ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
การพลิกผันหรือการระเบิดดิจิทัล (Digital Disruption) ที่เกิดจากการที่คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ สายพานการผลิตอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ทำสิ่งต่างๆ ที่มนุษย์เคยทำได้มาก่อน แต่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้กลับทำได้สบายๆ เพราะเกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็วก้าวกระโดด
สิ่งที่สมัยก่อนคอมพิวเตอร์ทำไม่ได้แต่เดี๋ยวนี้ทำได้มีมากเหลือเกินเพราะปัญญาประดิษฐ์ เช่น
หุ่นยนต์ที่มี AI และ Computer vision ที่เล่นปิงปองได้ของ Omron
Omron Forpheus Ping Pong Robot
หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นเชฟทำกับข้าวได้
คอมพิวเตอร์เล่นหมากล้อมโกะ ชื่อว่า Alpha Go ที่สร้างจากการเรียนรู้แบบเสริมแรง (Reinforcement learning) จนสามารถเอาชนะแชมป์โลกหมากล้อมได้อย่างสบายๆ
หุ่นยนต์นักข่าวอ่านข่าวเป็นภาษาจีน
ปัญญาประดิษฐ์ AIVA ที่สามารถแต่งเพลงและเรียบเรียงเสียงประสานเพลงคลาสสิก ซึ่งถูกนำไปเล่นในงานวันชาติลักเซมเบอร์ก
ปัญญาประดิษฐ์ที่อ่านริมฝีปากคนว่าพูดคำว่าอะไรซึ่งมีประโยชน์มากสำหรับคนหูหนวกเป็นใบ้ อ่านริมฝีปากได้ถูกต้องแม่นยำกว่ามนุษย์ https://www.newscientist.com/article/2113299-googles-deepmind-ai-can-lip-read-tv-shows-better-than-a-pro/
ปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเขียนเรียงความภาษาอังกฤษเมื่อกำหนดหัวข้อให้ได้เป็นอย่างดี https://www.essaysoft.net/
หุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์สอนภาษาอังกฤษแทนครูภาษาอังกฤษที่เกาหลีใต้
การสังเคราะห์เสียงให้สามารถเลียนเสียงประธานาธิบดีบารัค โอบาม่าโดยปัญญาประดิษฐ์ได้ ซึ่งนักเรียนปริญญาเอกคนไทยในสหรัฐอเมริกาเป็นผู้ทำได้สำเร็จ (ปัจจุบันเป็นอาจารย์ที่ VISTEC ของเครือปตท)
ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับข่าวปลอม (Fake news) โดยให้มันเองเรียนรู้ที่จะเขียนข่าวปลอมได้เสียก่อน https://techcrunch.com/2019/06/10/to-detect-fake-news-this-ai-first-learned-to-write-it/
หุ่นยนต์มนุษย์ (Humanoid) ชื่อโซเฟีย ที่สามารถตอบโต้ และโต้วาทีกับมนุษย์ได้
รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless car) เช่น Waymo ของ google
AI และการตรวจจับหน้ามนุษย์ (Facial recognition) สำหรับการให้คะแนนเครดิตสังคม (Social credit system) ที่รัฐบาลจีนติดตั้งในที่สาธารณะเพื่อให้คะแนนพฤติกรรมที่เหมาะสมและหักคะแนนประชาชนที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม https://www.scmp.com/video/china/2186173/chinas-social-credit-system-explained
