รอยเตอร์ - รัฐสภาอิรักผ่านมติขับไล่ทหารอเมริกันและกองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกนอกประเทศ หลังเกิดกระแสต่อต้านรุนแรงต่อปฏิบัติการลอบสังหารนายพลคนสำคัญของอิหร่านในกรุงแบกแดด ขณะที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาย้ำคำขู่โจมตีสถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมของอิหร่านหากเตหะรานลงมือแก้แค้น
วิกฤตความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังส่อเค้ารุนแรงขึ้น เมื่อรัฐบาลอิหร่านประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งนับเป็นการถอยห่างออกไปอีกก้าวจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ 6 ประเทศ
กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติการในต่างแดนของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่าน (IRGC) และถือได้ว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลเบอร์ 2 ของประเทศรองจาก อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ถูกปลิดชีพเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3) โดยฝีมือสหรัฐฯ ซึ่งส่งโดรนไปโจมตีขบวนรถของเขาที่สนามบินกรุงแบกแดด นับเป็นปฏิบัติการอุกอาจที่ทำให้ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อิหร่านเลวร้ายถึงขีดสุดในรอบหลายปี
ในฐานะผู้นำหน่วยคุดส์ โซไลมานี ถือเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทางทหารของอิหร่านในต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายอิทธิพลของมุสลิมชีอะห์ผ่านกลุ่มติดอาวุธตัวแทนในภูมิภาคเพื่อคานอำนาจของสหรัฐฯ อิสราเอล และซาอุดีอาระเบีย
รัฐมนตรีอิหร่านคนหนึ่งออกมาตั้งฉายา ทรัมป์ ว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายในชุดสูท” หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความขู่จะโจมตีเป้าหมาย 52 แห่งในอิหร่านเมื่อวันเสาร์ (4) ซึ่งรวมถึงสถานที่ที่มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรม หากเตหะรานโจมตีบุคลากรหรือทรัพย์สินของอเมริกาเพื่อแก้แค้นให้ โซไลมานี
ระหว่างนั่งเครื่องบินแอร์ฟอร์ซวันจากรัฐฟลอริดากลับมายังวอชิงตันเมื่อค่ำวานนี้ (5) ทรัมป์ ได้ให้สัมภาษณ์ยืนยันคำขู่ของเขา
“คนพวกนั้นได้รับไฟเขียวให้ฆ่าคนของเรา พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทรมานและตัดแขนขาพลเมืองของเรา พวกเขาสามารถซุกระเบิดเอาไว้ข้างถนนเพื่อโจมตีคนของเราได้ แล้วเราจะไม่มีสิทธิ์แตะต้องสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของพวกเขาหรือ? ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก” ทรัมป์ กล่าว
สมาชิกพรรคเดโมแครตวิจารณ์คำสั่งโจมตีของ ทรัมป์ ว่า “ขาดความยับยั้งชั่งใจ” ขณะที่บางคนเตือนว่าการทำลายสถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมในอิหร่านอาจเข้าข่าย “ก่ออาชญากรรมสงคราม” และมีอีกหลายคนที่ตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ มอง โซไลมานี เป็นภัยคุกคามมานานแล้ว เหตุใดจึงจำเป็นต้องสังหารเขาในเวลานี้
ล่าสุด ผู้นำสหรัฐฯ ยังขู่จะใช้มาตรการแซงก์ชั่นกับอิรัก โดยระบุว่าหากมีการขับไล่ทหารอเมริกันออกนอกประเทศ รัฐบาลอิรักจะต้อง “จ่ายเงินมหาศาล” คืนให้แก่วอชิงตันเพื่อเป็นค่าฐานทัพอากาศที่นั่น
“เราจะใช้มาตรการคว่ำบาตรชนิดที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน และมันจะทำให้การแซงก์ชั่นอิหร่านดูเบาะๆ ไปเลย” ทรัมป์ กล่าว
เมื่อวานนี้ (5) รัฐสภาอิรักได้ผ่านมติเรียกร้องให้ถอนทหารต่างชาติทั้งหมดพ้นประเทศ ซึ่งสะท้อนความหวาดกลัวในหมู่ชาวอิรักว่าปฏิบัติการโจมตีเหมือนเช่นเมื่อวันศุกร์ที่แล้ว (3) อาจทำให้อิรักถูกดึงเข้าสู่สงครามครั้งใหม่
แม้มติลักษณะนี้จะไม่ได้มีผลบังคับให้รัฐบาลต้องทำตาม และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อน ทว่าตัวนายกรัฐมนตรี อะเดล อับดุล มะห์ดี เองก็ออกมาเรียกร้องให้สภาลงมติขับไล่ทหารต่างชาติออกไปให้เร็วที่สุด
อิหร่านและสหรัฐฯ ต่างแก่งแย่งอิทธิพลในอิรักเรื่อยมา นับตั้งแต่วอชิงตันนำกองกำลังบุกอิรักและโค่น ซัดดัม ฮุสเซน ลงเมื่อปี 2003
สหรัฐฯ มีทหารราว 5,200 นายประจำการอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ทั่วอิรัก เพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่กองกำลังท้องถิ่นในการสกัดกั้นการเกิดใหม่ของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลอิรักให้เข้าไปช่วยปราบปรามไอเอสเมื่อปี 2014
ทั้งนี้ ก่อนที่ ทรัมป์ จะให้สัมภาษณ์สื่อ โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้ออกมาชี้แจงว่า วอชิงตันกำลังรอคำอธิบายเกี่ยวกับข้อกฎหมายและผลกระทบจากมติของรัฐสภาอิรัก และเตือนผู้นำแบกแดดให้ทบทวนดูว่าความสัมพันธ์เชิงเศรษฐกิจและความมั่นคงกับสหรัฐฯ นั้นสำคัญเพียงใด
นายกฯ อับดุล มะห์ดี ระบุว่า แม้อิรักจะต้อง “เผชิญความยากลำบากทั้งภายในและนอกประเทศ” แต่การยกเลิกคำขอรับความช่วยเหลือจากกองกำลังต่างชาติที่นำโดยสหรัฐฯ “ยังคงเป็นสิ่งที่ที่สุดสำหรับอิรัก ทั้งในเชิงหลักการและการปฏิบัติ”
ผู้นำอิรักเผยด้วยว่า ตนมีกำหนดพบปะกับ โซไลมานี ในวันที่เขาถูกสังหาร โดยผู้บัญชาการหน่วยคุดส์ทำหน้าที่มาแจ้งคำตอบที่รัฐบาลอิหร่านมีต่อสาส์นของซาอุดีอาระเบียซึ่งอิรักเป็นผู้ส่งต่อให้กับเตหะรานก่อนหน้านั้น และอันที่จริงซาอุฯ ซึ่งเป็นมหาอำนาจนิกายสุหนี่กับรัฐมุสลิมชีอะห์อิหร่าน “เกือบจะบรรลุข้อตกลงฝ่าทางตันเกี่ยวกับสถานการณ์ในอิรักและภูมิภาคอยู่แล้ว”
ด้านกลุ่มมหาอำนาจ E3 ซึ่งได้แก่ ฝรั่งเศส, อังกฤษ และเยอรมนี วิงวอนให้อิหร่านยับยั้งการใช้ความรุนแรง และขอให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 พร้อมฝากข้อเรียกร้องไปถึงรัฐบาลอิรักให้มอบการสนับสนุนที่จำเป็นต่อกลุ่มพันธมิตรนานาชาติต่อไป