xs
xsm
sm
md
lg

การอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ปัญญาพลวัตร"
"พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต"

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในอดีต บางครั้งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญทางการเมือง แต่บางครั้งก็ไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดขึ้นมา แต่สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะถึงนี้ ผมคิดว่าความเป็นไปได้ที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว

ในระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลนอกจากอาศัยการเลือกตั้งแล้ว การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นวิธีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและรัฐมนตรีที่มีความชอบธรรมและถูกกฎหมาย ดังนั้นพรรคการเมืองฝ่ายค้านจึงมักอาศัยกลไกนี้ทุกครั้งที่มีโอกาส การอภิปรายไม่ไว้วางใจมีสองประเภทหลักคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเฉพาะตัวเป็นรายบุคคล และการอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ

เป้าหมายสูงสุดของการอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการเปลี่ยนแปลงคณะรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นในกรณีที่ฝ่ายค้านเปิดอภิปรายรัฐบาลทั้งคณะและรัฐบาลพ่ายแพ้ในการลงมติไม่ไว้วางใจ ผลที่ตามมาคือคณะรัฐมนตรีต้องพ้นหน้าที่ไปทั้งคณะ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านที่จะยื่นญัตติในเดือนมกราคม 2563 นี้คาดว่ามิได้อภิปรายทั้งคณะ หากแต่เป็นเฉพาะรายบุคคล

การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลมีเป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีแต่ละคนจะสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีหากสภาผู้แทนราษฎรลงมติไม่ไว้วางใจ แต่สิ่งที่สำคัญคือหากรัฐมนตรีผู้นั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยแล้ว ก็หมายความว่าคณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องสิ้นสุดตามไปด้วย สำหรับการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้นเร็ว ๆ แม้ว่าจะเป็นการอภิปรายเฉพาะตัวบุคคล แต่มีรายชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นหนึ่งในนั้นด้วย ดังนั้นหากการลงมติออกมาว่า สภาผู้แทนราษฎรไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ รัฐบาลก็คงต้องถึงจุดจบตามไปด้วย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นเกมการเมืองที่มีเดิมพันสูง ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลจึงต้องมีการกำหนดยุทธศาสตร์อย่างเข้มข้น เพื่อเอาชนะอีกฝ่ายคู่แข่งให้ได้ อันที่จริงโครงสร้างการเมืองในระบบรัฐสภานั้น ฝ่ายรัฐบาลสามารถเอาชนะฝ่ายค้านได้ไม่ยากนัก เพราะมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรมากกว่าฝ่ายค้านอยู่แล้ว และจะยิ่งง่ายขึ้นไปอีกหากเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากพรรคเดียว แต่ในกรณีที่เป็นรัฐบาลผสมหลายพรรคจะมีปัจจัยที่ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมา และระดับความยากลำบากในการเอาชนะฝ่ายค้านก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ในช่วงสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยเกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งเกิดขึ้นสองครั้งคือสมัยรัฐบาลชวนในปี 2538 และรัฐบาลบรรหารในปี 2539

กรณีรัฐบาลชวน ฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 17-18 พฤษภาคม 2538ประเด็นที่ฝ่ายค้านนำมาอภิปรายและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเสถียรภาพรัฐบาลคือ การที่พรรคแกนนำรัฐบาลเอาที่ดิน ส.ป.ก.4-01มอบแก่เศรษฐีที่เป็นพวกพ้องตนเองในจังหวัดภูเก็ต หลังการอภิปรายพรรคพลังธรรมซึ่งอยู่ในรัฐบาลผสมด้วยตัดสินใจงดออกเสียงในการลงมติไม่ไว้วางใจ และประกาศถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล และส่งผลให้นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 พฤษภาคม 2538 ก่อนมีการลงมติไม่ไว้วางใจไม่กี่ชั่วโมง

สำหรับรัฐบาลบรรหาร ซึ่งเป็นรัฐบาลผสมเช่นเดียวกัน บริหารประเทศต่อจากรัฐบาลชวนเพียงปีเศษเท่านั้นก็ถูกฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งเกิดขึ้นช่วงวันที่ 19-20 กันยายน 2539 ระหว่างการอภิปราย รัฐบาลเกิดความแตกแยกกันเองภายในอย่างหนักหน่วง ในวันที่ 21 กันยายน ก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจเพียงไม่กี่ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาลมีมติให้นายบรรหารลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนลงมติไม่ไว้วางใจ แต่นายบรรหารตัดสินใจยุบสภาผู้แทนราษฎรแทน