หุ่นยนต์หมีพยาบาลเพื่อช่วยพยาบาลอุ้มคนไข้ในโรงพยาบาล ทำให้พยาบาลไม่ต้องปวดหลัง เข่าไม่เสีย ของญี่ปุ่น
โรงงานผลิตเกี๊ยวนึ่งอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ สายพานการผลิตอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ ที่แทบไม่ต้องใช้แรงงานเลยในชิงเต่า ประเทศจีน ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จีบแป้งเกี๊ยวออกมาได้สวยแทบไม่แตกต่างจากมือคนปั้นเอง
และอื่นๆ อีกมาก ที่ปัญญาประดิษฐ์เข้ามาแทนที่มนุษย์
แม้คนในวงการไอทีเอง ก็ถูกการระเบิดดิจิทัล ทำให้ตกงาน สองปีก่อนในบังกาลอร์ซึ่งเป็น Silicon Valley of India ต้องปลดโปรแกรมเมอร์ออกไปเกือบแสนคนเพราะมีทักษะล้าหลัง https://www.livemint.com/Industry/4CXsLIIZXf8uVQLs6uFQvK/Top-7-IT-firms-including-Infosys-Wipro-to-lay-off-at-least.html
ธนาคารพาณิชย์ของไทยแห่งหนึ่งให้พนักงานเออร์ลี่รีไทร์ออกไปเก้าพันคนจากหนึ่งหมื่นแปดพันคน แล้วรับพนักงานใหม่เข้ามาจนมีพนักงานถึงสองหมื่นสี่พันคน มีธนาคารพาณิชย์ไทยแห่งอื่นๆ อีกหลายแห่งที่ปิดสาขาและให้พนักงานออกนับพันคน เพราะคอมพิวเตอร์แทนคนทำงานได้ และลูกค้าไปใช้ internet banking หรือ mobile banking แทนการมาสาขาของธนาคาร แล้วจะมี teller ไปทำไมมากมายเยอะแยะในเมื่อสาขาของธนาคารไม่มีคนมาใช้บริการเท่าที่ควรแล้ว
ตกลงปัญญาประดิษฐ์ และการระเบิดดิจิทัล เป็นมหันตภัยสำหรับคนทำงานหรือไม่ จะทำให้คนทำงานตกงานมากเพิ่มขึ้นไปอีกเท่าไหร่
กระทั่งหมอก็กลัวว่าตัวเองจะตกงานเพราะปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนตนเองได้
ปัญญาประดิษฐ์จะมาแทนที่คนทำงานแบบไหนบ้าง
ประการแรก งาน สามดี คือ Dirty, Dangerous, Difficult คืองานที่สกปรก งานที่เสี่ยงอันตราย และงานยากที่ไม่มีคนงานอยากทำ งานพวกนี้ใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ทำแทนได้ดี ไม่ต้องส่งคนไปเสี่ยงอันตราย ยกตัวอย่างเช่น งานจับปูขนอลาสก้ากลางมหาสมุทรอันหนาวเหน็บและอันตราย น่าจะใช้เครื่องจักรและหุ่นยนต์แทนได้ในอนาคต งานที่ต้องลงไปทำในที่อับอากาศ (Confined space) เช่น งานขุดอุโมงค์ใต้ดิน สมัยนี้มีหัวเจาะอัตโนมัติที่เก่งกาจฉลาดมาก แทนคนงานมากมาย งานขุดเหมืองแร่ก็เช่นกัน หรืองานเช็ดกระจกตามอาคารสูงต่อไปน่าจะมีหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์ทำความสะอาดกระจกบนตึกสูงได้อย่างง่ายดายเป็นต้น ไม่ต้องใช้คนไปเสี่ยงแต่อย่างใด งานยกคนไข้หนักๆ แบบที่พยาบาลต้องยกคนไข้ ก็ให้หุ่นยนต์ทำงานแทนได้
