xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยเคยอยู่สบายเกินไป ล้าหลังจนไปไหนไม่รอด

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร
ปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและวิทยาศาสตร์มหาบัณฑิต (การวิเคราะห์ธุรกิจและวิทยาการข้อมูล)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เมื่อวันก่อนผมไปเห็นรูปรูปหนึ่งจากเว็บไซต์ thewealthhike.com ผมว่ารูปนี้มันยอดมากและอธิบายได้เลยว่าทำไมอาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากจึงไม่สามารถปรับตัวได้ให้สามารถที่จะรอดพ้นวิกฤตมหาวิทยาลัยไทยจะไปไม่รอดได้

มหาวิทยาลัยไทยตอนนี้กำลังจะไปไม่รอดด้วยสาเหตุหลายอย่าง

ประการแรก คือมีจำนวนนักศึกษาลดลงมากไม่ว่าจะระดับปริญญาโท ปริญญาตรี และเป็นกันทุกมหาวิทยาลัย กระทั่งระดับประถมศึกษาก็ยังต้องไปโกงด้วยการทำบัญชีเด็กผีนักเรียนปลอมเพื่อเบิกค่าเหมาจ่ายรายหัว โรงเรียนในกรุงเทพหลาย ๆ โรงเรียนก็รับเด็กได้ไม่ครบ บางโรงเรียนประถมศึกษารับนักเรียนได้แค่ 1 ใน 6 ของที่เคยรับเด็กได้เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทุกวันนี้เด็กที่เข้ามหาวิทยาลัยมีแค่ครึ่งเดียวของจำนวนที่มหาวิทยาลัยต้องการ แล้วก็เริ่มมีการเลย์ออฟหรือเลิกจ้างอาจารย์มหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆนะครับ

ประการที่สอง คือมีมหาวิทยาลัยมากเกินไป ไม่สมดุลเกิด oversupply ของมหาวิทยาลัย ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยหลายร้อย น่าจะสองร้อยกว่ามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เป็นที่ต้องการของสังคมมากเช่นในอดีตอีกต่อไปโดยเฉพาะในประเทศไทยซึ่งมีจำนวนมหาวิทยาลัยเป็นหลายร้อยแห่งมากกว่าจำนวนเด็กนักศึกษาที่สมัครเข้าเรียนต่อ

ประการที่สาม การไปศึกษาต่อต่างประเทศก็ทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะต่างประเทศเขาก็ต้องการค่าเล่าเรียนจากนักศึกษาต่างชาติเช่นกัน เขาก็มีปัญหา aging society และเขาก็ต้องการเงิน มหาวิทยาลัยชื่อดังอันดับต้น ๆ ของโลกในสหรัฐอเมริกาสัมภาษณ์เพื่อนของผมก่อนไปเรียนต่อปริญญาโทด้วยคำถามคำถามเดียวว่ามั่นใจไหมว่ามีเงินจ่ายค่าเทอมครบพอจนเรียนจบ? มหาวิทยาลัยชื่อดังในต่างประเทศก็หิวเงินเป็นเหมือนกันครับ

ประการที่สี่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญสุด คือ การตกยุค อยู่แต่ในพื้นที่แห่งความสบายและความหวาดกลัวของอาจารย์มหาวิทยาลัยเสียเอง โดยเฉพาะอาจารย์มหาวิทยาลัยไทย

ปัญหาใหญ่ก็คือการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำให้อาจารย์จำนวนมากอยู่ใน Comfort Zone

ความสบายเพราะว่าความเป็นครูก็มีศักดิ์ศรีมีอำนาจเหนือนักเรียนแล้วก็สอนหนังสือในเรื่องเดิม ๆ ซ้ำ ๆ กันมาติดกันหลาย ๆ ปีไม่ต้องไปเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงภายนอกมากนัก อยู่แค่ในชั้นเรียนเป็นหลัก อาจารย์ที่สอนแต่แค่ในมหาวิทยาลัยเป็นหลักแต่อย่างเดียวก็จะอยู่ใน Comfort Zone ในห้องเรียนซึ่งตัวเองมีอำนาจมากที่สุดและในยุคที่มหาวิทยาลัยเป็นที่ต้องการของสังคมเช่นในอดีตที่ผ่านมา ก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นก็สอนเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองอยากจะสอนหรือในสิ่งที่ตัวเองรู้เท่านั้น

