xs
xsm
sm
md
lg

Weekend Focus: ‘ทรัมป์’ ปัดใช้กำลังทหารตอบโต้ ‘อิหร่าน’ ปลดชนวนตึงเครียดหลังปลิดชีพ ‘ผบ.หน่วยคุดส์’

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐฯ และ พล.ต.กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ของอิหร่าน ซึ่งถูกสังหารโดยปฏิบัติการโดรนของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 3 ม.ค.
สถานการณ์ในตะวันออกกลางกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทั่วโลกจับตามอง หลังจากสหรัฐฯ ส่งโดรนสังหารปลิดชีพ พล.ต. กาเซ็ม โซไลมานี ผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษคุดส์ (Quds) แห่งกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิหร่านดับคาขบวนรถที่สนามบินกรุงแบกแดดเมื่อวันที่ 3 ม.ค. นับเป็นการกระทำอุกอาจที่กระพือเสียงวิจารณ์ถึงความความบ้าระห่ำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่อิหร่านเปิดฉากแก้แค้นด้วยการยิงถล่มฐานทัพอเมริกันในอิรัก จนเป็นที่หวั่นเกรงว่าอาจจะเกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นในภูมิภาค

แต่แล้วผู้คนทั่วโลกก็กลับมาหายใจหายคอได้ทั่วท้อง เมื่อ ทรัมป์ ออกมาประกาศในวันพุธ (8 ม.ค.) ว่าจะไม่ใช้กำลังทหารตอบโต้อิหร่าน ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณปลดชนวนของวิกฤตครั้งนี้

ปฏิบัติการโจมตีด้วยโดรน ‘เอ็มคิว-9 รีปเปอร์’ เมื่อช่วงกลางดึกของวันที่ 3 ม.ค. ส่งผลให้ โซไลมานี และบุคคลอื่นๆ อีก 9 คนเสียชีวิต รวมถึง อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลัง Popular Mobilization Forces (PMF) ของอิรักซึ่งเป็นผู้ช่วยคนสนิทของโซไลมานี และถูกขึ้นบัญชีดำเป็นผู้ก่อการร้ายทั้งในญี่ปุ่น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และสหรัฐฯ

รัฐบาลอิหร่านประกาศจะ “แก้แค้นอย่างสาสม” ขณะเดียวกันก็ประกาศแต่งตั้งนายพล เอสมาอิล กานี (Esmail Ghaani) ขึ้นเป็นผู้บัญชาการหน่วยคุดส์คนใหม่

โซไลมานี ได้รับการยกย่องว่าเป็นเสมือนวีรบุรุษของอิหร่าน ด้วยบุคลิกที่กล้าหาญและมากบารมีจนเป็นที่รักใคร่ในหมู่ทหาร ครั้งหนึ่ง อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน เคยตั้งฉายาให้นายพลผู้นี้ว่าเป็น “ผู้สละชีพเพื่อการปฏิวัติที่ยังคงมีชีวิตอยู่” (living martyr of the revolution) ในขณะที่สหรัฐฯ มอง โซไลมานี เป็นเพียงฆาตกรที่อยู่เบื้องหลังแผนเข่นฆ่าทหารอเมริกัน

โซไลมานี เริ่มปฏิบัติภารกิจแนวหน้าในสงครามอิหร่าน-อิรักเมื่อช่วงต้นทศวรรษ 1980 ก่อนจะขึ้นมากุมอำนาจบัญชาการเหนือหน่วยคุดส์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแผ่ขยายอิทธิพลของอิหร่านในตะวันออกกลาง

ชื่อเสียงของนายพลผู้นี้เริ่มดังกระฉ่อนหลังเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ออกมากล่าวโทษเขาว่าอยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิดแบบติดตั้งข้างถนนเพื่อพุ่งเป้าเล่นงานทหารอเมริกันในอิรัก ภาพของ โซไลมานี ยังปรากฏอยู่ตามบัญชีอินสตาแกรมหรือถูกใช้เป็นภาพหน้าจอโทรศัพท์มือถือของพวกหัวรุนแรง และเวลานี้ก็ถูกนำขึ้นป้ายบิลบอร์ดเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอิหร่านล้างแค้นให้แก่การสิ้นชีพของเขา

