ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีกระทรวง MHESI หรือ อว. ออกมากล่าวว่าอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย อยู่ในภาวะคอมฟอร์ตโซน >> คลิกอ่าน
อันที่จริงผมเห็นด้วยในบางประเด็นที่ ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ พูดและผมได้พูดไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยเคยอยู่สบายเกินไป ล้าหลังจนไปไหนไม่รอด โปรดอ่านได้จาก >> mgronline.com/daily/detail/9620000001757
เรื่องนี้ก็มีฝ่ายที่เห็นแตกต่างจาก ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ คำว่าคอมฟอร์ตโซนที่ว่าคืออยู่สบายไม่ปรับตัวให้ทันโลกทันสมัยในมุมมองของผม อาจารย์มหาวิทยาลัยพวกนี้ถ้าไปอยู่ภาคเอกชน ไม่น่าจะอยู่รอด เพราะสอนหนังสือด้วยเนื้อหาที่ตัวเองเรียนมาเมื่อสิบ-ยี่สิบ-สามสิบปีก่อนตอนเรียนปริญญาเอก ความรู้มันเปลี่ยนไปและตกยุคไปหมดแล้ว บางสาขาแค่หลับตาสิ่งที่เรียนมาก็ล้าหลังเช่น วิทยาการคอมพิวเตอร์
ในคอมฟอร์ตโซนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยอยู่นั้น มีความไม่มั่นคงมากเหลือเกินดังที่ ผศ.ดร.สาวิตรี คทวณิช หรือพี่แต้วจาก คณะภาษาและการสื่อสาร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เขียนใน Facebook ส่วนตัวว่า
ในความคิดของคนทั่วไป อาจารย์เป็นงานสบาย มีความมั่นคง ไม่ต้องแข่งขันกับใคร หลับๆตื่นๆสอนไป สอนเสร็จแล้วก็กลับบ้านนอน ในความจริง ชีวิตอาจารย์พ.ศ.นี้คือ ✌️ต้องจบปริญญาเอก ไม่ว่าคุณจะสอนอะไรในระดับมหาวิทยาลัยคุณต้องจบ ป เอก ต้องสร้างองค์ความรู้ใหม่หรือต่อยอดองค์ความรู้ได้ ได้รับการยอมรับในวงวิชาการ ✌️ อาจารย์ที่จะบรรจุใหม่ตอนนี้ไม่ว่าจะสอนสาขาอะไร ต้องมีคะแนนวัดผลภาษาอังกฤษตามข้อสอบมาตรฐานอย่าง TOEFL เป็นไปตามเกณฑ์ที่สกอ.กำหนด ✌️ เรื่องค่าตอบแทนไม่ต้องพูดถึง อยากได้เพิ่มต้องหาทุนวิจัย ต้องสอนภาคพิเศษเอา ✌️งานอาจารย์ทุกมหาวิทยาลัยมีสามส่วน +1 สอน-วิจัย-บริการวิชาการ + ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ทุกคนต้องทำทั้งหมดเพื่อเก็บแต้มคะแนน แต่ละปีมีการประเมินคะแนนจากงานเหล่านี้ คะแนนจะมีผลกับเงินเดือน และความมั่นคงในอาชีพ เช่น การต่อสัญญา มาทำความรู้จักกับหมวดทั้งสามกันหน่อย *งานสอน อาจารย์ทุกคนจะมีภาระงานสอนขั้นต่ำที่ต้องสอนในแต่ละปีการศึกษาตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด การสอนตอนนี้ก็ไม่ใช่แค่สอนแต่ต้องทบทวนใหม่แทบทุกเทอม เช่น เลือกประเด็นที่สอนให้เป็นปัจจุบัน วิธีการสอน-วิธีการประเมินต้องสอดคล้อง และต้องระบุรายละเอียดทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนไว้ใน series เอกสารที่เรียกว่ามคอ เช่น มคอ 2 ระบุทุกมิติที่เกี่ยวกับหลักสูตรที่เปิดสอน มคอ 3 ระบุรายละเอียดทุกมิติของวิชาที่สอนที่ต้องทำทุกครั้งที่เปิดวิชา มคอ 5 ระบุผลการดำเนินการเรียนการสอนวิชาต่างๆว่าเป็นไปตามมคอ 3 ไหม มคอ 7 ระบุผลการดำเนินการหลักสูตรในแต่ละปีการศึกษา เห้อ... ตอนนี้ผู้สมัครเรียนน้อยลงแทบทุกที่-ทุกหลักสูตร ถ้าไม่มีนศ.