แต่โลกปัจจุบันเปลี่ยนไปเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดที่เรียกว่า disruptive Technology โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเกิดปัญญาประดิษฐ์ เกิดการเรียนรู้ด้วยเครื่องจักร

มนุษย์กำลังจะหมดความสำคัญกับทั้งการเรียนการสอนก็สามารถใช้หุ่นยนต์แทนคนได้ของที่ไม่เคยสอนได้เช่นเรียนภาษาหุ่นยนต์สามารถสอนภาษาและสามารถที่จะออกเสียงได้ใกล้เคียงกับเจ้าของภาษาได้ดีมากนะครับผ่านกระบวนการที่เรียกว่าการสังเคราะห์เสียงหรือว่า Voice synthesis หุ่นยนต์ทำได้ดีมาก

หุ่นยนต์สามารถสอนคนเล่นกีฬาได้ตีปิงปองได้นะครับ shoot ลูกบาสเกตบอลแข่งกับคนได้นะครับ สมัยก่อนต้องจ้างนักกีฬาเก่ง ๆ มาเล่นคู่เพื่อให้พัฒนาฝีมือ สมัยนี้หุ่นยนต์ทำแทนได้

นอกจากนี้ยังมีหุ่นยนต์ที่มีปัญญาประดิษฐ์สามารถวาดรูปที่เป็นงานศิลปะได้แล้วก็สอนให้คนวาดรูปได้

หุ่นยนต์สามารถที่จะสอนทำกับข้าวได้ทำกับข้าวได้เหมือนกับคนโดยถ่ายวีดิโอดูจากเชฟที่เก่ง ๆ แล้วก็เรียนรู้วิธีการทำกับข้าวจากเชฟเหล่านี้เป็นต้นไป

ปัญญาประดิษฐ์เปลี่ยนโลกไปอย่างสิ้นเชิง กระทั่งการเขียนข่าวปัญญาประดิษฐ์ก็ทำให้สามารถเขียนข่าวได้โดยไม่ต้องมี journalist ไม่ต้องมีนักวารสารศาสตร์ ไม่ต้องมีนักข่าวและและผู้ประกาศข่าวก็สามารถจะใช้หุ่นยนต์ทำแทนได้เป็นอย่างดี

กระทั่งการแต่งเพลงหรือประพันธ์เพลงบอกโทนหรือท่วงทำนองที่ต้องการไปก็สามารถจะทราบได้เลยว่าจะใช้เพลงแบบไหน คอมพิวเตอร์แต่งเพลงให้มนุษย์เล่นดนตรีได้

ตอนนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากกำลังเข้าไปอยู่ในส่วนที่ 2 ในรูปคือโซนแห่งความหวาดกลัว อาจารย์มหาวิทยาลัยเริ่มไม่มั่นใจตัวเองว่าที่เคยเคยสอนหนังสือมา 20 ปีอย่างสบาย ๆ ด้วยความรู้ที่เรียนมา 25-30 ปีก่อนในเรื่องเดิม ๆ แต่ว่าเรื่องที่ตัวเองสอนตามที่เคยชินนั้นกำลังตกยุคไปและไม่สามารถเอาไปใช้สอนได้อีกแล้ว ทำให้ขาดความมั่นใจในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า ยิ่งมีการระบบการประเมิน มีปัญหาไม่มีนักศึกษาไม่มีภาระงานสอนที่เพียงพอ แย่งโหลดสอนกันเพราะชามข้าวมีข้าวให้กินจำกัด ก็ยิ่งทำให้อาจารย์มหาวิทยาลัยรู้สึกหวั่นไหวเป็นอย่างยิ่ง