สำหรับหน่วยรบพิเศษ “คุดส์” นั้นมีกำลังพลทั้งสิ้นราว 125,000 นาย อยู่ในสังกัดของกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติ (IRGC) ซึ่งมีลักษณะเสมือนเป็นกองทัพอีกกองทัพหนึ่งคู่ขนานไปกับกองทัพอิหร่าน ทว่าขึ้นตรงต่อผู้นำสูงสุดคือ อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ทั้งนี้ IRGC ยังเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการขีปนาวุธทิ้งตัว (ballistic missile) ของอิหร่าน มีกองกำลังทางนาวีที่คอยเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหวของกองทัพเรือสหรัฐฯ ในอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนั้นยังมีกองกำลัง “บาซิจ” (Basij) ที่สมาชิกเป็นอาสาสมัครล้วนๆ

กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิหร่าน มีอำนาจอิทธิพลแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยมาทั้งทางการทหารและทางการเมืองในระยะ 2-3 ทศวรรษมานี้ ขณะที่กองทัพตามแบบแผนเดิมของอิหร่านถูกลดความสำคัญลง ทั้งจากการกำจัดพวกนายทหารเก่ายุคพระเจ้าชาห์ระหว่างการปฏิวัติอิสลามเมื่อปี 1979 และจากการถูกโลกตะวันตกคว่ำบาตรในช่วงหลังจากนั้นมา

ปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมอิทธิพลให้แก่ IRGC มาจากการที่หน่วยรบพิเศษคุดส์ออกไปทำงานทั่วภูมิภาคตะวันออกกลางร่วมกับกลุ่มหุ้นส่วนพันธมิตรต่างๆ เช่น กองกำลังติดอาวุธท้องถิ่นชาวอิรัก, กลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน, และกลุ่มกบฎฮูตีในเยเมน โดยนำวิธีการต่อสู้แบบอสมมาตรมาใช้ตอบโต้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรของอเมริกาในภูมิภาค

สำนักงานสื่อมวลชนของนายกรัฐมนตรีอิรักเผยแพร่ภาพรถยนต์ซึ่งถูกเพลิงไหม้ ภายหลังปฏิบัติการโจมตีทางอากาศของสหรัฐฯ ใกล้ๆ สนามบินแบกแดดเมื่อเช้าวันที่ 3 ม.ค.
หลังการเสียชีวิตของโซไลมานี พล.อ. โกลามาลี อาบูฮัมเซห์ ผู้บัญชาการ IRGC ประกาศว่าอิหร่านมีแผนโจมตีทรัพย์สินของอเมริกา 35 จุดในภูมิภาคตะวันออกกลาง รวมถึงที่กรุงเทลอาวีฟ เมืองหลวงของอิสราเอลซึ่งอยู่ในรัศมีโจมตีของขีปนาวุธอิหร่านด้วย ซึ่งหลังจากนั้นไม่นานประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้ออกมาขู่กลับว่าสหรัฐฯ กำลังเล็งเป้าหมายพื้นที่สำคัญ 52 จุดของอิหร่าน รวมถึงสถานที่ที่มีความสำคัญเชิงวัฒนธรรม โดยเป้าหมาย 52 จุดนั้นแทนจำนวนคนอเมริกันที่ถูกจับเป็นตัวประกันในสถานทูตสหรัฐฯ ที่เตหะรานเมื่อปลายปี 1979

“คนพวกนั้นได้รับไฟเขียวให้ฆ่าคนของเรา พวกเขาได้รับอนุญาตให้ทรมานและตัดแขนขาพลเมืองของเรา พวกเขาสามารถซุกระเบิดเอาไว้ข้างถนนเพื่อโจมตีคนของเราได้ แล้วเราจะไม่มีสิทธิ์แตะต้องสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรมของพวกเขาหรือ? ไม่ใช่อย่างนั้นหรอก” ทรัมป์ ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอาทิตย์ (5)

