ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาคเอกชนที่เคยบูมสุดขีดและมีมูลค่าการลงทุนรวมแล้ว 4-5 แสนล้านบาท กำลังเผชิญกับเปลี่ยนแปลงนโยบายจากฝ่ายการเมือง และ Disruptive Technology หากไม่ปรับตัวรองรับโอกาสที่สดใสของธุรกิจดังกล่าวเช่นอดีตที่ผ่านมาก็คงจะอยู่ยากขึ้น
นโยบายภาครัฐในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนถือเป็นบทบาทหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจดังกล่าว ซึ่งที่ผานมากระทรวงพลังงานได้ดำเนินการภายใต้แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP2015) เป็นแผนระยะยาว 20 ปี (ปี 2558-79) ที่กำหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่ประกอบด้วยขยะชีวมวล น้ำทั้งขนาดใหญ่-เล็ก ก๊าซชีวภาพ พลังงานลม แสงอาทิตย์ สิ้นสุดปี 79 จะอยู่ที่ 19,684 เมกะวัตต์
การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากภาครัฐดังกล่าวมีปัจจัยหลักมาจากกระแสทั่วโลกที่มุ่งเน้นพลังงานสะอาดไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือกล่าวง่ายๆ คือการลดใช้พลังงานจากฟอสซิลเพื่อลดภาวะโลกร้อนนั่นเอง ซึ่งนโยบายของรัฐที่ผ่านมาก็มาจากฝ่ายการเมืองนั่นเองที่เริ่มส่งเสริมการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนระยะแรกรูปแบบ ADDER คือ รัฐจ่ายเงินอุดหนุนเพิ่มราคาค่าไฟให้กับเอกชนเพื่อจูงใจการผลิตและค่าไฟนี้ได้ถูกผลักไปยังประชาชน ต่อมาได้มีการปรับรูปแบบให้เป็นการรับซื้อไฟฟ้าแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ซึ่งคำนวณรับซื้อไฟตามต้นทุนจริง และปัจจุบันได้ปรับมาสู่รูปแบบการประมูล (Bidding) ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคามากขึ้น
ไม่อาจปฏิเสธว่าการส่งเสริมจากภาครัฐที่ผ่านมาได้ส่งผลให้เอกชนกระโดดเข้ามาสู่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังานทดแทนจำนวนมาก โดยเฉพาะรูปแบบ ADDER ที่เห็นชัดว่าจะคุ้มทุนได้ภายใน 7-8 ปี แต่การเข้ามาเสนอขายไฟฟ้าก็สร้างปัญหาที่พบว่าหลายรายไม่ได้ดำเนินการจริงแต่ได้นำใบอนุญาตซื้อขายไฟที่ได้จากรัฐไปเร่ขายต่อและเปิดช่องให้การเมืองมากำหนดนโยบายรับซื้อเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนของตนเอง ทำให้ต่อมาคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ต้องออกระเบียบเข้มข้นในหลายรูปแบบเพื่อให้เหลือผู้ที่ต้องการพัฒนาและดำเนินการจริงเท่านั้น
ธุรกิจพลังงานทดแทนอาจกล่าวได้ว่าบูมสุดขีดก็ในช่วงยุครัฐบาลทักษิณต่อเนื่องมาส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้ที่เกี่ยวข้องธุรกิจไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำประมาณ 300-400 ราย และเมื่อสำรวจหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) สูงถึง 4- 5 แสนล้านบาทดังนั้นจึงไม่แปลกนักที่หุ้นกลุ่มนี้จะดิ่งหนักทันทีในช่วงต้นเดือน พ.ค.หลังจากที่นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ก้าวมารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2560 (ครม.ประยุทธ์ 5) ย้ำผ่านสื่อมวลชนว่าจะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนยกเว้นขยะออกไปอีก 5 ปีเพราะมีไฟฟ้าสำรองเพียงพอ แต่นายศิริก็ไม่ถึงกับปิดประตูตายหากแต่ชี้ว่าหากขายได้ในราคาไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วยก็พร้อมจะซื้อไม่อั้น
ทั้งนี้ เขาระบุต่อว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนปัจจุบันได้เข้าระบบแล้วถึงหมื่นเมกะวัตต์หรือเกือบครึ่งหนึ่งของแผน AEDP ทั้งที่แผนดังกล่าว 20 ปีกำหนดซื้อไฟรวมเพียง 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ ขณะเดียวกันไฟที่ผลิตดังกล่าวได้ถูกผลักเป็นภาระค่าไฟสูงในขณะนี้ถึง 23 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากการส่งเสริมแล้วเป็นภาระประชาชนตนก็คงไม่ต้องการ