ประการสอง งานที่มีสูตรแน่นอน งานคำนวณยุ่งยากซับซ้อนที่น่าจะใช้คอมพิวเตอร์แทนพนักงานได้ ไม่ว่าการคำนวณนั้นจะยุ่งยากแค่ไหน เช่น งานวิศวกรที่มีสูตรในการคำนวณแน่นอน งานแบบนี้คอมพิวเตอร์มาแทนได้แน่นอน ทำได้ดีและถูกต้อง แม่นยำ และไวกว่าวิศวกรที่เป็นคนด้วยซ้ำไป แม้แต่นักคณิตศาสตร์ประกันภัย (Actuary) ก็อาจจะถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์และระบบคอมพิวเตอร์ดีๆ มีความสามารถในการคำนวณสูงๆ ได้ และต่อไปการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ (Automated machine learning) ก็อาจจะทำให้เกิดนักวิทยาการข้อมูลพลเมือง (Citizen data scientist) ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ โดยไม่ต้องเขียนโปรแกรมเองได้เป็นเพิ่มขึ้นอีกมากมาย
ประการสาม งานที่ทำซ้ำๆ เหมือนเดิมแน่นอน เช่น งานในโรงงานการผลิตของที่ผลิตด้วยวิธีการซ้ำๆ กันเหมือนกันเป็นจำนวนมาก ใช้สายพานการผลิตอัตโนมัติ (Automated assembly line) และหุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ ยกตัวเช่น เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขู่จะตั้งกำแพงภาษีกับรถยนต์ที่ผลิตในเม็กซิโกที่มีค่าแรงถูกกว่า เพื่อให้โรงงานรถยนต์มาตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกาเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และอเมริกาได้ผลประโยชน์สูงสุด มีผู้ผลิตรถยนต์บางรายทำตามที่ทรัมป์ข่มขู่ทันทีแต่เปลี่ยนแบบโรงงานจากที่เคยใช้คนงานนับพันในโรงงานมาเป็นสายพานการผลิตอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์เข้ามาแทน และตั้งโรงงานในสหรัฐอเมริกาโดยใช้วิศวกรที่มีฝีมือในการควบคุมเครื่องจักรต่างๆ ไม่ถึงยี่สิบคนก็สามารถทำได้ ทำให้ต้นทุนการผลิตยิ่งต่ำลงและมีกำไรมากขึ้น โรงงานผลิตเกี๊ยวนึ่งของซีพีที่ชิงเต่าก็เช่นเดียวกัน
ประการที่สี่ งานที่เป็นตัวแทนหรือคนกลาง งานพวกนี้การระเบิดดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์สามารถแทนที่ได้โดยง่ายมาก เช่น ตัวแทนขายประกันภัย teller ของธนาคารพาณิชย์ ต่อไปคนก็สามารถไปใช้บริการออนไลน์แทนได้หมด ตัวแทนขายต่าง ๆ แม้แต่ธนาคารพาณิชย์เองก็อาจจะหายไปได้เพราะมีการให้ยืมเงินแบบ peer to peer lending ได้ งานคนกลางหรือตัวแทนนี้นับวันจะหมดลงไป อย่างสายการบินต่างๆ ที่ขายตั๋วโดยสารผ่านตัวแทนมีลดลงไปเรื่อย ประมาณร้อยละ 80 ของตั๋วเครื่องบินขายเองผ่านทางอินเทอร์เน็ต ยกเว้นสายการบินไทย ที่ขายผ่านตัวแทนกว่าร้อยละ 80 ทำให้ไม่ได้กำไรและขาดทุนกำไรที่ควรได้เองตรง ๆ ไปเยอะมาก เป็นอาทิ แม้กระทั่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช ที่ชอบอ้างว่าเป็นตัวแทนการซื้อบริการทางการแพทย์ให้กับประชาชน ก็เป็นของที่ไม่จำเป็นเลย ทำให้เสียเงินงบประมาณแผ่นดินไปโดยไม่สมควรปีละหลายพันล้านบาท หมดยุคเสียแล้ว ประชาชนไม่จำเป็นต้องใช้ตัวแทนอีกต่อไปแล้วเพราะเทคโนโลยีทำให้รวมตัวกันง่ายขึ้นมาก