สมาชิกพรรคเดโมแครตออกมาวิจารณ์ ทรัมป์ ว่า “ขาดความยับยั้งชั่งใจ” และการใช้กำลังทหารทำลายสถานที่สำคัญเชิงวัฒนธรรมในอิหร่านจะเข้าข่าย “ก่ออาชญากรรมสงคราม” ซึ่งกระแสทักท้วงเหล่านี้ทำให้ มาร์ค เอสเปอร์ รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ต้องออกมาย้ำหนักแน่นในวันจันทร์ (6) ว่ากองทัพอเมริกันจะไม่ทำอะไรที่ละเมิดกฎหมายสงครามอย่างแน่นอน ขณะที่ ทรัมป์ เองก็ยอมรับเสียงอ่อยในวันต่อมาว่าคงไม่สั่งทำลายแหล่งวัฒนธรรมของอิหร่านตามที่ขู่ไว้

ชาวอิหร่านนับล้านๆ คนออกมารวมตัวกันบนท้องถนนในกรุงเตหะรานเมื่อวันจันทร์ (6) เพื่อร่วมแสดงความอาลัยในพิธีศพของนายพลโซไลมานี ขณะที่ผู้จัดงานคนหนึ่งประกาศเชิญชวนชาวอิหร่านให้ร่วมกันบริจาคเงินคนละ 1 ดอลลาร์เพื่อให้ได้เงินถึง 80 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท ไว้เป็น “ค่าหัว” ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์

รัฐสภาอิหร่านยังได้ผ่านกฎหมายฉุกเฉินประกาศว่ากองกำลังอเมริกาทั่วโลกเป็น “กลุ่มก่อการร้าย” รวมทั้งอนุมัติเพิ่มงบประมาณให้หน่วยคุดส์อีก 224 ล้านดอลลาร์

สำนักข่าวทางการอิหร่านเผยแพร่ภาพปฏิบัติการยิงจรวดโจมตีฐานทัพอเมริกันในเมือง อัยน์ อัล-อาซาด ของอิรัก
ผู้สังเกตการณ์ส่วนใหญ่มองว่าคำสั่งปลิดชีพ โซไลมานี เป็นการกระทำอย่างหุนหันพลันแล่นที่ไร้ซึ่งยุทธศาสตร์ ทั้งยังก่อให้เกิดคำถามว่าสหรัฐฯ มีเหตุผลและความชอบธรรมมากน้อยแค่ไหนในการ “ลอบสังหาร” ครั้งนี้

มาร์ค มิลลีย์ ประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมสหรัฐฯ อ้างว่า โซไลมานี กำลังวางแผนโจมตีขนานใหญ่ต่อบุคลากรและทรัพย์สินของอเมริกา ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายในเวลา “ไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ และไม่กี่เดือน” แต่ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานยืนยัน ขณะที่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทม์สอ้างข้อมูลจากเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บางคนที่ระบุว่า ข่าวกรองซึ่งถูกใช้เป็นข้ออ้างในการกำจัด โซไลมานี นั้น “เบาบางอย่างยิ่ง” และความตายของนายพลผู้นี้ก็ไม่ได้ทำให้กองกำลังอิหร่านหมดพิษสงแต่อย่างใด

เอลิซาเบธ วอร์เรน ส.ว.หญิงจากพรรคเดโมแครตซึ่งสมัครเป็นตัวแทนลงชิงเก้าอี้ผู้นำสหรัฐฯ ปลายปีนี้ อ้างถึงทฤษฎี ‘wag the dog’ ซึ่งหมายถึงการที่ ทรัมป์ จงใจกระพือความขัดแย้งกับอิหร่านขึ้นมาในช่วงเวลานี้ เพื่อให้คนอเมริกันเลิกใส่ใจเรื่องที่เขาถูกรัฐสภาไต่สวนเพื่อถอดถอนออกจากตำแหน่ง (impeachment) และยังเป็นการเรียกคะแนนนิยมจากกลุ่มชาวอเมริกันขวาจัดในช่วงก่อนเลือกตั้งด้วย