ก็ไม่มีงานสอน ไม่มีงานสอนจะเอาอะไรมาประเมิน งานก็มางอกที่อาจารย์อีก คือ ต้องทำ PR ทำ Marketing ด้วย สำรวจตลาด คำนวณจุดคุ้มทุนก็ต้องได้ *งานวิจัย คือการศึกษาเรื่องใดอย่างลึกซึ้งและเป็นระบบ วิจัยสมัยนี้ไม่ใช่นึกอยากทำเรื่องอะไร ชอบอะไรก็ทำได้ งานวิจัยที่เอามาเก็บแต้มได้ต้องเป็นผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการหรือหนังสือ และถ้าให้ดีถ้าเป็นงานที่มีทุนสนับสนุนก็จะเก็บแต้มต่ออื่นได้อีก ถ้าอยากได้แต้มการตีพิมพ์เยอะก็ต้องลงวารสารระดับนานาชาติ ซึ่งหมายถึงต้องไปแข่งกับนักวิชาการทั่วโลก งานต้องมีมาตรฐานว่าเป็นมุมมองใหม่ ไม่มีใครทำมาก่อน และแน่นอนต้องเขียนเป็นภาษาอังกฤษ ส่งบทความไปปีนี้ กว่าจะผ่านการประเมิน กว่าจะได้ลงพิมพ์อาจกินเวลาเป็นปีกว่าจะเอามาเก็บแต้มได้ ต้องวางแผนให้ดีมีงานออกมาให้สม่ำเสมอ เรื่องทุนวิจัยตอนนี้ทุนในประเทศเน้นให้ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ ว่าง่ายๆคือต้องเอาไปใช้ได้ทันที ซึ่งก็ยากสำหรับงานทางสังคมศาสตร์หรือมนุษย์ศาสตร์จะไปตอบโจทย์นี้ หัวข้อที่ได้ทุนวิจัยแนวประยุกต์แบบนี้มา มันก็มักจะพิมพ์ที่ดีดีไม่ได้เพราะงานไม่ได้สร้างองค์ความรู้อะไรใหม่ ก็มันเน้นประโยชน์ใช้สอย อาจารย์ฝ่ายมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ก็ต้องเลือกว่าจะเอาเงินหรือเอากล่อง ทุนวิจัยเป็นสิ่งสำคัญแต่งบประมาณในการวิจัยของชาติและขั้นตอนการขอนั้นไม่แน่นอน ปีนี้ได้ข่าวว่าหั่นงบกันแบบไม่ปรานี แถมเปลี่ยนวิธีเกลี่ยงบอีก เป็นอาจารย์นักวิจัยต้องเกาะติดสถานการณ์ตลอดเวลา *งานบริการวิชาการ คือ การทีหน่วยงานอื่นเห็นความเชี่ยวชาญ เห็นคุณค่าของอาจารย์แล้วเชิญไป เช่น มหาวิทยาลัยอื่นเชิญไปบรรยาย ไปสอน ไปจัดอบรม ต้อง 6 ชั่วโมงขึ้นไปถึงจะเก็บคะแนนได้ หรืออาจเป็นหน่วยงานที่ไม่ใช่สถาบันการศึกษาให้ทุนมาวิจัยบางเรื่องให้เขา หรือไปอบรมพนักงานเขาอันนี้ก็นับได้ แต่กว่าจะได้คะแนนตรงนี้มาหมายถึงอาจารย์ต้องเป็นที่รู้จัก คนอื่นเห็นความเชี่ยวชาญและมั่นใจ จะเอาคะแนนตรงนี้ต้องสั่งสมชื่อเสียงมาพอตัว และต้อง user-friendly ด้วย อีกหนึ่งหมวดงานคือ ทำนุศิลปวัฒนธรรม อันนี้แต่ละมหาวิทยาลัยอาจจะมีการตีความและวัดผลต่างกันไป จะนับการเอาเรื่องวัฒนธรรมใส่ในบทเรียน หรือจะนับการเข้าร่วมงานบวชนาค กฐิน ผ้าป่า แต่งไทยอะไรด้วยก็ว่ากันไปแต่ก็ต้องมีและต้องทำ ✌️เกณฑ์ประเมินนี้เป็นแนวทางหลัก รายละเอียดการประเมินแบบว่า แบบไหนได้คะแนนแบบไหนไม่ได้คะแนนปรับเรื่อยๆ บางทีจะประเมินผลงานเดือนเมย.