ผมประมาณว่าทุกวันนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากกว่า 70% กำลังอยู่ใน Fear Zone หรือว่าโซนแห่งความหวาดกลัว เพราะไม่รู้ว่าจะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างไรและก็พยายามจะโทษคนอื่น เช่น หลักสูตรของตัวเองไม่ทันสมัย ไม่เป็นที่ต้องการของนายจ้างหรือของผู้เรียนแล้ว ก็จะโทษว่าเพราะว่าประชาสัมพันธ์ไม่เป็นเพราะว่ามีคู่แข่งเยอะ แต่ตนเองไม่สามารถคิดนอกกรอบออกไปทางอื่นได้เลย ก็เลยวนอยู่ที่เก่า พาลโทษนู่นโทษนั่นโทษนี่ และเปราะบางใครวิจารณ์ก็ไม่ได้ ใครเสนออะไรก็ไม่ฟัง เพราะว่ามีอัตตาสูงลิบ

การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยทำให้อัตตาสูงมาก ทั้งยังอยู่บนความเคยชินแห่งความสบายบนอัตตาที่ตัวเองสร้างและยึดติดไว้ทั้งสิ้น เพื่อเป็นเกราะป้องกันความอ่อนแอและไม่มั่นใจภายในของตัวเอง

แต่ถ้ายังอยู่กับอัตตาอย่างนี้ต่อไปในโซนแห่งความหวาดกลัวก็จะยิ่งไปไม่รอด เพราะจะไม่สามารถก้าวพ้นผ่านโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างเร็วมาก

ถ้าหลักสูตรไม่ปรับตัว ถ้าอาจารย์ไม่ปรับตัวเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ขึ้นมา อุดมศึกษาไทยก็ไปไม่รอด ยกตัวอย่างสายสื่อหรือสายนิเทศศาสตร์จะสอนเรื่องสื่อเก่า (Old media) อย่างเดียวก็เป็นไปไม่ได้ สมัยนี้ต้องสอนเรื่องของสื่อใหม่ (New media) สื่อสังคม (Social Media) การ Cross posting ดิจิไทเซชั่นและการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลหรือ Digital transformation สมัยนี้มีทวิตเตอร์ มี Facebook มี LINE มีสารพัดสิ่งซึ่งเป็นสื่อได้ในราคาที่ถูกลงสามารถสร้าง Viral Marketing ได้ในราคาที่ถูกแสนถูกแต่ถ้าจะมาสอนกันแบบเดิมก็ไปไม่รอดเพราะไม่มีใครใช้ความรู้เช่นเดิมอีกแล้วหรือใช้น้อยลงไปมาก

แม้กระทั่งสถิติศาสตร์ก็ต้องเปลี่ยนไปจำเป็นต้องบูรณาการเป็นวิทยาการข้อมูลมากขึ้นและ Data การสอนแบบเดิมซึ่งท่องจำแทนค่าใส่สูตร สอนเป็นคณิตศาสตร์ แล้วก็อ่าน print out นั้นไม่เพียงพอ ทำงานไม่ได้จริง ไปไม่รอดเหมือนกันเพราะเอาไปประยุกต์ใช้งานจริงไม่เป็น

เนื่องจากจำนวนมหาวิทยาลัยที่มีมากทำให้นักศึกษามีทางเลือกเยอะ นักศึกษามีทางเลือกเยอะก็ต้องเลือกสิ่งที่เขาคิดว่าดีที่สุดทันสมัยที่สุดตรงกับตลาดที่สุด แล้วจบไปจะได้งานทำ เลือกมหาวิทยาลัยที่สอนให้เขามีความสามารถได้เปรียบในการแข่งขันต่อไปในอนาคต นักศึกษาย่อมต้องการเลือกสิ่งที่เขาดีที่สุดสำหรับเขาเอง