เมื่อเช้าตรู่วันพุธ (8) อิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธถล่มฐานทัพอเมริกัน 2 แห่งในอิรัก ซึ่งถือเป็นปฏิบัติการครั้งแรกของเตหะรานเพื่อทำตามสัญญาที่จะแก้แค้นการลอบสังหารนายพลโซไลมานี

สถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่ามีการยิงขีปนาวุธทั้งหมด 15 ลูกโจมตีฐานที่มั่นของสหรัฐฯ ขณะที่ฝ่ายวอชิงตันระบุว่าที่ตั้งทหารอเมริกันอย่างน้อย 2 แห่งในอิรักโดนโจมตีเมื่อเวลา 1.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ส่วนรัฐบาลอิรักอ้างว่ามีขีปนาวุธถูกยิงเข้ามามากถึง 22 ลูก

คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน ชี้ว่าปฏิบัติการโจมตีครั้งนี้ถือเป็นการ “ตบหน้าอเมริกาฉาดใหญ่” พร้อมไล่ตะเพิดทหารอเมริกันให้ออกไปจากตะวันออกกลางเสีย ขณะที่ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี ประกาศกร้าวว่า เนื่องจากวอชิงตันสังหาร โซไลมานี ซึ่งเป็นเสมือน “แขน” ของอิหร่าน ดังนั้น “ขา” ของอเมริกาในภูมิภาคก็จะต้องถูกตัดด้วยเช่นกัน

อยาตอลเลาะห์ อาลี คอเมเนอี ผู้นำสูงสุดอิหร่าน, ประธานาธิบดี ฮัสซัน รูฮานี และบรรดาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของอิหร่าน ประกอบพิธีละหมาดเหนือโลงบรรจุร่างของ พล.ต. กาเซ็ม โซไลมานี และ อบู มะห์ดี อัล-มุฮันดิส ที่มหาวิทยาลัยเตหะราน เมื่อวันที่ 6 ม.ค.
สื่อทีวีของอิหร่านกลับระบุว่ามีพวก “ผู้ก่อการร้ายอเมริกัน” ถูกสังหารไป 80 คน และยังมีเฮลิคอปเตอร์และยุทโธปกรณ์ของอเมริกาได้รับความเสียหายจำนวนหนึ่ง แต่แหล่งข่าวสหรัฐฯ ยืนยันว่าไม่มีทหารอเมริกันบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการโจมตีของอิหร่านในครั้งนี้

ปฏิบัติการแก้แค้นของอิหร่านทำให้สายการบินชั้นนำทั่วโลกต้องปรับเปลี่ยนเส้นทางบินเพื่อหลีกเลี่ยงน่านฟ้าอิหร่านและอิรัก ส่วนสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐฯ (FAA) ก็สั่งห้ามไม่ให้สายการบินอเมริกันใช้เส้นทางเหนืออ่าวโอมานและน่านน้ำระหว่างอิหร่านกับซาอุดีอาระเบีย “เนื่องจากกิจกรรมทางทหารและความตึงเครียดทางการเมืองที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลาง ซึ่งอาจก่อความเสี่ยงต่อการบินพลเรือนของสหรัฐฯ”

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายลงทันทีหลังจากที่ผู้นำสหรัฐฯ ออกมาแถลงตอบโต้การโจมตีของอิหร่านในวันพุธ (8) ซึ่งสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า ทรัมป์ ไม่ได้ต้องการจะกระพือความขัดแย้งให้รุนแรงไปกว่าที่เป็นอยู่

ทรัมป์ ปราศรัยต่อสื่อที่ทำเนียบขาวว่า ทหารอเมริกันทุกนายปลอดภัยและฐานทัพก็เสียหายเพียงน้อยเท่านั้น “ดูเหมือนว่าอิหร่านจะหยุดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และดีต่อโลกใบนี้”

