xs
xsm
sm
md
lg

เกาะติดเทคโนโลยี 5G จ่อพลิกโฉมโซลาร์รูฟท็อป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกพ.เกาะติดเทคโนโลยี 5G ใกล้ชิด คาดจะพลิกโฉมหน้าธุรกิจไฟฟ้าโดยเฉพาะการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปที่จะก่อให้เกิดการบริการที่มีรูปแบบใหม่ๆ ผ่านระบบออนไลน์มากขึ้นซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐและเอกชนต้องติดตามและพร้อมรับมือใกล้ชิด เผยยอดจดแจ้งยังโตต่อเนื่อง ส.อ.ท.เชื่อการแข่งขันธุรกิจบริการติดตั้งระบบจัดการพลังงานครบวงจรแข่งขันรุนแรงครึ่งปีหลัง หลังรัฐไม่เปิดรับซื้อไฟโครงการใหม่  
               
นายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์การติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) อย่างใกล้ชิด หลังพบกลุ่มผู้ผลิตใช้เอง (IPS) ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และการที่ไทยกำลังจะประมูลคลื่น 5G คาดว่าจะส่งผลให้เกิดการพลิกโฉมของธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปที่คาดว่าจะมีการรุกหนักในด้านการตลาดที่จะมีการบริการติดตั้งและซื้อขายไฟฟ้าผ่านระบบออนไลน์ในรูปแบบใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องติดตามเพื่อปรับแผนในการรองรับผลกระทบที่จะตามมา

“เราคงต้องติดตามใกล้ชิด เพราะ 5G จะพลิกโฉมธุรกิจต่างๆ เช่นเดียวกับโซลาร์รูฟท็อปที่เชื่อว่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในปี 2562” นายวีระพลกล่าว

ปัจจุบันมีการยื่นจดแจ้งการผลิตโซลาร์รูฟท็อปกับ กกพ.เฉลี่ยรวมเดือนละ 5-10 เมกะวัตต์ โดยในเดือน มี.ค. 61 ยื่นจดแจ้งรวมประมาณ 10 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 2561 ที่ยื่นจดแจ้งราวเดือนละ 4-5 เมกะวัตต์ ขณะที่เดือน เม.ย. 2561 ลดลงมาอยู่ที่ราว 5 เมกะวัตต์ ซึ่งเข้าใจว่ายอดจดแจ้งที่ลดลงอาจเป็นเพราะในเดือน เม.ย.มีวันหยุดจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องรอดูสถานการณ์จดแจ้งในเดือน พ.ค.นี้อีกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทใหญ่ๆ ได้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อผลิตไฟใช้เองอย่างมาก เช่น เทสโก้โลตัส เครือเซ็นทรัล กลุ่มเอสซีจี บุญถาวร เป็นต้น
                 
นายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ครึ่งหลังปีนี้การลงทุนผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เอง (IPS) จะเห็นการแข่งขันรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของธุรกิจรับจ้างให้บริการติดตั้งแบบครบวงจรจะขยายตัวเพิ่มขึ้น และเห็นรูปแบบแพกเกจส่วนลดต้นทุนค่าไฟฟ้าที่แข่งขันมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการปรับตัวของผู้ประกอบการพยุงให้ธุรกิจอยู่รอด ในช่วงที่ภาครัฐยังไม่เปิดรับโครงการใหม่โดยการลงทุนในส่วนของโซลาร์รูฟท็อป  

“การที่รัฐมีนโยบายไม่ต้องการให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าในอนาคต ในแง่ของผู้ผลิตเป็นเรื่องดีที่ต้นทุนไม่ผันผวน แต่ก็มีหลายประเทศที่ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ในระดับต่ำกว่าต้นทุนจริง ทำให้เกิดการไม่ลงทุนและขาดแคลนไฟฟ้า แต่ค่าไฟฟ้าในส่วนของไทยยังไม่ถือว่าต่ำกว่าต้นทุนจริง” นายสุวัฒน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น