ประการที่ห้า งานที่ใช้ทักษะไม่สูงนัก (Unskilled labor) หรืองานที่ไม่ใช่งานวิชาชีพที่ไม่จำเป็นต้องใช้ความรู้มากนัก งานที่ไม่ใช้ทักษะสูง แรงงานไร้ฝีมือ ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ (Licensure) งานพวกนี้มีแนวโน้มจะไปไม่รอดและถูก AI เข้ามาแทนที่ทั้งหมดในเร็ววัน
ด้วยเหตุที่การระเบิดดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์มาทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้มากเหลือเกิน คนส่วนใหญ่จึงมองว่าปัญญาประดิษฐ์เป็นมหันตภัยต่อคนทำงาน ทำให้คนทำงานตกงาน ไม่มีงานทำ
ผมเคยไปเป็น keynote speaker ของสมาคมวิชาชีพพยาบาลครั้งหนึ่ง แล้วเปิดวีดีทัศน์แสดงการทำงานของหุ่นยนต์ยกคนไข้เป็นผู้ช่วยพยาบาลได้เป็นอย่างดี แล้วถามพี่น้องพยาบาลทั้งหลายว่าต้องการได้หุ่นยนต์แบบนี้มาช่วยทำงานหรือไม่ ทุกคนตอบพร้อมกันด้วยเสียงดังฟังชัดว่าต้องการมาก ถามต่อว่าไม่กลัวถูกแย่งงานเหรอ ทุกคนตอบด้วยเสียงดังมากว่าไม่กลัว แสดงให้เห็นว่าพยาบาลมีความมั่นใจว่าหุ่นยนต์พยาบาลจะไม่มาแย่งงานของตนและจะเป็นมหามิตรมากกว่ามหันตภัย ทุกวันนี้พยาบาลก็ขาดแคลนแสนสาหัสอยู่แล้ว งานก็เป็นงานอันตราย มีความเสี่ยงสูง เป็นงานหนัก และเป็นงานยาก อาจจะไม่สกปรก แต่การต้องสัมผัสเชื้อโรคต่างๆ ก็อาจจะถือได้ว่าสกปรกเหมือนกัน แต่ทำไมพยาบาลทั้งหมดกลับมองว่า หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เป็นมหามิตรกับวิชาชีพพยาบาล เป็นผู้ช่วยสำคัญและอยากให้พัฒนาให้ได้ราคาถูกและให้ใช้แพร่หลายเพื่อแบ่งเบาภาระงานในวิชาชีพตน
ประการแรก งานพยาบาล เป็นงานทักษะฝีมือสูงมาก ต้องผ่านการเรียนรู้ศาสตร์และศิลปะต่างๆ มากมาย และมีขอบข่ายงานที่กว้างขวางมากเกินกว่าที่หุ่นยนต์ตัวเดียวจะทำหน้าที่แทนได้ทุกอย่าง โปรดอย่าลืมว่าพยาบาลไทยทำงานได้ตั้งแต่ไม่จิ้มฟันยันเรือรบกันทีเดียว (ซึ่งในต่างประเทศเขาไม่ได้โยนให้ทำมากขนาดนี้หรอกครับ)
ประการที่สอง การมีผู้ช่วยในการทำงานที่หนัก อันตราย เสี่ยง ย่อมเป็นที่น่ายินดี และพยาบาลก็จะเป็นคนตรวจสอบและควบคุมหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์เหล่านั้นให้ทำงานแทนคน ถึงอย่างไรก็ต้องมีพยาบาลแม้ว่าจะมีพยาบาลหุ่นยนต์มาแบ่งเบาภาระงานลงไปได้
ประการที่สาม งานพยาบาลเป็นงานที่ต้องเข้าอกเข้าใจคน มี Human touch สัมผัสของความเป็นมนุษย์ ความเมตตาปรานี ความปรารถนาดีที่จะให้ผู้ป่วยได้หายป่วย ได้หมดทุกข์ หมดโรค ตราบใดที่หุ่นยนต์ก็ยังคือหุ่นยนต์ Robot touch ย่อมไม่เหมือนกันกับ Human touch ก็ยังต้องการพยาบาลที่เป็นมนุษย์ที่มีความเข้าอกเข้าใจในมนุษย์ (Empathy) ได้อยู่ดี
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ได้กล่าวคำพูดหนึ่งที่แพร่หลายกันบนอินเทอร์เน็ต ณ เวลานี้ว่า “AI ไม่มาแทนที่หมอหรอก แต่หมอที่ใช้ AI จะมาแทนที่หมอที่ไม่ใช้ AI”
