เมืองไทย 360 องศา
“ผมยังอยู่อีกนาน อย่าเพิ่งเบื่อกันเสียก่อน” เป็นวาทะแห่งปีที่บรรดานักข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลยกเอาคำพูดของ “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีโหวตเอาไว้ แม้ว่าที่ผ่านมาเขาจะไม่ค่อยปลื้มกับฉายา “อิเหนา(เป็นเอง)”สักเท่าไหร่ หรือรัฐบาลเชียงกง ก็ตาม แต่เมื่อทุกอย่างจำต้องเดินหน้าต่อไป ก็ต้องสลัดเอาไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลของเขาเริ่มถูกกดดันทางการเมืองจากฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและนอกสภา โดยเป้าหมายหลักพุ่งมาที่ตัวเขาในฐานะศูนย์กลางอำนาจในเวลานี้ อย่างไรก็ดีสิ่งที่ต้องจับตากันก็คือ “เกมนอกสภา” ที่มีการประเมินแล้วว่านับตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไปแรงกดดันจะต้องเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว
สำหรับเกมการเมืองในสภาแม้ว่าในช่วงปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ถูกฝ่ายค้านขึ้นบัญชีไว้แล้วว่าจะต้องถูกยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจเอาไว้แล้ว โดยเขาเป็นหนึ่งในรายชื่อที่จะต้องถูกซักฟอกแน่นอน ซึ่งก็ถือว่าเป็น “ศึกใหญ่” ครั้งแรกที่เขาต้องเผชิญในฐานะนักการเมืองตามระบบรัฐสภา
แม้ว่าก่อนหน้านั้นในราววันที่ 8 มกราคมจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวาระที่สองสามเข้าสู่การพิจารณา และถือเป็นบททดสอบล่วงหน้าก่อนจะถึงศึกใหญ่ดังกล่าว แต่สำหรับร่างพระราชบัญญัติงบประมาณ หากพิจารณาในเรื่องความสำคัญก็ถือว่าไม่เบาเหมือนกัน เพราะหากพลาดพลั้งขึ้นมาถูกคว่ำในวาระสาม ก็ต้องลาออกหรือไม่ยุบสภาเป็นทางเลือกเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดีเมื่อประเมินจากจำนวนเสียงในสภาที่เริ่มไหลเทมาทางฝ่ายรัฐบาลมากขึ้น อย่างน้อยเท่าที่เห็นก็มีเพิ่มจากฝ่ายค้านเข้ามาเกือบ 10 เสียง มันก็ทำให้พ้น “เสียงปริ่มน้ำ” ขึ้นมาได้ในระดับหนึ่งเหมือนกัน จึงพอได้หายใจหายคอ
ดังนั้นเกมในสภาแม้ว่าจะยังหนักหน่วง แต่ตราบใดที่สามารถควบคุมเสียงได้ มันก็พอเอาตัวรอดได้
แต่ที่น่าจับตาก็คือ “เกมป่วนนอกสภา” ที่คาดว่าจะต้อง “แรง” ขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากต้องการเพิ่มดีกรีให้ร้อนแรงเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันเลยทีเดียว และแน่นอนว่าทุกสายตากำลังมองความเคลื่อนไหวของบรรดาแกนนำพรรคอนาคตใหม่ที่กำลังมีการเคลื่อนไหวในแบบที่เรียกว่า “ออกนอกหน้า” ไม่มีการปิดบังกันอีกแล้ว
เริ่มจากการที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศระดมมวลชนลงสู่ท้องถนน ในลักษณะ “แฟลซม็อบ” คือมาเร็วไปเร็ว เมื่อวันที่ 14 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการนัดชุมนุมแบบกะทันหัน แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความกดดันโดยตรงหลังจากที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ได้ยื่นคำร้องต่อสาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่จากกรณีปล่อยเงินกู้ให้กับพรรค ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว และให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงภายใน 15 วัน
ขณะเดียวกันยังมีอีกคดีที่ต้องลุ้นก็คือคดีที่ถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในคดีล้มล้างการปกครองที่ล่าสุดศาลได้นัดวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคมปีหน้า โดยคดีดังกล่าวนอกจากพรรคอนาคตใหม่แล้ว นายธนาธร นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค รวมทั้งคณะกรรมการบริหารพรรค ถูกร้องดำเนินคดี
ซึ่งทั้งสองคดีถือว่าหากผลออกมาเป็นลบจะมีผลตามมาใหญ่หลวงนอกเหนือจากยุบพรรคถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองแล้ว อาจจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาตามมา นั่นหมายถึงเสี่ยงคุกตามมาอีกด้วย
เมื่อเดิมพันสูงแบบนี้ แน่นอนว่ามันก็ต้องมีการเคลื่อนไหว เหมือนกับที่เห็นในเวลานี้ที่มีพวกแกนนำพรรคอนาคตใหม่เคลื่อนไหวสร้างกระแสกันทุกทาง ซึ่งหลายคนมองว่านี่คือเกมที่สร้างความกดดันต่อศาลรัฐธรรมนูญที่กำลังจะชี้ขาดในคดีสำคัญที่ส่งผลต่ออนาคตของพวกเขา ขณะเดียวกันการประกาศเคลื่อนไหวนอกสภาที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศนัดชุมนุมอีกรอบในเดือนมกราคม รวมไปถึงคู่ขนานไปกับการจัดกิจกรรมของเครือข่าย เช่น การ “วิ่งไล่ลุง” รวมไปถึงการเดินสายเคลื่อนไหวในหลายจังหวัดสำคัญเพื่อโจมตีรัฐบาลและเป้าหมายหลักก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
อย่างไรก็ดีสำหรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เชื่อว่าต้องรับรู้ถึงเป้าหมายการเคลื่อนไหวดังกล่าว เพราะหากสังเกตจะเห็นว่ามีการแก้เกมกันอย่างรัดกุม โดยเฉพาะการ “อิงมวลชน” เพราะเขามั่นใจว่ายังได้แรงเชียร์จากชาวบ้านไม่น้อย ซึ่งสังเกตได้จากการเปิดงาน “ถนนคนเดิน” ทั่วประเทศที่ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดี ก็ได้ยินเสียงเชียร์ โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ได้นำคณะรัฐมนตรีไปตรวจราชการภัยแล้งที่จังหวัดชัยภูมิที่มีชาวบ้านมาต้อนรับนับหมื่นคน โดยนายกฯได้เน้นย้ำในเรื่องการเป็น “ลูกอีสาน” เป็นลูกหลาน “เจ้าพ่อพญาแล” เนื่องจากมีแม่เป็นคนจังหวัดชัยภูมิ น่าสังเกตก็คือ เขาได้สร้างความเป็นกันเองกับชาวบ้านและเด็กๆที่มาต้อนรับ ขณะเดียวกันก็พยายามสร้างความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา
แน่นอนว่าในทางการเมืองย่อมมองออกว่า นี่คือการ “แก้เกม” ที่พยายามอิงฐานมวลชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสานที่ถือว่าเป็นฐานเสียงหลักเช่นเดียวกัน และหากมองว่านี่คือการเปิดเกมรุกเพื่อตีโต้ฝ่าตรงข้ามก็อาจมองแบบนั้นก็น่าจะใช่ !!