-ตค. แต่เกณฑ์เพิ่งมาออกตอนตค.ก็มี แทบจะนั่งไทม์แมชชีนกลับไป จะได้ทำให้ถูกใจ เกณฑ์การประเมินเปลี่ยนครั้งใดมีแต่จะเข้มข้นขึ้นจนอาจารย์มหาวิทยาลัยเหมือนสิงโตในละครสัตว์ ตอนแรกโดดลอดบ่วงไฟหนึ่งบ่วงคนปรบมือเกรียว แล้วก็มีคนเอาบ่วงไฟมาเพิ่มทีละบ่วงทีละบ่วง ให้โดดๆๆๆไปเรื่อยๆจนตอนนี้ขนไหม้ไปหมดแล้ว ตรงไหนที่เรียกว่า Comfort Zone? |
อันที่จริงความไม่มั่นคงใน comfort zone ที่ว่า ไม่ต่างจากกบถูกต้มในน้ำเย็น ค่อยๆ ร้อนขึ้น จนกบกระโดดหนีไม่ทันคิดว่าเป็นน้ำอุ่น ถ้ากบต้มในน้ำร้อนเลยอาจจะสะดุ้งและกระโดดหนีได้ทัน
มหาวิทยาลัยไทยนั้นไปรอดได้ยาก ด้วยสาเหตุหลายอย่าง
1.ประชากรสูงวัยไม่มีเด็กเกิด
2. มหาวิทยาลัยไม่ได้ให้คุณค่าอะไรมากนักกับนักศึกษาและสังคมดังในอดีตที่เคยทำได้ดี
3. Business model ของมหาวิทยาลัยคือรูปแบบธุรกิจอายุเจ็ดร้อยปีเท่าอายุมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลกในสเปน ซึ่งน่าจะอยู่ยงคงกระพันมานานเกินไปแล้ว
4. การไปเรียนเมืองนอกสมัยนี้ง่ายมาก มหาวิทยาลัยในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ร่อแร่จากภาวะสังคมผู้สูงอายุเช่นกันและต้องการนักเรียนต่างชาติจำนวนมหาศาลเพื่อการอยู่รอด
5. การระเบิดดิจิทัล (Digital disruption) ทำให้เกิดการเรียนรู้ออนไลน์ได้ และความรู้บนโลกออนไลน์มีมากและเข้าถึงได้ง่ายมากจนความจำเป็นที่ต้องเรียนในมหาวิทยาลัยลดลงฮวบฮาบ
ความไม่มั่นคงในคอมฟอร์ตโซนที่ว่านี้ปรากฎขึ้นมาอย่างชัดเจนดังนี้
กรณีแรก มหาวิทยาลัยเอกชนหลายแห่ง ขายให้ทุนจีนไปแล้ว เช่น มหาวิทยาลัยสแตมฟอร์ด และมหาวิทยาลัยเกริก
กรณีสอง มีมหาวิทยาลัยเอกชนจำนวนมากเลิกกิจการ และขอเลิกกิจการในคิวที่สกอ. เป็นจำนวนมาก บางแห่งขายที่ดินทำคอนโดมิเนียม บางแห่งขายไปทำรีสอร์ท แนวโน้มที่เห็นจะไม่แตกต่างจากการที่โรงเรียนเอกชนหายไปมากเหลือเกินในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา คราวนี้จะเป็นคิวของมหาวิทยาลัยเอกชน
กรณีสาม เริ่มมีการเลย์ออฟอาจารย์หรือไม่ต่อสัญญาอาจารย์มากมาย เช่น
มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่งในทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร โฆษณาว่ามีศาสตราจารย์ ดร. ทางวิศวกรรมอีเล็คทรอนิคส์มากถึงสามท่าน เปิดสอนด้านนี้โดยตรง เชี่ยวชาญสุด ๆ สุดท้ายไม่มีนักศึกษาเลย ต้องเลิกสัญญากับศาสตราจารย์ ดร. สองราย ได้ข่าวมาว่าหนึ่งรายที่ว่านี้ไปบริหารโรงเรียนอนุบาลของครอบครัวแทน
มหาวิทยาลัยของรัฐทางตอนเหนือของกรุงเทพมหานคร ไม่ต่อสัญญาจ้าง รองศาสตราจารย์ ดร. ทางวิศวกรรมศาสตร์ เพราะไม่มีนักศึกษาให้สอน
มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐในภาคเหนือตอนบน เลิกจ้างอาจารย์ด้านสิ่งแวดล้อมสามท่านจากห้าท่าน ส่วนอีกสองคนต้องจำใจย้ายคณะไปสอนด้านการจัดการและเศรษฐศาสตร์แทน
มหาวิทยาลัยเอกชนในท้องทุ่งทางเหนือของกรุงเทพมหานคร มีอาจารย์ระดับ ดร. ทางเศรษฐศาสตร์จำนวนเกือบ 20 คน แต่มีนักศึกษาเรียนปีละ 4 คน กำลังหาทางแก้ไขปัญหานี้ แต่ยังแก้ไขไม่ได้ อาจารย์นั่งว่าง ๆ ไม่มีโหลดให้สอน อาการนี้เกิดขึ้นกับคณะเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยของรัฐอีกหลายแห่งที่ไม่มีนักศึกษาเพราะธนาคารพาณิชย์ซึ่งเคยเป็นนายจ้างหลักของผู้จบการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์กำลังเลิกจ้างพนักงาน เพราะเกิด internet-banking และ mobile banking จนต้องปิดสาขาไปมากมาย แต่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่ต้องจ่ายเงินเดือนอาจารย์เอง เลยยังประคองกันไปได้ด้วยเงินแผ่นดิน
มหาวิทยาลัยราชภัฎในภาคอีสานหลายแห่งมาก มีจำนวนนักศึกษาน้อยมาก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยราชภัฎที่เกิดจากการผลักดันของนักการเมืองในท้องถิ่นให้เกิดขึ้นในพื้นที่ฐานเสียงที่มีประชากรเบาบางของตนเอง เลิกจ้าง ไม่ต่อสัญญาอาจารย์ไปแล้วจำนวนมากมาย
มหาวิทยาลัยเอกชนในกรุงเทพ เรียกอาจารย์มาคุยกัน หลายแห่งปล่อยยกเลิกทุนให้อาจารย์ที่ติดทุนของมหาวิทยาลัยได้เป็นอิสระเพราะไม่มีนักศึกษาให้สอน บ้างก็ขอให้ลาออกไปเอง หรือหากไม่มีภาระงานสอนก็ให้ไปทำงานธุรการหรืองานเจ้าหน้าที่แทน และให้ไปทำหน้าที่หาเงิน เช่น การขายคอร์สฝึกอบรม การขายงานวิจัยหรืองานบริการวิชาการ และบีบให้หาเงินเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้อย่างน้อยปีละกี่แสน กี่ล้าน หรือแม้กระทั่งบีบบังคับให้อาจารย์ต้องทำการตลาดหาจำนวนนักศึกษาให้ได้ตามยอด จึงจะต่อสัญญาจ้างให้อาจารย์ที่ไม่มีภาระงานสอนและไม่มีงานอื่นจะให้ทำ ที่อยู่ได้ก็ทนอยู่ได้ ที่ทนไม่ไหวก็ออกไป ที่ไม่มีที่ไปก็ต้องทนอยู่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ยังอาการหนักมากถึงกับต้องให้ปิดอาคารในมหาวิทยาลัยสัปดาห์ละสองวันเพื่อประหยัดน้ำ ประหยัดไฟฟ้า และค่าดูแลรักษาอาคารสถานที่ เพราะไม่มีการเรียนการสอน จะได้เซฟเงินมหาวิทยาลัยที่กำลังขาดทุนหนักอยู่เพราะนักศึกษาลดลงฮวบๆ เหลือแค่หนึ่งในสามและมีแนวโน้มจะลดลงไม่หยุดยั้ง
มหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง คณะนิเทศศาสตร์เคยมีนักศึกษาใหม่ปีละหนึ่งพันห้าร้อยคน ปีที่ผ่านมานักศึกษาลดฮวบเหลือแค่ 600 คน ทำให้คณบดีต้องตัดสินใจเรียกประชุมอาจารย์ทั้งคณะเพื่อขอร้องให้ลาออก อาจารย์ที่มีทางไปก็ทยอยกันลาออกไปจนเหลือประมาณสองในสาม แต่ที่ไม่มีทางไปไม่ได้เรื่องกลับอยู่กองกันเต็มคณะ นิเทศศาสตร์เปลี่ยนหน้าตาไปเป็น สื่อใหม่ สื่อดิจิทัล คนในอาชีพนิเทศศาสตร์ก็ตกงานกันเป็นทิวแถว ช่องสามก็เลย์ออฟพนักงานใครจะไปเชื่อว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เด็กก็ไม่เห็นว่าอาชีพนี้จะมีอนาคตก็ไม่คิดมาเรียน ยิ่งอาจารย์ไม่ปรับตัวสอนเรื่องใหม่ ไม่มีประสบการณ์จริงในสื่อใหม่และสื่อดิจิทัลก็ยิ่งตกยุค ยิ่งไม่มีนักศึกษาอยากจะมาเรียน
กรณีสี่ มีการปิดหลักสูตร ยุบรวมคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยไปแล้วนับร้อยนับพันหลักสูตร เพราะไม่มีนักศึกษาจะให้สอน การยอมรับความจริงแม้เจ็บปวดแต่ก็ต้องทำ เรื่องแบบนี้มหาวิทยาลัยเอกชนปรับตัวได้ดีกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ เจ้าของเขาไม่ปล่อยให้เสียเงินฟรี ต้องหยุดขาดทุนให้เด็ดขาด ในขณะที่มหาวิทยาลัยของรัฐยังปล่อยให้เปิดสอนทั้ง ๆ ที่ไม่ถึงจุดคุ้มทุน เพื่อให้เป็นแหล่งรายได้และสวัสดิการของอาจารย์ บางแห่งใช้เงินทุนคณะที่สะสมมาหลายสิบปีเพื่อชดเชยการขาดทุนทั้ง ๆ ที่ไม่สมควรเลย หลายแห่งพยายามทู่ซี้ขายของเก่า ๆ ที่ไม่มีใครต้องการแล้วแทนที่จะคิดใหม่ทำใหม่ให้ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมากเหลือเกินในมหาวิทยาลัยของรัฐ
นี่คืออาการที่ปรากฎว่ามีความไม่มั่นคงอย่างมากในคอมฟอร์ตโซนของอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย
ถ้าตัวเองยังไม่มีความมั่นคงแล้วจะมีเวลาหรือมีความคิดคำนึงที่จะทำอะไรเพื่อประเทศชาติหรือไม่ หรือแค่เอาตัวรอดไปวัน ๆ ยอมเป็นขี้ข้าผู้บริหาร เอาตัวรอด ข้อนี้ทำให้ผมได้สังเกตเห็นความแตกต่างและการเปลี่ยนแปลงของอาจารย์มหาวิทยาลัยดังนี้
สมัยก่อนอาจารย์มหาวิทยาลัยมักมาจาก elite และเมื่อเป็นข้าราชการก็ยิ่งไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ไม่มีใครยอมใคร เป็นตัวของตัวเอง การบริหารมหาวิทยาลัยจึงเป็นเรื่องยากมาก
สมัยนี้ elite ผู้รากมากดี ไม่ได้มาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยกันแล้ว แล้วระบบพนักงานประเมินต่อสัญญากันนี่ทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นขี้ข้าเชื่อง ๆ ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย คิดอยู่สามอย่างคือ
หนึ่ง ทำไงให้เอาตัวรอดได้ต่อสัญญา
สอง ทำอย่างไรให้ได้ตำแหน่งทางวิชาการกันเร็วๆ
สาม ทำอย่างไรให้ตัวเองได้ผลประโยชน์และรักษาผลประโยชน์ของตนเองให้มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องเงิน เช่น การสอนภาคพิเศษ เป็นอาทิ หรือแย่งกันเป็นผู้บริหารที่มีค่าตอบแทนหลังออกนอกระบบแล้วเดือนละเป็นแสนเป็นล้านบาท