นายศิริได้ชี้แจงให้เห็นรายละเอียดต่อมาว่า ที่มาของค่าไฟ 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นราคาเฉลี่ยจากการประมูล SPP Hybrid Firm ซึ่งมีผู้ชนะการประมูล 17 ราย จำนวน 300 เมกะวัตต์ โดยเขาให้เหตุผลว่าหากเรารับซื้อไฟฟ้าจากชีวมวลรายใหม่สูงกว่าก็เท่ากับไม่ยุติธรรมกับ 17 รายนี้ ประกอบกับยังแสดงให้เห็นว่ายังมีการผลิตโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ( Floating Solar Farm) ที่ขณะนี้ กฟผ.ร่วมมือกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี สามารถผลิตไฟฟ้าได้ในระดับ 2.4-2.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งถือเป็นเทคโนโลยีแรกๆ ของโลกที่ผสมผสานการผลิตไฟจากแสงอาทิตย์กับน้ำในเขื่อนที่ไม่ต้องสร้างสายส่งใหม่เพราะมีระบบต่างๆ รองรับในเขื่อนอยู่แล้ว
“ผมย้ำนะครับว่าไฟฟ้ามีเพียงพอแต่ก็ยังส่งเสริมไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี โดยราคารับซื้อต้องไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วย เว้นชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนโซลาร์รูฟท็อปเสรียังไม่ล้มแต่จะไม่ใช้คำว่าเสรี ซึ่งโซลาร์รูฟท็อปนี้จะเป็นแกนหลักในการผลิตไฟฟ้าของไทยในอนาคต ส่วนราคาอาจจะไม่ใช่ 2.44 บาทต่อหน่วยเพราะเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เช่นเดียวกับขยะที่มีมิติอื่นๆ จะเทียบกับพลังงานทดแทนอื่นๆ ไม่ได้เช่นกัน” นายศิริกล่าวย้ำกับสื่อมวลชน
ทางด้านเอกชน เมื่อกระแสข่าวออกไปว่ารัฐจะไม่รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 5 ปีถึงกับช็อกไปตามๆ กัน และผลกระทบก็เกิดขึ้นทันทีกับบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่บางตัวหุ้นดิ่งเกือบ 50% ทุกอย่างหยุดชะงักงันเพราะไม่รู้ชะตาอนาคต และแรกๆ นายศิริก็ไม่ชี้ชัดในรายละเอียดเท่าใดนักทำให้ นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต้องควงแขนตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของ ส.อ.ท.รุดพบนายศิริเป็นการด่วนเมื่อ 4 พ.ค.ที่ผ่านมา
ต่อมาวันที่ 9 พ.ค.ได้เปิดโต๊ะแถลงข่าวถึงการเข้าพบ โดยชี้ว่าแม้ว่านายศิริจะยืนยันนโยบายว่ารับซื้อไม่อั้นแต่มีเงื่อนไขค่าไฟไม่เกิน 2.44 บาทต่อหน่วยก็ยังไม่ได้สร้างความมั่นใจให้เอกชนนัก เพราะแนวทางการเปิดรับซื้อที่เป็นรูปธรรมยังไม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันค่าไฟดังกล่าวก็ยังไม่สะท้อนข้อเท็จจริงที่แต่ละประเภทเชื้อเพลิงมีข้อจำกัดต่างกันมากโดยเฉพาะจากรายเล็กๆ และยังแสดงให้เห็นว่าราคา 2.44 บาทต่อหน่วยของ SPP Hybrid มาจากชีวมวลซึ่งเป็นการผลิตที่เอกชนเตรียมพร้อมและมีเชื้อเพลิงอยู่แล้ว ดังนั้นราคาดังกล่าวจะมีเพียงโซลาร์ฟาร์มรายใหญ่ขนาด 50 เมกะวัตต์ไปแล้วจะสามารถแข่งขันได้
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.กล่าวตอกย้ำว่า ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนล้วนเกิดจากนโยบายรัฐที่ส่งเสริมการลงทุนเพื่อผลิตไฟฟ้าหมื่นเมกะวัตต์ที่ก่อให้เกิดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงและทางอ้อมมูลค่าราว 3-4 แสนล้านบาท ยอมรับว่าการส่งเสริมทำให้ค่าไฟสูงขึ้น 23 สตางค์ต่อหน่วยแต่ทุกอย่างก็ค่อยๆ ปรับ ซึ่งต่างประเทศก็เป็นเช่นนี้ที่ระยะแรกจำเป็นต้องจูงใจเมื่อตลาดมีการแข่งขันก็นำมาสู่การประมูล และอนาคตพลังงานทดแทนมีแต่จะทำให้ค่าไฟต่ำลงด้วยนวัตกรรมที่ทันสมัยโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อป