สิ่งที่สำคัญที่สุดเลยก็คืออาจารย์มหาวิทยาลัยเองก็ต้องปรับตัวอย่างรุนแรงเพื่อจะให้อยู่รอดได้ ทำอย่างไรถึงจะขยับตัวเองเข้ามาสู่โซนแห่งการเรียนรู้ (Learning Zone) อาจารย์มหาวิทยาลัยจำนวนมากต้องยอมรับนะว่าตัวเองต้องไปรีสกิลหรือว่าพัฒนาทักษะใหม่ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งอาจารย์มหาวิทยาลัยจะเป็นพวกตกยุคเต่าล้านปีเป็นจำนวนมาก

สิ่งที่เรียนมาเมื่อ 20-30 ปีก่อนมันไม่มีใครใช้แล้ว สาขาที่เห็นชัดที่สุดเลยก็คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ซึ่งจะสอนเหมือนสิ่งที่ตัวเองเรียนมาแล้วรับรองว่าไม่มีใครอยากจะเรียนด้วยเพราะว่ามันตกยุคไปหมดเรียบร้อยแล้ว ปีเดียวก็ตกยุคแล้ว การเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยมันจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ที่สำคัญนักเรียน นิสิต นักศึกษาสมัยนี้ก็สามารถเรียนด้วยตัวเองได้บนโลกออนไลน์ ทั้งแต่ Coursera, Khan Academy, MOOC มีมากเหลือเกิน สิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยต้องทำก็คือต้องพาตัวเองพ้นออกมาจาก Comfort Zone จะนั่งรอให้เด็กมาสมัครแล้วเรียนเป็นลูกศิษย์โดยที่ตนเองยังไม่มีอะไรที่เป็นที่ต้องการของสังคมนั้นคงไม่ประสบความสำเร็จอีกแล้ว ตลาดเป็นของผู้ซื้อคือนักเรียน ไม่ใช่ของผู้ขายคืออาจารย์หรือมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

ที่น่าสลดใจมากคือมหาวิทยาลัยส่วนหนึ่งก็เลือกที่จะไปขายของเอาปริญญาเป็นการตลาดไปเลยซึ่งผมก็ไม่ได้เห็นด้วย สิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือต้องมีความคิดนอกกรอบและมีความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาสิ่งใหม่ ๆ ให้ดีขึ้นโดยเฉพาะหลักสูตรที่ตัวเองสอนและความรู้ที่ต้องพัฒนาให้ทันสมัยและเป็นที่ต้องการของสังคมอย่างแท้จริง

นักศึกษาสมัยนี้ต้องการเรียนกับอาจารย์ที่ออกไปทำงานข้างนอกแล้วมีประสบการณ์จริง ไม่ใช่อาจารย์ที่สอนแต่ตามตำราเพียงอย่างเดียว

การที่อาจารย์ออกไปทำงานข้างนอกก็จะทำให้อาจารย์ในพ้นจาก Comfort Zone และ Fear Zone เพราะว่าได้เจอของจริงก็จะรู้ว่าของจริงในการทำงานนั้นควรเอาอะไรมาใช้ และก็จะได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองสอนนั้นสามารถที่จะเอาไปใช้จริงได้อย่างไร ในขณะเดียวกันก็เกิดการเรียนรู้และปรับปรุงพัฒนาความรู้นำมาทำวิจัยต่อยอดก็ได้ การที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะไปปฏิบัติจริง จะไปให้คำปรึกษาก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ทำให้อาจารย์เกิดการเรียนรู้ทั้งนั้น อาจารย์มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องทำงานนอกมหาวิทยาลัยเพื่อให้ได้ความรู้และประสบการณ์ที่ทันสมัยเอาไปสอนนักศึกษาถึงจะอยู่ได้ การที่ออกไปทำงานข้างนอกก็จะทำให้เจอปัญหาและความท้าทายต่างๆสารพัดซึ่งตำราไม่มีและเป็นสิ่งที่นักศึกษาอยากจะรู้โดยเฉพาะการสอนปริญญาโทหรือเอกภาคพิเศษ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความรู้ที่ทันสมัย อาจารย์ผู้สอนต้องมีความคล่องตัวแล้วก็รอบรู้เพื่อจะแก้ปัญหาอย่างบูรณาการได้ และได้พบปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในโลกของการทำงานภายนอกซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยความรู้เชิงเดี่ยวอย่างที่อาจารย์มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ถนัดได้อีกต่อไป

