สำนักงานนวัตกรรม และ กผฟ. ร่วมมือกันจัดงาน Startup Thailand ปีที่ 3 เปิดพื้นที่ปล่อยของให้กับผู้มีไอเดียสุดเจ๋งเพื่อผลิตโซลูชันด้านพลังงานให้ทันสมัยและทันกับความต้องการของตลาดยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2561 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ลงนามความร่วมมือด้านวิชาการกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หรือ EGAT เพื่อส่งเสริมการนำโครงการวิจัยและพัฒนา นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ เพื่อต่อยอดในภาคธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ พร้อมกล่าวถึงการจัดกิจกรรม Hackathon ในงาน Startup Thailand 2018
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่ทาง สนช.ได้จัดงาน Startup Thailand 2018 ขึ้น โดยปีนี้จะอยู่ภายใต้มีธีมงาน Endless Opportunity และในส่วนความร่วมมือกับกฟผ.ในครั้งนี้มีอยู่ด้วยกัน 2 ประเด็กหลักคือ การจัดประชุมวิชาการ นิทรรศการ และโครงการประกวดแข่งขัน กลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) และการแข่งขันระดมความคิดแก้ปัญหาหรือการพัฒนาตามหัวข้อที่ได้รับภายในระยะเวลาที่กำหนด (Hackathon) รวมถึงโครงการประกวดอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ เกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ให้สามารถต่อยอดสู่เชิงพานิชณ์ได้
"เรื่องที่ 2 คือ การพิจารณาและประเมินศักยภาพโครงการวิจัยที่ได้รับทุนภายใต้หัวข้อนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งในการประเมินจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาร่วมประเมินศักยภาพและกลั่นกรองพร้อมให้คำแนะนำเกี่ยวกับโครงงานวิจัยนั้นๆ ทั้งในขั้นพิจารณาเบื้องต้นและขั้นตัดสินการอนุมัติให้ทุน" ดร.กริชผกากล่าว
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี รองผู้ว่าการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่ กฟผ. กล่าวว่า ตลอด 35 ปี กฟผ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี สำหรับความร่วมมือในครั้งนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนากำลังคนเพื่อไปพัฒนาทางด้านพลังงานที่จำเป็นในมิติต่างๆของประเทศไทยโดยเฉพาะพลังงานหมุนเวียนและพลังงานใหม่
การแข่งขันระดมความคิดภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด (Hackathon) ที่จะจัดขึ้นภายในงาน Startup Thailand 2018 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ ระหว่างวันที่ 19 - 20 พฤษภาคม 2561 ทางกฟผ. ได้ให้โจทย์เพื่อเฟ้นหาขุมพลังใหม่ของนวัตกรรมด้านพลังงาน คือ "Innovative Power Solution for Thailand Community and Energy Seector" ประกอบด้วย 5 หัวข้อดังนี้
1) Firm Renewable Energy การนำเอาพลังงานทดแทนเข้ามาเสริมระบบไฟฟ้าหลัก และการบริหารจัดการระบบผลิตพลังงานทดแทนให้มีเสถียรภาพ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมีความมั่นคงและผลิตได้อย่างต่อเนื่อง
2) Energy Storage หนึ่งในกุญแจสำคัญสู่ความมั่นคงเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ด้วยการพัฒนาระบบกักเก็บไฟฟ้า
3) Energy Vehicle การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าและระบบสถานีชาร์ตไฟฟ้า การพัฒนาเทคโนโลยีธุรกิจภาคการขนส่งและภาคอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า
4) Smart City - Smart Grid การส่งเสริมและพัฒนาเมืองอัจฉริยะ อย่างเครื่อข่ายการจ่ายไฟฟ้า เมืองอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ เป็นต้น ด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์และ internet of thing
5) Bio Economy การนำทรัพยากรธรรมชาติ จากพืช สัตว์และสิ่ที่มีอยู่ในธรรมชาติ มาพัฒนาต่อยอดด้านการวิจัย นวัตกรรม เทคโนโลยี หรือแปรรูปเพื่อสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
"การแข่งขันภายใต้หัวข้อดังกล่าวเป็นการแข่งขันเพื่อตอบโจทย์และก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมให้ กฟผ. และส่งเสริมคุณภาพชีวิตของสังคมไทยให้ดีขึ้นกว่าเดิม สำหรับทีมที่ชนะเลิศ กฟผ. จะให้การสนับสนุนด้านทุนวิจัยและพัฒนาแนวคิดให้เกิดเป็นนวัตกรรมและธุรกิจต่อไป"