ทั้งนี้ ภาคเอกชนในรายอื่นๆ ต่างก็ระบุตรงกันคือข่าวที่ออกไปทำให้นักลงทุนไม่มั่นใจอย่างมาก สถาบันการเริ่มจับตามองและอาจไม่ปล่อยกู้ตามมา เพราะเอกชนต่างมองอนาคตไว้แล้วว่าตามแผน AEDP ที่เหลืออย่างน้อยน่าจะเกิดการรับซื้อไฟฟ้าใหม่อีกปีละ 500 เมกะวัตต์ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี และการอ้างว่าไฟสำรองที่สูงนั้นก็เป็นประเด็นที่เกิดกระแสวิพากษ์อย่างหนักว่ารัฐเองพยากรณ์คลาดเคลื่อนและมีการรับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้ามากไป โดยเฉพาะโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนรายใหญ่ หรือ IPP จากเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งไม่ต้องเอ่ยชื่อก็คงพอจะเดาได้ออกว่าเป็นรายใดเพราะคว้าไปรายเดียวถึง 5,000 เมกะวัตต์ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การแตะเบรกชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนหรือเตะถ่วงให้หยุดนิ่งจึงถือว่าไม่เป็นธรรมต่อภาคเอกชนที่สนับสนุนนโยบายรัฐด้านพลังงานทดแทนมาโดยตลอด และยังมองว่านี่คือการแก้ไขปัญหาที่สวนทางในอนาคตที่โรงไฟฟ้าขนาดเล็กจะเกิดขึ้นมากและจะกระจายอยู่ใกล้แหล่งใช้ไฟฟ้า (Distributed Generation) มากกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนบางประเทศทั้งโซลาร์ฟาร์มขนาดใหญ่ ชีวมวลแบบ Co-Generation ก็เริ่มมีราคาขายต่ำลงเรื่อยๆ และมองกันว่าอนาคตค่าไฟจากพลังงานทดแทนมีโอกาสจะต่ำกว่าโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ในที่สุด
ไม่เพียงเท่านั้น เอกชนยังคงมีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยเร็วๆ นี้คงต้องจับตาสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (APPP) ที่มีนางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่ บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) เป็นนายกสมาคมฯ ที่ระบุผ่านสื่อแล้วว่าเตรียมจะเข้าหารือกับ รมว.พลังงานเพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ที่จะหมดสัญญาปี 2562-68 ว่าต้องการให้เดินตามแนวทางใดเนื่องจากเกรงผลกระทบต่อลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมที่มีมากถึง 300 ราย และยืนยันว่ามีต้นทุนค่าไฟที่ต่ำราว 2.40-2.50 บาทต่อหน่วยและถูกกว่า IPP ถึง 10%
ทั้งหมดนี้เป็นการเคลื่อนไหวท่ามกลางนโยบายรัฐที่กำลังจะเปลี่ยนไป และภาพดูจะยังไม่ชัดเจนนักโดยเฉพาะในแนวทางการปฏิบัติ แต่ที่ชัดเจนและมาแบบเงียบๆ คือการผลิตไฟเองใช้เอง (IPS) ที่พบว่าธุรกิจรายกลางและรายใหญ่ทั้งห้างสรรพสินค้า โรงงาน ต่างนำหลังคามาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปผลิตไฟใช้เองมากขึ้น และสิ่งนี้กำลังจะป่วนระบบผลิตไฟของประเทศเพราะการผลิตไฟจะผลิตได้เฉพาะกลางวันแต่กลางคืนจะต้องหันมาดึงไฟใช้ในระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยตรง ซึ่งหากวางแผนไม่ดีพออาจกระทบต่อความมั่นคงได้
จะเห็นว่ารูปแบบการผลิตไฟและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปไม่เพียงแต่เอกชนที่ต้องปรับตัวให้สอดรับ แน่นอนว่านโยบายรัฐที่เกี่ยวข้องก็ต้องปรับตัวด้วยเช่นกัน ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP 2018 ที่กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการนั้นจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสมดุลระหว่างมิติความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะผลประโยชน์ประชาชนที่ว่าด้วยค่าไฟฟ้า ซึ่งนายศิริได้กล่าวย้ำตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งว่าจะต้องการไม่ทำให้ค่าไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้น หรือดีสุดจะต้องต่ำกว่าแผน PDP เดิมที่กำหนดค่าไฟตลอดแผนจะอยู่ที่ระดับ 5.55บาทต่อหน่วยในปี 2579
กระทรวงพลังงานคาดว่าจะจัดทำแผน PDP ใหม่แล้วเสร็จในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งคงจะทำให้ภาพเบลอๆ เกี่ยวกับพลังงานของไทยโดยเฉพาะพลังงานทดแทนได้เห็นชัดเจนขึ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดแผน PDP นี้คงจะไม่ซ้ำรอยที่เปิดช่องให้เกิดโรงไฟฟ้าที่เกินระบบเช่นอดีตที่ผ่านมาแล้วภาระมาตกแก่ประชาชนที่เป็นผู้จ่ายค่าไฟ