คำถามคืองานแบบใดที่จะอยู่รอด โดยไม่ถูก AI เข้ามาแทนที่ คำถามที่เป็นคำถามที่ดีและหาคำตอบได้ยากมาก เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าในอนาคตอะไรที่ AI จะทำไม่ได้อย่างแท้จริง แต่เท่าที่ทราบคือปัจจุบัน AI ทำอะไรได้บ้าง และปัจจุบัน AI ยังทำอะไรไม่ได้บ้าง ก็เป็นสิ่งที่น่าคิดดูแม้จะไม่มีทางถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็ควรได้ทดลองคิดกันดู
คำตอบแรก คือ งานที่ใช้ความรู้ ทักษะฝีมือขั้นสูง ที่ AI และหุ่นยนต์ยังทำไม่ได้ดีเท่ามนุษย์
คำตอบที่สอง คือ งานที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์สูงๆ มาก ก่อให้เกิดนวภาพและความแปลกใหม่ AI ยังไม่ได้มีความคิดสร้างสรรค์เป็นของตัวเอง แต่เลียนแบบ pattern ของการคิดจากงานที่มีความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้วมาผสมผสาน
คำตอบที่สาม คือ งานสร้าง งานออกแบบ งานประดิษฐ์ หุ่นยนต์และ AI ให้ทำงานได้ ถึงอย่างไรของพวกนี้ก็ต้องมีคนประดิษฐ์คิดค้น ออกแบบมันขึ้นมา แน่นอนว่าจะประดิษฐ์คิดค้นหรือออกแบบหุ่นยนต์และ AI มันไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้ความรู้สูงมาก
คำตอบที่สี่ คืองานควบคุม งานบำรุงรักษาหุ่นยนต์หรือ AI ให้ทำงานได้ ว่าง่ายๆ ต้องมีความรู้สูงพอที่จะควบคุมดูแลบำรุงรักษาหุ่นยนต์ที่ประกอบรถยนต์ผลิตรถยนต์ได้ มากกว่าจะเป็นคนงานประกอบรถยนต์ คือต้องเก่งกว่าหุ่นยนต์
คำตอบที่ห้า คือ งานที่ต้องการความเข้าอกเข้าใจ human touch เพราะคนไม่ใช่เครื่องจักรต้องการความรักและความเข้าใจ ถึงอย่างไรมนุษย์ก็ยังเป็นสัตว์สังคม เราคงอยากอยู่หรือพบเจอกับผู้คนที่มีชีวิตจริงๆ มากกว่า social media และหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์แต่อย่างเดียว
จริงๆ คงยังมีคำตอบอีกมาก ปัญญาประดิษฐ์นั้นจะเป็นมหันตภัยหรือมหามิตร ขึ้นอยู่กับว่าเรามีทุนมนุษย์หรือมีความรู้และรู้จักพลิกแพลงนำมันมาใช้มากแค่ไหน แต่ถ้าเราโง่กว่ามัน ฉลาดไม่เท่ากับมัน ทำงานเก่งได้ไม่เท่ากับมัน เราก็จะตกงาน ดังนั้นความรู้ ทักษะ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ตลอดจนทักษะในการเรียนรู้และปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะแบ่งแยกระหว่างมหามิตรและมหันตภัย
เพราะสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอด ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่เก่งที่สุด แข็งแกร่งที่สุด แต่คือสิ่งมีชีวิตที่ปรับตัวได้เก่งที่สุด ทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ลส์ ดาร์วิน กล่าวไว้เช่นนั้น Homo Sapien ก็ต้องปรับตัวให้สู้และอยู่กับ Humanoid ให้ได้