คิดกันแค่นี้
ไอ้ที่จะออกมาต่อสู้เพื่อประเทศชาติ หรือออกมาชี้นำสังคมห่วงใยบ้านเมืองหาได้ยากมาก ระบบทำให้มหาวิทยาลัยไทย ไม่สามารถเป็นที่พึ่งอะไรกับสังคมได้อีกแล้ว เพราะขาดความมั่นคง และคิดถึงแต่ตนเอง เห็นแก่ตัว
นี่คือความจริง ที่ไม่อยากจะพูดและไม่อยากจะยอมรับกัน มหาวิทยาลัยไทยในวันนี้ไม่มั่นคงในคอมฟอร์ตโซนที่เคยอยู่กันอย่างสบายมากเหลือเกิน
ขอทิ้งท้ายด้วยคำถามจากอดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ผันตัวไปอยู่ภาคเอกชนแล้ว (ผศ.ดร.พร วิรุฬห์รักษ์) ได้ฝากข้อคิดและคำถามเพื่อให้อาจารย์มหาวิทยาลัยเช็คความอยู่รอดของตนเองดังนี้
"ชุดคำถามที่อาจารย์ มหาวิทยาลัยใช้ถามตัวเองเพื่อเช็คความอยู่รอด" ในฐานะอดีตเพื่อนร่วมวิชาชีพ ทุกวันนี้เวลาได้ดู Facebook หรือ web ที่เกี่ยวข้องกิจกรรมของอาจารย์มหาวิทยาลัย ก็เกิดความเห็นใจอยู่พอควร มีการคุยกันเรื่องรายได้ และความอยู่รอดของตนเองกันเยอะมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้ผมก็เข้าใจล่ะว่า พอปากท้องกำลังเข้าสู่สภาวะอันตราย - การจะไปคิดถึงการพัฒนาการศึกษาอุดมศึกษาของประเทศชาตินี้น่าจะเป็นเรื่องรองไปแล้ว ผมขอเสนอเครื่องมือ เช็ค โอกาสที่คุณจะอยู่รอด – คำอยู่รอดคือ ทำมาหาเลี้ยงชีพได้ มีรายได้ โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในสถานะอาจารย์มหาวิทยาลัย คำถามที่ 1: คุณถอนหัวโขนได้หรือไม่? Step ที่ 1 สำคัญมาก ความหมายลึกๆ คือ ลองจินตนาการว่า - วันนี้ ถ้าคนทุกคนในชีวิตคุณ ไม่ได้เรียกคุณว่า “อาจารย์” หรือ “ดร.” หรือ “ผศ.” หรือ “ท่าน” หรือ ยศ อะไรก็แล้วแต่ ที่คุณมีความเคยชินกับมัน และมันทำให้คุณอยู่สูงกว่าคนอื่นโดยสภาวะของคำเหล่านี้ - แล้วคนเหล่านี้ เรียกชื่อคุณเฉยๆ เลย ไม่มีแม้กระทั่ง คำว่า “คุณ” นำหน้า “คุณรู้สึกอย่างไร” ลองถามในใจลึกๆ ดูแล้วก็ ซื่อสัตย์ กับตัวเอง นะครับ ภาษาคือ เครื่องมือสำคัญในการ เชื่อมโยงไปกับ Action อื่นๆ ที่จะเกิดขึ้น ถ้าเขาเรียก ชื่อคุณเฉยๆ แสดงว่าคุณกับเขา เท่ากัน หรือ ต่ำกว่าเขาเท่านั้น คุณรับได้หรือไม่ครับ ถ้ารับไม่ได้: ก็ไม่ต้องอ่านต่อไปครับ – กลับไปทำงานที่คุณทำอยู่ เพราะหัวโขน จะทำให้คุณไม่เห็นปัญหา และไม่ยอมรับปัญหาครับ ถ้ารับได้: ให้ไปสู่คำถามที่สอง คำถามที่ 2: ทักษะที่คุณมีวันนี้ เป็นที่ต้องการของสังคมหรือไม่? ทีนี้คุณปรับใจให้ลงมาอยู่ เท่าๆ กับคนอื่น หัวโขน ถอดออกแล้ว – คุณก็คือ คนธรรมดาเดินดิน ไม่มีเกราะป้องกัน อะไร ในเชิงสถานะทางสังคม คุณก็เข้ามาแข่งกัน เพื่อทำมาหาเลี้ยงชีพเหมือนกับคนอื่นๆ คำถามที่สอง จะเป็นตัวเช็คง่ายๆ ว่า เรื่อง คุณค่าของคุณ ทำไมผมถึงใช้คำว่า ทักษะ – เพราะ เรามีคำสำคัญ อยู่สามคำเวลา เรามองคนเพื่อทำงานคือ Attitude – Skill – Knowledge ณ วันนี้ ในความเห็นของผม Knowledge ไม่มีความหมาย เพราะมัน Free และ มัน อยู่ใน Internet จะอ่านเมื่อไหร่ก็ได้ ส่วน Attitude ถ้าคุณไม่มี Knowledge ที่แข็งแรง และ Skill ที่แข็งแรง คุณไม่มีทางเข้าถึง Attitude ที่ถูกต้องได้ เลย แม้จะถูกสอนมาอย่างไรก็ตาม ดังนั้น คุณค่า ของคนอยู่ที่ Skill คือ “ทำอะไรเป็น” การเช็คเรื่อง ทักษะ สำคัญ เพราะมันคือสิ่งที่คุณต้องถ่ายทอดให้ “ผู้เรียน” ที่มาเรียนกับคุณ ใช้ทักษะนั้น ตอบความต้องการของสังคม – ถ้าคุณไม่มีทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคม แล้วผู้เรียนที่มาเรียนกับคุณ ที่เขาต้องไปหางานทำจริงๆ ไม่ได้ สมมุติว่าต้องหางานทำ แบบที่คุณนั่งคิดอยู่ตอนนี้ – เขาย่อมไม่รอดในสังคม - แต่เป็นความไม่รอดแบบจริงจัง เพราะเขาก็ต้องดิ้นรนหาทักษะอื่นหางานอื่นเพื่อให้มีรายได้ – มองกลับมาว่า “กูเรียนอะไรมาฟะ ได้กระดาษมา 1 ใบ” โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า “ผู้เรียน” ไม่ใช่ “ลูกศิษย์” ซึ่งเป็นคำที่สร้างอีโก้ ของ ความเป็นอาจารย์ เบ่งบานขึ้นไปอีก โปรดสังเกตว่าผมใช้คำว่า “สังคม” ไม่ใช่ “ตลาด” – ผมคิดว่าทักษะ ที่ทำให้สังคมดีขึ้น – บางทีไม่ต้องเป็นธุรกิจก็ได้ อาจจะเป็น รัฐ หรือ องค์กรการกุศล หรือแม้แต่ศาสนา ก็ได้ ทักษะ ก็มีทั้ง Soft และ Hard แต่คงไม่ต้องคุยใน Detail ตอนนี้ แต่ขอให้เน้นว่า “ทำเป็น” ก็แล้วกัน คำตอบที่คุณตอบตรงนี้ก็สำคัญ - ถ้า No ทักษะ ที่คุณมีไม่เป็นที่ต้องการของสังคม คุณก็อยู่ในอันตราย เพราะจากคำถามที่ 1 เมื่อคุณเป็นมนุษย์ธรรมดา ไม่มียศ ใดปกป้อง – คุณอยู่ในการแข่งขัน ที่ คุณไม่มีทักษะอันเป็นที่ต้องการ – ก็ไม่ต้องตอบคำถามต่อไป ครับ รีบพัฒนาตัวเอง ในสายวิชาชีพ หาทักษะที่คุณต้องการเป็นผู้เชี่ยวชาญ แล้วฝึกฝนอย่างหนักเสียแต่วันนี้ เรียนรู้จาก ทุกแหล่ง Youtube ตำรา สัมมนา – หาเพื่อน – เข้าสังคม – และต้องหาโจทย์เพื่อฝึกฝน - จัดไปเลยครับ ขอให้ทำจริงๆ เถอะ คุณเองเคยเป็น “นักเรียนชั้นดี” มาก่อนอยู่แล้ว (น่าจะเป็นนักเรียนชั้นดีถึงมาเป็นอาจารย์ได้) ใช้ ทักษะ “เรียนเก่ง” ที่คุณมี รีบ Master ทักษะที่คุณต้องการครับ ถ้า Yes ก็ไปคำถามต่อไปครับ คำถามที่ 3: คุณมีทักษะอยู่ในระดับ Top 10% ของการแข่งขันหรือไม่? เมื่อมีทักษะที่เป็นที่ต้องการของสังคม ก็มาสู่คำถามว่า ถ้ามีการคัดเลือกกันแล้ว คุณอยู่ระดับไหน ของ เกมที่แข่งกัน ระดับนี้ ไม่ใช่ Ranking ของมหาวิทยาลัย แต่เป็น Ranking ของ “ตัวคุณเอง” จะมีหลายคนที่ เอา มหาวิทยาลัยมาเป็นป้ายเพื่อแสดงว่า ข้าอยู่ที่นี่ ข้าย่อมเก่งว่า สถาบันที่มีป้ายไม่ขลังเท่า กรุณาเลิกคิดเรื่องนี้ – เพราะเราสมมุติกันแล้วว่าหัวโขนคุณหลุดออกไปแล้ว