เมื่อประเมินว่ารัฐบาลจะแพ้ ในการลงมติไม่ไว้วางใจ นายกรัฐมนตรีมักตัดสินใจยุบสภาก่อนมีการลงมติไม่ไว้วางใจเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่ารัฐบาลพ้นหน้าที่เนื่องจากถูกลงมติไม่ไว้วางใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าอับอายและสะท้อนถึงความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลที่ต้องถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากบทเรียนดังกล่าว การร่างรัฐธรรมนูญในฉบับต่อ ๆ มา จึงมักกำหนดเอาไว้ว่า เมื่อมีการเสนอญัตติไม่ไว้วางใจแล้ว จะมีการยุบสภาไม่ได้ เว้นแต่จะมีการถอนญัตติ หรือมีการลงมติเสร็จสิ้นแล้วและรัฐบาลต้องชนะในมติไม่ไว้วางใจด้วย แต่ถ้าหากรัฐบาลแพ้ในการลงมติ รัฐบาลต้องพ้นหน้าที่ไปและไม่สามารถยุบสภาได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งล่าสุดคือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในปลายปี 2556 ถึงแม้ว่าเป็นรัฐบาลผสม แต่พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนหลักมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งหนึ่ง ดังนั้นจึงมีอำนาจการต่อรองสูง และหลังการอภิปรายรัฐบาลเอาชนะฝ่ายค้านได้ไม่ยากนัก และไม่เกิดผลกระทบทางการเมืองที่เกิดจากการอภิปรายแต่อย่างใด ทว่าหลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ประกาศยุบสภา แต่ด้วยสาเหตุอื่น มิใช่จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังจะเกิดขึ้นในครั้งนี้ รัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม มีเสียงเกินครึ่งเพียงเล็กน้อย และที่สำคัญคือพรรคแกนนำมีเสียงเพียงร้อยกว่าเสียงเท่านั้น ห่างไกลจากครึ่งหนึ่งของสภาฯอยู่มากโข แต่เนื่องจากบริบทการเมืองในยุคนี้แตกต่างจากช่วงระหว่างปี 2538 และ 253 กล่าวคือในช่วงนี้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งจากคณะรัฐประหารและมีกลไกทางอำนาจบางอย่างที่มีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐบาลพลเรือนในยุคก่อน ทำให้พรรคร่วมรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจเบี่ยงเบนจากแนวทางที่ผู้นำรัฐบาลกำหนด รัฐบาลจึงมีโอกาสสูงในการเอาชนะฝ่ายค้าน

นอกจากนั้นในพรรคฝ่ายค้านเองก็มีปัญหาที่ส่งผลให้การเอาชนะรัฐบาลมีความยากลำบากมากขึ้น นั่นคือพรรคฝ่ายค้านบางพรรคมีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่เรียกว่า “งูเห่า” ซ่อนเร้นอยู่ภายในและพร้อมจะแปรพักตร์ไปสนับสนุนรัฐบาลได้ทุกเวลา ขณะที่บางพรรคก็กำลังเผชิญหน้ากับการถูกยื่นให้ยุบพรรค ซึ่งหากการยุบพรรคเกิดขึ้นจริงและเกิดก่อนการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ส.ส. พรรคนี้ต้องหาพรรคใหม่สังกัด และมีความเป็นไปได้ว่า ส.ส.บางคนอาจไปอยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ซึ่งจะทำให้เสียงของฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเพิ่มขึ้นไม่น้อยทีเดียว

แต่ก็มีความเป็นไปได้เช่นกันแม้จะไม่สูงนักว่า การอภิปรายไม่ไว้วางใจอาจทำให้เกิดความแตกแยกภายในพรรคร่วมรัฐบาล หากข้อมูลและเหตุผลของฝ่ายค้านมีน้ำหนักเพียงพอที่ทำให้รัฐมนตรีผู้ถูกอภิปรายสูญเสียความชอบธรรมทางการเมืองจนยากแก่การเยียวยา เช่นนั้นแล้ว อาจทำให้พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคตัดสินใจงดออกเสียงในการลงมติไม่ไว้วางใจต่อรัฐมนตรีบางคน จนทำให้ได้รับเสียงไว้วางใจน้อยกว่าผู้อื่น หรืออาจหนักหน่วงถึงขั้นแพ้มติไม่ไว้วางใจก็เป็นได้ ซึ่งจะทำรัฐมนตรีผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งไปทันที

ถึงแม้ว่ารัฐบาลสามารถเอาชนะการลงมติไม่ไว้วางใจได้ แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่อาศัยข้อมูล ข้อเท็จจริงและเหตุผลที่หนักแน่นก็จะทำให้รัฐบาลต้องสูญเสียความน่าเชื่อถือและทำให้ความชอบธรรมที่มีอยู่ไม่มากนัก ถดถอยหนักยิ่งขึ้น อันที่จริง แม้ไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจความนิยมของประชาชนต่อพลเอกประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐก็ลดลงตามลำดับ เพราะไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศได้ ทั้งยังถูกมองว่าใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมและมุ่งโอบอุ้มพวกพ้องอย่างน่าเกลียดอีกด้วย

หลักฐานของความเสื่อมความนิยมเห็นได้อย่างชัดเจนจากผลการสำรวจของนิด้าโพลเมื่อปลายปี 2562 ซึ่งชี้อย่างชัดเจนว่าคะแนนนิยมต่อตัวนายกรัฐมนตรีลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเคยที่ได้รับมากกว่านักการเมืองคู่แข่งอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กลับกลายเป็นได้น้อยกว่า และที่สำคัญพรรคพลังประชารัฐอันเป็นพรรคแกนนำรัฐบาลก็ได้รับความนิยมเป็นลำดับสามรองจากพรรคอนาคตใหม่และพรรคเพื่อไทยที่เป็นพรรคฝ่ายค้านอีกด้วย

การอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำลังเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศให้ความสนใจและจับตาดูอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าฝ่ายค้านไม่อาจเอาชนะเสียงของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรได้ แต่คาดว่าจะทำให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลไม่น้อยทีเดียว หากฝ่ายค้านสามารถนำเสนอข้อมูลหลักฐานที่เป็นรูปธรรมและเหตุผลการอภิปรายที่หนักแน่น และประชาชนที่ได้รับข้อมูลเห็นด้วยกับฝ่ายค้านและร่วมแสดงความคิดเห็นวิจารณ์รัฐบาลทางสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะทำให้พลังของแรงกดดันต่อรัฐบาลมากยิ่งขึ้นไปอีก

และหากแรงกดดันจากสังคมมีมากเพียงพอ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องตัดสินใจบางสิ่งบางอย่างทางการเมือง เพื่อลดแรงกดดัน อย่างน้อยที่สุดคือการปรับรัฐมนตรีหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือหากทนแรงกดดันไม่ได้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า นายกรัฐมนตรีอาจยุบสภาหรือลาออกก็ได้

การอภิปรายไม่ไว้วางใจในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่งครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น