี ซึ่งเป็นเสมือน “แขน” ของอิหร่าน ดังนั้น “ขา” ของอเมริกาในภูมิภาคก็จะต้องถูกตัดด้วยเช่นกัน

สื่อทีวีของอิหร่านกลับระบุว่ามีพวก “ผู้ก่อการร้ายอเมริกัน” ถูกสังหารไป 80 คน และยังมีเฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์ของอเมริกาได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง แต่แหล่งข่าวสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีทหารอเมริกันบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่านในครั้งนี้

ปฏิบัติการแก้แค้นของอิหร่านทำให้สายการบินชั้นนำทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าอิหร่านและอิรัก ส่วนสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ก็สั่งห้ามไม่ให้สายการบินอเมริกันใช้เส้นทางเหนืออ่าวโอมานและน่านน้ำระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย “เนื่องจากกิจกรรมทางทหารและความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงต่อการบินพลเรือนของสหรัฐฯ”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายลงทันทีหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงตอบโต้การโจมตีของอิหร่านในวันพุธ (8) ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ทรัมป์ ไม่ได้ต้องการจะกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงไปกว่าที่เป็นอยู่

ประชาชนชาวอิหร่านที่เดินทางมาร่วมงานศพโซไลมานี
ทรัมป์ ปราศรัยต่อสื่อที่ทำเนียบขาวว่า ทหารอเมริกันทุกนายปลอดภัยและฐานทัพก็เสียหายเพียงน้อยเท่านั้น

“ดูเหมือนว่าอิหร่านจะหยุดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และดีต่อโลกใบนี้”

“การที่สหรัฐฯ มีกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลังยิ่งใหญ่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนำมันออกมาใช้ เราไม่ต้องการใช้มัน ความแข็งแกร่งของอเมริกาในด้านการทหารและเศรษฐกิจคือสิ่งป้องปรามที่ดีที่สุด”

ทรัมป์ ไม่ได้เอ่ยถึงการใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้อิหร่านเพิ่มเติม บอกแต่เพียงว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้นาโตเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น และเสนอให้กลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 และโน้มน้าวให้อิหร่านทำข้อตกลงใหม่ที่มีเงื่อนไขครอบคลุมกว่า

“ถึงเวลาแล้วที่สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน จะต้องตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้ เราจะต้องปลีกตัวออกจากเศษซากของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือที่เรียกว่า JCPOA” ทรัมป์ กล่าว “เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงกับอิหร่านที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัยและสงบสุขยิ่งกว่าเดิม”

ผู้นำสหรัฐฯ ยังส่งสารไปถึงอิหร่าน โดยระบุว่าอเมริกาอยากเห็นอิหร่าน “มีอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่” และสามารถอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างปรองดอง

“สหรัฐฯ พร้อมที่จะสร้างสันติภาพกับทุกๆ คนที่แสวงหามัน” ทรัมป์ กล่าว

ด้าน โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ก็ออกมาทวีตยอมรับว่าปฏิบัติการยิงถล่มฐานทัพในอิรักถือเป็น “บทสรุป” การแก้แค้นให้กับนายพลโซไลมานี “เราไม่ได้ต้องการยกระดับไปสู่สงคราม แต่เราจะปกป้องตนเองจากความก้าวร้าวทั้งหลาย”

รัฐบาลอิหร่านประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (5) ว่าจะยกเลิกข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งนับเป็นการถอยห่างออกไปอีกก้าวจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ 6 ประเทศ โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่า เตหะรานจะไม่เคารพข้อจำกัดที่ถูกระบุไว้ในข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges), ระดับความบริสุทธิ์ของยูเรเนียมที่สามารถผลิตได้, ปริมาณยูเรเนียมในสต็อก รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์

อย่างไรก็ดี อิหร่านย้ำว่ายังพร้อมที่จะ “กลับลำ” ได้อย่างรวดเร็ว ขอเพียงสหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

อิหร่านเริ่มทยอยละทิ้งเงื่อนไขของแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (The Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) หรือข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ไปทีละขั้น หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงฉบับนี้เมื่อปี 2018 และนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกลับมาใช้ใหม่จนกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน

ท่าทีประนีประนอมของ ทรัมป์ สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะไม่นำไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่อย่างที่หลายฝ่ายเกรงกลัว เนื่องจากอิหร่านเองก็ทราบดีว่าแสนยานุภาพทางทหารของตนเทียบสหรัฐฯ ไม่ติดดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ส่วน ทรัมป์ ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่าไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปพัวพันสงครามในตะวันออกกลางรวมทั้งรับรู้ดีกว่า ถ้าใช้กำลังทหารมากไปกว่านี้จะนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นความสุ่มเสี่ยงจะเกิด “วินาศกรรมในดินแดนอเมริกัน” และการดำรงอยู่ของ “ทหารสหรัฐฯ” ในดินแดนตะวันออกกลาง โดยเฉพาะใน “อิรัก”
ไมเคิล เทสเลอร์ บรรณาธิการ TMC ชี้ว่า สงครามกับอิหร่านไม่ใช่สิ่งที่ชาวอเมริกันต้องการ และไม่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วย

