xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ยันรัฐไม่เคลียร์! ซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนไม่อั้นเมื่อไหร่แน่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ส.อ.ท.ยอมรับ ก.พลังงานยังให้คำตอบไม่เคลียร์พร้อมซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนไม่อั้นเมื่อใดแน่ และค่าไฟไม่เป็นภาระประชาชนคือเท่าใด ย้ำธุรกิจ 300-400 รายเกิดจากนโยบายรัฐตามแผน AEDP จี้รัฐปีนี้ควรรับซื้อ SPP Semi Firm 268 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟฯ เสรี

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการเข้าพบกับนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2561 เพื่อหารือถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนว่า รมว.พลังงานยืนยันว่าไม่ได้หยุดหรือชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 5 ปีตามที่เป็นข่าว แต่การรับซื้อจะต้องมีราคาที่ไม่เป็นภาระต่อประชาชน ดังนั้นในเรื่องดังกล่าวทาง ส.อ.ท.โดยเฉพาะกลุ่มพลังงานทดแทนเห็นด้วยอย่างยิ่งแต่ต้องการให้เกิดความชัดเจนในแนวทางการนำไปสู่ภาคปฏิบัติ และราคาที่ไม่เป็นภาระประชาชนนั้นเป็นอัตราใดแน่เพราะราคาที่จำหน่ายให้ประชาชนมีตั้งแต่ 2.5-5 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ก็เพื่อที่ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนดำเนินงานได้ถูกต้อง

“ท่านก็ยืนยันไม่ได้ชะลอซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน แต่ราคาต้องไม่เป็นภาระประชาชน และได้ระบุว่าราคาขายต่ำกว่า หรือเท่ากับ Grid Parity และต้องเป็นประเภท Firm โดยจะรับซื้อไม่จำกัด แต่จะไม่รวมถึงโรงไฟฟ้าจากขยะ ส่วนราคา 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นเป็นราคาเฉลี่ยจากการประมูล SPP Hybrid ครั้งล่าสุด ดังนั้นจึงเห็นว่ารัฐควรจะมีราคากลางออกมาให้ชัดเจน และต้องมองว่าพลังงานทดแทนจะเป็นส่วนสร้างความมั่นคง เพราะในอนาคตเทรนด์พลังงานจะเป็นไฟฟ้าเพิ่มขึ้นทั้งรถยนต์ไฟฟ้า(อีซี) รถไฟฟ้า ระบบอีคอมเมิร์ซทุกอย่างล้วนต้องใช้ไฟ และเทรนด์อนาคตก็ยังมองในเรื่องของพลังงานสะอาดอีกด้วย” นายสุพันธุ์กล่าว

นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ผลิตไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานทดแทนรวมกับอุตสาหกรรมที่ต่อเนื่องมีอยู่ประมาณ 300-400 ราย มีทั้งรายใหญ่ รายกลาง และเล็ก ซึ่งล้วนเกิดมาจากนโยบายรัฐที่กำหนดการรับซื้อพลังงานทดแทนไว้ในแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ที่กำหนดรับซื้อไฟจากพลังงานทดแทนเมื่อสิ้นสุดแผนปี 2579 ที่ประมาณ 1.9 หมื่นเมกะวัตต์ (รวมน้ำ) ขณะนี้มีการรับซื้อแล้วประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ จึงต้องการให้รัฐรับซื้อตามแผน โดยในปีนี้ก็ควรจะพิจารณาซื้อไฟตามกำหนดที่วางไว้ในส่วนของ VSPP Semi-Firm รวม 268 เมกะวัตต์ และโซลาร์รูฟท็อปเสรีที่ประกาศมานานกว่า 1 ปีแล้วแต่จนขณะนี้ก็ยังไม่นำไปสู่ภาคปฏิบัติ

“การผลิตไฟที่จะขายในราคา 2.44 บาทต่อหน่วยนั้นยอมรับว่าแต่ละเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีก็ต่างกันออกไปรวมถึงข้อจำกัดในแง่ความเป็นเจ้าของวัตถุดิบ มองขณะนี้มีเพียงโซลาร์ฯ ขนาดตั้งแต่ 50 เมกะวัตต์เท่านั้นที่จะผลิตได้ในต้นทุนดังกล่าวมากสุด” นายสุวัฒน์กล่าว

ส่วนกรณีที่รัฐมองว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงที่ผ่านมารัฐได้มีการอุดหนุนคิดเป็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ประมาณ 18-21 สตางค์ต่อหน่วยในขณะนี้ที่เป็นภาระประชาชนจ่ายเพิ่ม ก็ต้องเข้าใจว่าต่างประเทศก็เริ่มต้นเช่นไทยที่ระยะแรกต้องอุดหนุนจากนั้นราคาก็เริ่มต่ำลงเช่นเดียวกับของไทยที่เดิมมีการอุดหนุนรูปแบบ ADDER ก็ปรับมาเป็น FiT และล่าสุดก็ใช้วิธีประมูลแข่งขันราคาก็ต่ำลงมาต่อเนื่อง


กำลังโหลดความคิดเห็น