ผู้จัดการรายวัน 360 องศา - หุ้นไทยผันผวนตั้งแต่ต้นปีต่างชาติขายเทขาย 9.47 หมื่นล้านบาท กลุ่มพลังงานทดแทน โดนด้วยหลังกระทรวงพลังงานเล็งทบทวนรับซื้อไฟฟ้า 5 ปี ฉุดความน่าสนใจเข้าลงทุนลดต่ำ แบงก์เริ่มเบรกปล่อยวงเงินขยายกำลังการผลิต หลายรายเทขายออกจากพอร์ต กูรูแนะเลือกรายตัวที่มีกำลังผลิตปัจจุบันสูง เหตุผลดำเนินเติบโตแบบทรงตัว
ความผันผวนของดัชนีหุ้นไทยช่วงที่ผ่านมา หนีไม่พ้นปัจจัยกดดันจากต่างประเทศที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติเทขายทิ้งหุ้นไทยออกไปในช่วง 1-10 พ.ค. 2561 เป็นเม็ดเงินรวม 1.51 หมื่นล้านบาท และตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นเม็ดเงินรวม 9.47 หมื่นล้านบาท แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ จำนวนเม็ดเงินที่ขายออกไปจากกระดานหุ้นไทยที่ผ่านมา พบว่ามีเม็ดเงินจำนวนหนึ่งไหลออกมาจากหุ้นกลุ่มพลังงานทดแทน ซึ่งแต่เดิมถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่โดดเด่น และได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ
สาเหตุที่สำคัญจนเป็นเหตุให้นักลงทุนไทยและต่างชาติตัดสินใจขายทิ้งหุ้นไทย หนีไม่พ้นกรณีกระทรวงพลังงานนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไป 5 ปี โดยช่วงนี้จะเปิดรับซื้อเพียงไฟฟ้าจากขยะชุมชน 12 โครงการ 77.9 เมกะวัตต์เท่านั้น เพราะภาพรวมในปัจจุบัน กระทรวงพลังงานเชื่อว่ากำลังผลิตที่มี และรับซื้ออยู่ขณะนี้ มีมากพอที่จะไม่ทำให้พลังงานไฟฟ้าจะขาดแคลนอย่างน้อยก็ในอีก 5 ปีนี้ จนทำให้ความน่าสนใจของหุ้นในกลุ่มนี้ถูกลดทอน และนำไปสู่ราคาหุ้นที่ลดลงอย่างหนัก
ผลสะเทือนจากนโยบายดังกล่าวทำให้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องออกมาเคลื่อนไหวขอให้ทบทวนนโยบายนี้ใหม่ เพราะหวั่นเกรงว่าจะฉุดเม็ดเงินลงทุนกว่า 4.5 แสนล้านบาท โดยกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเริ่มตั้งแต่กลุ่มทุนผู้ก่อตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนประเภทต่างๆ ตามมาด้วยเกษตรกรที่ขายเชื้อเพลิงชีวมวลทั่วประเทศ รวมถึงนักลงทุนที่เคยเชื่อมั่นในหุ้นกลุ่มนี้ และสะสมหุ้นเก็บไว้ในพอร์ตลงทุน
ล่าสุด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้เข้าหารือกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เพื่อขอความชัดเจนถึงนโยบายดังกล่าว เนื่องจากสร้างความสับสนจากผู้ประกอบการอย่างมาก และเกรงว่าหากปล่อยไว้จะกระทบต่อการลงทุนใหม่ที่จะหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม
“ส.อ.ท. ได้ชี้แจงให้ รมว.พลังงาน ทราบว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนส่วนใหญ่ก็เป็นขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) และเกิดขึ้นจากการส่งเสริมนโยบายของภาครัฐในอดีต ภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) ที่กำหนดรับซื้อไฟฟ้าเมื่อสิ้นสุดแผนไว้ทั้งสิ้นในปี 2579 รวม 1.67 หมื่นเมกะวัตต์ การที่กระทรวงพลังงาน จะปรับนโยบาย เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ก็เข้าใจได้ แต่ควรทำแบบค่อยเป็นค่อยไป” สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. ให้ความเห็น
และจากการหารือ รมว.พลังงาน ได้ยืนยันว่าจะไม่ปิดกั้นการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาค่าไฟฟ้าที่เอกชนเสนอขายต้องเป็นราคาเท่ากับหรือต่ำกว่าราคาขายส่งที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับซื้อในขณะนี้ที่ 2.44 บาทต่อหน่วย โดยได้ยกตัวอย่างโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำ (โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ) ที่ทำราคาได้ต่ำ แต่ ส.อ.ท. ได้ชี้แจงว่า ภาครัฐต้องเข้าใจว่า เชื้อเพลิงแต่ละประเภทมีข้อจำกัด จะให้ต่ำมากคงไม่ใช่ จึงได้เสนอให้รับซื้อแยกแต่ละประเภทต่างกันออกไป เพราะไม่เช่นนั้น จะมีเพียงแผงโซลาร์เท่านั้นที่พอจะแข่งขันในราคานี้ได้
สำหรับผลกระทบระยะสั้น ส.อ.ท. พบว่า ราคาหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนได้ลดลง บางแห่งลด 50% และในระยะกลางและยาว จะกระทบต่อการลงทุนใหม่ทั้งหมด เนื่องจากสถาบันการเงินเริ่มไม่ปล่อยกู้ และนักลงทุนต่างชาติอาจถอนการลงทุนจากไทย ซึ่งตลอด 10 ปีที่ผ่านมา มีเม็ดเงินลงทุนของพลังงานทดแทนทั้งระบบประมาณ 4.5 แสนล้านบาท โดยจะมีการลงทุนใหม่เฉลี่ยปีละ 2.5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 500 เมกะวัตต์
จากปัญหาที่เกิดขึ้นมีการคาดการณ์ต่อแนวโน้มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนว่า การชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน 5 ปี ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นในช่วงที่ผ่านมา เพราะกังวลว่ารายได้และกำไรของบริษัทผู้ประกอบการอาจสะดุดตัวเมื่อหมดงานในมือที่มีอยู่ (งานขาดความต่อเนื่อง) ทั้งนี้เมื่อปลายเดือน มีนาคม 2561 ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สิ้นปี 2561 จะมีพลังงานทดแทนเข้าระบบเกือบ 1 พันเมกะวัตต์ ทั้งจากโครงการโซลาร์ฟาร์มสำหรับกลุ่มราชการ และสหกรณ์การเกษตร เฟส 2 จำนวน 154 เมกะวัตต์ ที่กำหนดให้ขายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายใน 30 ธันวาคม 2561 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบมาแล้ว 100 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออีก 54 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยเข้าปลายปี 2561 และโรงไฟฟ้าพลังงานลมหลายโครงการอีก 900 เมกะวัตต์ ที่จะเข้าปลายปี 2561 ส่วนในปี 2561-2562 จะมีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเข้ามาอีก 9.8 พันเมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 58.5% ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่กำหนดเป้าหมายให้มีไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปี 2579 ที่ 1.67 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
ที่ผ่านมา กลุ่มหุ้นกลุ่มพลังงาน เป็นกลุ่มที่มีมูลค่าตลาด (มาร์เกตแคป) อันดับหนึ่งในตลาดหุ้นไทย ขณะที่กลุ่มพลังงานทดแทน เป็นกลุ่มที่ถูกคาดการณ์ว่ามีการเติบโตตามเทรนของโลก บวกกับช่วงที่ผ่านมา มีการเปิดให้เอกชนได้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และยังให้ราคาชดเชยให้ด้วย จึงทำให้ภาพของธุรกิจมีการเติบโตในเชิงรายได้ที่เห็นชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ด้วยปัจจุบัน ภาครัฐเริ่มกลับมาทบทวนแล้วว่ากำลังผลิตไฟฟ้าเกินกว่าที่ต้องการถึง 20-30% นั้น เกินความจำเป็น จนทำให้ไม่มีการออกใบอนุญาตใหม่และถึงขั้นจะทบทวนหยุดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในอีก 5 ปีข้างหน้า (2561-2565) ส่งผลให้หุ้นในกลุ่มนี้เริ่มลดความร้อนแรง และมีการเทขายหุ้นในกลุ่มเหล่านี้ออกมา แต่ความจริงกลุ่มพลังงานทดแทน ยังเป็นธุรกิจเติบโตอยู่ แม้นโยบายภาครัฐจะสร้างผลกระทบ ทำให้หุ้นที่เคยร้อนแรงราคาเริ่มปรับตัวลดลง กลายเป็นหุ้นที่พิจารณาที่ปัจจัยพื้นฐาน หรือโครงการที่ดำเนินการอยู่แล้วจริงๆ
สิ่งเหล่านี้จะทำให้บริษัทที่ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมดความสนใจการลงทุนในประเทศ และหันไปหาการลงทุนในต่างประเทศทดแทน อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ถือว่ายังน้อยกว่าในประเทศ ตรงกันข้ามหากเป็นกลุ่มที่เป็น ผู้ผลิตอุปกรณ์และติดตั้งพลังงานทดแทน จะได้เปรียบมากกว่าเพราะยังมีการเปิดเสรีในโซลาร์รูฟท็อป และยังสามารถรับงานทั้งในประเทศ และต่างประเทศได้
ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้แนะนำว่า ต้องคำนึงความถูก-แพงของมูลค่าหุ้น และการเข้าซื้อลงทุนควรมีมูลค่าของธุรกิจที่ดำเนินงานในปัจจุบัน (โรงไฟฟ้า) เป็นฐานรองรับ เพราะหุ้นกลุ่มนี้ที่ปรับลงในระยะนี้ไม่มีข่าวลบเฉพาะตัว แต่เป็นข่าวลบทั้งอุตสาหกรรม ดังนั้น ถ้าไม่มี Capacity ใหม่ เข้ามาเติมหุ้นเหล่านี้ก็จะไม่มี Growth (แต่ยังมีรายได้และกำไรที่มั่นคงสม่ำเสมอ เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ก็ควรจ่ายปันผลสูงกว่าเดิม) และไม่ควรเป็นหุ้นที่ซื้อขายบน P/E ที่สูง โดยมองว่า P/E ไม่ควรสูงกว่าการเติบโตของกำไร