ทั้งนี้ ถ้าจะว่าไปแล้ว สหรัฐฯ กับอิหร่านเคยเป็น “มหามิตร” กันมาก่อน โดยสหรัฐฯ เข้าไปสัมปทานบ่อน้ำมันในอิหร่านจำนวนมาก และก็สหรัฐฯ ก็คือผู้ริเริ่ม “โครงการพัฒนานิวเคลียร์เพื่อสันติ” ให้อิหร่าน กระทั่งในปี 1979 “จุดเปลี่ยน” ก็เกิดขึ้น เมื่อมี “การปฏิวัติอิหร่าน” และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบกษัตริย์เป็นระบอบสาธารณรัฐอิสลาม ทำให้ “พระเจ้าชาห์” กษัตริย์อิหร่านซึ่งสหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ต้องลี้ภัยไปอยู่สหรัฐฯ ส่วนรัฐบาลอิหร่านก็ยึดสัมปทานน้ำมันและกิจการต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ เคยกุมบังเหียนอยู่มาดูแลเอง

อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน, ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน ประกอบพิธีละหมาดเหนือโลงบรรจุร่างของ พล.ต. กาเซ็ม โซไลมานี และ อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส ที่มหาวิทยาลัยเตหะราน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.

ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 8 ม.ค. หลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธโจมตีฐานทัพอเมริกันในอิรัก
ในอีกด้านหนึ่งที่กรุงแบกแดด รัฐสภาอิรักได้ลงมติเมื่อวันอาทิตย์ (5) ให้ขับไล่ทหารอเมริกันและกองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกนอกประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี อะเดล อับดุล มะห์ดี ที่เข้าร่วมการประชุมสภานัดพิเศษคราวนี้ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภา 168 คนที่สนับสนุนญัตติดังกล่าว กล่าวประณามการโจมตีของสหรัฐฯ ว่าเป็นการลอบสังหารทางการเมืองและละเมิดอธิปไตย

ทรัมป์ ออกมาตอบโต้มติของรัฐสภาอิรักด้วยการขู่แซงก์ชั่น และย้ำว่าอิรักจะต้อง “จ่ายเงินมหาศาล” คืนให้แก่วอชิงตันเพื่อเป็นค่าก่อสร้างฐานทัพอากาศที่นั่นหากทหารอเมริกันถูกขับไล่ ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม มาร์ค เอสเปอร์ ก็ยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนถอนทหารออกจากอิรัก

อิหร่านและสหรัฐฯ ต่างแก่งแย่งอิทธิพลในอิรักเรื่อยมา นับตั้งแต่วอชิงตันนำกองกำลังบุกอิรักและโค่น ซัดดัม ฮุสเซน ลงเมื่อปี 2003

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีทหารราว 5,200 นายประจำการอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ทั่วอิรัก เพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่กองกำลังท้องถิ่นในการสกัดกั้นการเกิดใหม่ของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลอิรักให้เข้าไปช่วยปราบไอเอสเมื่อปี 2014

ปฏิบัติการโจมตีของอิหร่านสร้างความวิตกกังวลต่อมหาอำนาจตะวันตก โดยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษกล่าวต่อรัฐสภาว่าอิหร่านไม่ควรทำการโจมตีที่ขาดการไตร่ตรองและอันตรายนี้อีก แล้วควรแสวงหาหนทางลดความตึงเครียด ขณะที่ฝรั่งเศสย้ำให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นและกระทำการใดๆ ด้วยความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับเยอรมนีที่เรียกร้องอิหร่านหยุดโหมกระพือความขัดแย้ง

ทางด้านจีนก็เรียกร้องให้อเมริกาและอิหร่านใช้ความอดทนอดกลั้น พร้อมย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจเป็นโอกาสดีสำหรับจีนที่จะกระชับสัมพันธ์อิหร่าน และขยายบทบาทในตะวันออกกลางเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกมองเป็นมหาอำนาจอันธพาล
และแน่นอนว่า เมื่อสหรัฐฯ-อิหร่าน เปิดแนวรบย่อมส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ไม่เพียงราคาน้ำมันพุ่ง แต่ยังลามไปถึงเศรษฐกิจโดยภาพรวมที่มีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด.


กำลังโหลดความคิดเห็น