“การที่สหรัฐฯ มีกองทัพและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงพลังยิ่งใหญ่ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องนำมันออกมาใช้ เราไม่ต้องการใช้มัน ความแข็งแกร่งของอเมริกาในด้านการทหารและเศรษฐกิจคือสิ่งป้องปรามที่ดีที่สุด”

ทรัมป์ ไม่ได้เอ่ยถึงการใช้ปฏิบัติการทางทหารตอบโต้อิหร่านเพิ่มเติม บอกแต่เพียงว่าจะเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจซึ่งก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงอะไร พร้อมกันนั้นก็เรียกร้องให้นาโตเข้าไปมีบทบาทในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น และเสนอให้กลุ่มมหาอำนาจ P5+1 ถอนตัวออกจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 และโน้มน้าวให้อิหร่านทำข้อตกลงใหม่ที่มีเงื่อนไขครอบคลุมกว่า

“ถึงเวลาแล้วที่สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, รัสเซีย และจีน จะต้องตระหนักถึงความเป็นจริงข้อนี้ เราจะต้องปลีกตัวออกจากเศษซากของข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน หรือที่เรียกว่า JCPOA” ทรัมป์ กล่าว “เราจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้ได้ข้อตกลงกับอิหร่านที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัยและสงบสุขยิ่งกว่าเดิม”

ผู้นำสหรัฐฯ ยังส่งสารไปถึงอิหร่าน โดยระบุว่าอเมริกาอยากเห็นอิหร่าน “มีอนาคตที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งใหญ่” และสามารถอยู่ร่วมกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างปรองดอง

“สหรัฐฯ พร้อมที่จะสร้างสันติภาพกับทุกๆ คนที่แสวงหามัน” ทรัมป์ กล่าว

ด้าน โมฮัมหมัด จาวัด ซารีฟ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอิหร่าน ก็ออกมาทวีตยอมรับว่าปฏิบัติการยิงถล่มฐานทัพในอิรักถือเป็น “บทสรุป” การแก้แค้นให้กับนายพลโซไลมานี “เราไม่ได้ต้องการยกระดับไปสู่สงคราม แต่เราจะปกป้องตนเองจากความก้าวร้าวทั้งหลาย”


รัฐบาลอิหร่านประกาศเมื่อวันอาทิตย์ (5) ว่าจะยกเลิกข้อจำกัดในการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ซึ่งนับเป็นการถอยห่างออกไปอีกก้าวจากข้อตกลงควบคุมนิวเคลียร์ปี 2015 ที่ทำร่วมกับกลุ่มมหาอำนาจ 6 ประเทศ โดยสถานีโทรทัศน์แห่งชาติอิหร่านรายงานว่า เตหะรานจะไม่เคารพข้อจำกัดที่ถูกระบุไว้ในข้อตกลง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของจำนวนเครื่องหมุนเหวี่ยงวัสดุนิวเคลียร์ (centrifuges), ระดับความบริสุทธิ์ของยูเรเนียมที่สามารถผลิตได้, ปริมาณยูเรเนียมในสต็อก รวมไปถึงกิจกรรมเพื่อการวิจัยและพัฒนานิวเคลียร์

อย่างไรก็ดี อิหร่านย้ำว่ายังพร้อมที่จะ “กลับลำ” ได้อย่างรวดเร็ว ขอเพียงสหรัฐฯ ยอมยกเลิกมาตรการคว่ำบาตร

อิหร่านเริ่มทยอยละทิ้งเงื่อนไขของแผนปฏิบัติการเบ็ดเสร็จร่วม (The Joint Comprehensive Plan of Action - JCPOA) หรือข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2015 ไปทีละขั้น หลังจากที่ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ นำสหรัฐฯ ถอนตัวฝ่ายเดียวออกจากข้อตกลงฉบับนี้เมื่อปี 2018 และนำมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกลับมาใช้ใหม่จนกระทบต่อการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน

ท่าทีประนีประนอมของ ทรัมป์ สอดคล้องกับมุมมองของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ที่เชื่อว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะไม่นำไปสู่สงครามโลกครั้งใหม่อย่างที่หลายฝ่ายเกรงกลัว เนื่องจากอิหร่านเองก็ทราบดีว่าแสนยานุภาพทางทหารของตนเทียบสหรัฐฯ ไม่ติด ส่วน ทรัมป์ ก็ประกาศจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่าไม่ต้องการให้สหรัฐฯ เข้าไปพัวพันสงครามในตะวันออกกลาง

ไมเคิล เทสเลอร์ บรรณาธิการ TMC ชี้ว่า สงครามกับอิหร่านไม่ใช่สิ่งที่ชาวอเมริกันต้องการ และไม่น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยที่สองด้วย

ในอีกด้านหนึ่งที่กรุงแบกแดด รัฐสภาอิรักได้ลงมติเมื่อวันอาทิตย์ (5) ให้ขับไล่ทหารอเมริกันและกองกำลังต่างชาติทั้งหมดออกนอกประเทศ โดยนายกรัฐมนตรี อะเดล อับดุล มะห์ดี ที่เข้าร่วมการประชุมสภานัดพิเศษคราวนี้ และเป็นหนึ่งในสมาชิกสภา 168 คนที่สนับสนุนญัตติดังกล่าว กล่าวประณามการโจมตีของสหรัฐฯ ว่าเป็นการลอบสังหารทางการเมืองและละเมิดอธิปไตย

ทรัมป์ ออกมาตอบโต้มติของรัฐสภาอิรักด้วยการขู่แซงก์ชั่น และย้ำว่าอิรักจะต้อง “จ่ายเงินมหาศาล” คืนให้แก่วอชิงตันเพื่อเป็นค่าก่อสร้างฐานทัพอากาศที่นั่นหากทหารอเมริกันถูกขับไล่ ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหม มาร์ค เอสเปอร์ ก็ยืนยันว่าสหรัฐฯ ไม่มีแผนถอนทหารออกจากอิรัก

อิหร่านและสหรัฐฯ ต่างแก่งแย่งอิทธิพลในอิรักเรื่อยมา นับตั้งแต่วอชิงตันนำกองกำลังบุกอิรักและโค่น ซัดดัม ฮุสเซน ลงเมื่อปี 2003

ปัจจุบันสหรัฐฯ มีทหารราว 5,200 นายประจำการอยู่ตามฐานทัพต่างๆ ทั่วอิรัก เพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาแก่กองกำลังท้องถิ่นในการสกัดกั้นการเกิดใหม่ของกลุ่มติดอาวุธรัฐอิสลาม (ไอเอส) โดยทหารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรนานาชาติที่ได้รับเชิญจากรัฐบาลอิรักให้เข้าไปช่วยปราบไอเอสเมื่อปี 2014

ปฏิบัติการโจมตีของอิหร่านสร้างความวิตกกังวลต่อมหาอำนาจตะวันตก โดยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน แห่งอังกฤษกล่าวต่อรัฐสภาว่าอิหร่านไม่ควรทำการโจมตีที่ขาดการไตร่ตรองและอันตรายนี้อีก แล้วควรแสวงหาหนทางลดความตึงเครียด ขณะที่ฝรั่งเศสย้ำให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้นและกระทำการใดๆ ด้วยความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับเยอรมนีที่เรียกร้องอิหร่านหยุดโหมกระพือความขัดแย้ง

ทางด้านจีนก็เรียกร้องให้อเมริกาและอิหร่านใช้ความอดทนอดกลั้น พร้อมย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใดเลย ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าความขัดแย้งครั้งนี้อาจเป็นโอกาสดีสำหรับจีนที่จะกระชับสัมพันธ์อิหร่าน และขยายบทบาทในตะวันออกกลางเพื่อถ่วงดุลกับสหรัฐฯ ซึ่งกำลังถูกมองเป็นมหาอำนาจอันธพาล


กำลังโหลดความคิดเห็น