นอกจากนี้อาจารย์มหาวิทยาลัยยังจำเป็นต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งตัวเองไม่เคยทำได้มาก่อน เช่น ถ้าจะสอนคณิตศาสตร์ให้ได้สนุก ก็อาจจะต้องเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ด้วยเพราะว่าช่วยให้ทำสื่อการสอนได้เองได้ดีมากขึ้นด้วย ในขณะเดียวกันการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ที่ยาก ๆ ซับซ้อนในทุกวันนี้ใช้วิธีการเชิงตัวเลขหรือว่าใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาช่วยได้มาก สิ่งที่จะต้องสอนคือวิธีการคิดหรือทักษะในการคิดที่อยู่เบื้องหลังและเอาวิธีการคิดแบบคณิตศาสตร์แบบนี้มีวิธีการคิดอย่างไร ไปประยุกต์ใช้มากกว่าการท่องจำแทนค่า ใส่สูตร กดคอมพิวเตอร์ เท่านั้นแบบเดิม ๆ อีกต่อไป

อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องขยาย Comfort Zone ของตัวเองออกไปสู่สิ่งที่ตัวเองไม่ถนัดแต่เรียนรู้ได้เพิ่มเติมได้ด้วยตัวเอง ถ้าจะสอนแต่อย่างเดิมไม่คิดเปลี่ยนหัวข้อสิ่งที่ตัวเองสอนก็ตกยุคตกสมัยไปเรียบร้อยแล้วไม่มีทางอยู่ได้

สิ่งที่อยากเห็นก็คืออาจารย์มหาวิทยาลัยต้องพาตัวเองก้าวพ้นจากโซนแห่งความกลัวมาสู่โซนแห่งการเรียนรู้ เมื่อไหร่ก็ตามที่ก้าวเข้ามาสู่โซนแห่งการเรียนรู้ก็จะต้องเจอปัญหา ต้องหาทักษะใหม่ ต้องก้าวออกไปจากความสบายของตัวเอง นักเรียนจะเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่ออาจารย์ต้องเรียนรู้ก่อน และนักเรียนต้องการเรียนรู้ในสิ่งที่นำไปใช้ได้จริง

อาจารย์ที่ท่องตำรามาสอนเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เป็นที่ต้องการของนักเรียนอีกต่อไป มหาวิทยาลัยไม่ใช่มีหน้าที่ท่องหนังสือมาพ่นไฟให้นักศึกษาฟัง แต่ต้องสอนในสิ่งซึ่งเป็นทักษะและประสบการณ์เฉพาะตัวซึ่งไม่สามารถถ่ายทอดกันได้ง่าย ๆ นอกจากการลงมือทำ จับมือเด็กทำ โค้ชชิ่ง ให้ผลย้อนกลับ บอกเขาว่าอะไรถูก บอกเขาว่าอะไรผิด บอกเขาว่าอะไรควรปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ทำสิ่งที่ทำแล้วเอาไปใช้ได้จริงได้ นี่คือสิ่งที่นักเรียนต้องการ

เพราะว่าถ้าจะเอาแค่เลคเชอร์หรือบรรยายนักเรียนก็สามารถดูจาก YouTube ก็ได้ดูจากวีดิโอก็ได้ มีอีเลิร์นนิ่งมากมายเต็มไปหมดและฟรีด้วย ไม่จำเป็นต้องเข้าเรียนมหาวิทยาลัยอีกต่อไป