คำถามนี้คือ คำถาม ที่วัด ทั้งสังคม ไมใช่แค่วัดคนที่ทำงานมหาวิทยาลัยด้วยกัน สมมุติคุณ สอนสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในสาขา Building Technology และทักษะคือการทำ “Energy Simulation” – เอาคนที่ทำงานด้านนี้ ทั้งประเทศ – มาวัดกันเลย – คุณอยู่ตรงไหน ของ การวัดลำดับชั้นไหน หรือแม้แต่กว้างๆ หน่อยคือ การทำวิจัย คุณมีทักษะการทำวิจัยอยู่ในระดับไหน ? คุณไม่ต้องคิดอะไรให้มาก คุณเองรู้ดีที่สุด ว่าคุณเป็นของจริง หรือของปลอม คุณรู้ในใจแน่ๆ ว่าคุณอยู่ตรงไหน หากคุณอยู่ในระดับที่ ต่ำกว่า Top 10% ก็ต้องสู้ครับ – หาจุดขาย หาความเชี่ยวชาญเชิงลึก หางานทำ หาโจทย์ - หาทักษะเพิ่มเติมอีก ที่ทำให้คุณมีความ Unique มีทักษะที่ไม่มีใครมี - เป็นเฉพาะทางมากๆ (ในบริบทที่ยังตอบคำถามข้อ 2 ด้วยนะครับ) เพราะหากคุณเหมือนๆ คนอื่น แล้วสมมุติว่าคุณไปสมัครงานในยุคที่การแข่งขันรุนแรงขนาดนี้ – คุณไม่มีทางได้งานทำครับ – เพราะใครๆ ก็อยากได้ The Best in the Field หากคุณอยู่ในระดับ 10% บน ก็จบแล้วครับ คุณ Survive แน่นอน ในเกมนี้ ยินดีด้วย ผมเชื่อว่า 3 คำถามนี้ คนที่ทำอาชีพสอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ถามตัวเอง ไม่เกิน 5 วินาที ก็ตอบได้แล้ว 1-2-3 แล้วผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนก็ตระหนักได้ ว่า คนชนะในเกมนี้ คือ คนส่วนน้อย คนที่ขอยอมแพ้ ตั้งแต่ข้อแรก นี่ – ก็ไม่ต้องคุยกันมากครับ คุณไม่รอด ในศตวรรษที่ 21 หรอกครับ จบ เพราะคุณไม่ยอมรับว่า “ฉันคือคนธรรมดา” คนที่ยอมแพ้ข้อที่สอง – ก็อาจจะลำบากหน่อย แต่คุณปรับตัวเป็น “คนธรรมดา” เดินดินได้ อาจจะไปทำงานอื่นๆ ที่ไม่ต้องวิชาการมากนัก – ออกไปทำธุรกิจบ้าง – ลองไปเป็น “ขี้ข้า” คนอื่นเขาบ้าง รับใช้คนอื่นเขาบ้าง บริการคนอื่นเขาบ้าง ก็มีชีวิตที่มีความสุขได้ครับ – ทั้งนี้เพราะคุณไม่คิดว่า “ฉันเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ตั้งแต่วันนี้ได้” คนที่ยอมแพ้ข้อที่ 3 – คุณจะทำในสิ่งเดิมได้นานหน่อยครับ แต่ก็อย่าประมาท เพราะในที่สุด ในโลกของเรา มันเหลือแค่ ที่ 1 ในทุกวงการครับ ที่เหลือตายหมด – เพราะคุณไม่คิดว่า “ฉันสามารถเป็นแถวหน้าของทักษะนั้นได้” แต่โดย ลึกๆ ผมเองมองว่า มนุษย์ทุกคนมี “ความสามารถ” ที่ทำ 1-2-3 ได้ครับ โดยพูดกับตัวเอง บ่อยๆ ครับว่า “ฉันคือคนธรรมดา” “ฉันเริ่มพัฒนาทักษะใหม่ตั้งแต่วันนี้ได้” “ฉันสามารถเป็นแถวหน้าของทักษะนั้นได้” การ ตอบคำถาม เรียงกัน 3 ข้อนี้ เป็นการเผชิญความจริงที่ฝืนความรู้สึกตัวเองครับ ถ้าภาษาสมัยใหม่หน่อยก็คือการ Disrupt ตัวเองนี่ล่ะครับ หากคุณกล้าตอบ และกล้า Action เพื่อแก้ไขมัน คุณจะไม่มีวัน สูญพันธุ์ ขอให้โชคดีครับ |