ใบปริญญาก็ไม่ได้มีความสำคัญมากเช่นในอดีตอีกต่อไปเพราะว่าคนสามารถแสวงหาทักษะใหม่ได้ตัวเองได้โปรดอย่าลืมว่าในอนาคตกว่าจะเกษียณอายุการทำงาน ผลการศึกษาวิจัยพบว่าคนเราจะเปลี่ยนอาชีพอย่างน้อย 5 ครั้งหรือเปลี่ยนงานที่ทำอย่างน้อย 5 ครั้ง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการเรียนรู้ด้วยตนเองตลอดชีวิต อาจารย์ก็มีความจำเป็นต้องปรับตัวให้ทำได้เช่นนั้นจึงจะสามารถไปสอนนักศึกษาให้ปรับตัวและเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตเช่นกัน

สุดท้ายเลยเราต้องผันตัวเองเข้าไปสู่โซนแห่งการเติบโต ต้องรู้ว่าเป้าหมายของการเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยคืออะไร และต้องมีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจ อยู่ด้วยความฝันอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง อยากจะเห็นการพัฒนาประเทศในด้านไหน

ขอยกตัวอาจารย์รุ่นเก่า ๆ ที่เข้ามาสอนหนังสือด้วยแรงบันดาลใจที่ต้องการจะพัฒนาวงการ เช่น รองศาสตราจารย์สดใส พันธุมโกมล มีเป้าหมายและมีความฝันที่จะพัฒนาการละครสมัยใหม่ในประเทศไทย และทำในสิ่งที่เชื่อและเชื่อในสิ่งที่ทำ แล้วก็หาความฝันต่อเนื่องตลอดเวลา จนประสบความสำเร็จ ได้รับการยกย่องเชิดชูเป็นศิลปินแห่งชาติ เป็นที่เคารพนับถือของลูกศิษย์มากมายในวงการละครและบันเทิง

ปัญหาคือหลายครั้งสิ่งที่ตัวเองอาจารย์มีอินเนอร์อาจจะเป็นสิ่งที่ตกยุคไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นอาจารย์มหาวิทยาลัยก็อาจจะจำเป็นต้องสร้าง Goal ใหม่ ตั้งวัตถุประสงค์ที่ท้าทายแล้วจะเอาชนะต่อไปให้ได้ในอนาคต

ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ปรับตัวให้พ้นจากพื้นที่ความสบายหรือ Comfort Zone หรือส่วนใหญ่ตอนนี้กำลังอยู่ในพื้นที่ของความกลัวด้วยซ้ำ มาเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้และพื้นที่แห่งการเติบโตแล้วคุณจะไม่ได้ไปต่อ

หลักสูตรที่สอนแต่วิชาเดิม ๆ คิดแบบเดิม ๆ ไม่ได้เรียนรู้ทักษะอะไรใหม่เลย อาจารย์จะเป็นคนที่เป็นโมฆะเพราะมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องการ ในขณะเดียวกันหากคุณจะออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่สามารถไปได้เพราะไม่มีทักษะอะไรใหม่เพียงพอที่ภาคเอกชนจะต้องการตัว

นี่คือสิ่งที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจะต้องเรียนรู้ ออกจากพื้นที่แห่งความสบายและพื้นที่แห่งความกลัวกันเถิดไม่ใช่เพื่อเฉพาะประเทศชาติ ไม่ใช่เฉพาะเพื่อนักศึกษา ไม่ใช่เพื่อนายจ้าง/มหาวิทยาลัยเพียงอย่างเดียว แต่เพื่อตัวอาจารย์มหาวิทยาลัยเองจะได้อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี มีแรงจูงใจภายใน และมีความใฝ่ฝันที่จะทำในสิ่งที่ดีให้เกิดขึ้น มีความเปลี่ยนแปลงท้าทายในชีวิตตลอดเวลา ถ้าอาจารย์มหาวิทยาลัยไม่ก้าวพ้นจุดนี้มหาวิทยาลัยไทยก็ไปไม่รอดเช่นกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น