xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานปิดประตูรับซื้อไฟจากพลังงานหมุนเวียนยาว 5 ปี เว้นค่าไฟต่ำจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานประกาศชัดไม่มีนโยบายเปิดโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใหม่ยาว 5 ปี ยกเว้นราคาเท่าหรือต่ำกว่าที่ กฟผ.ขายส่ง 2.40 บาทต่อหน่วยก็พร้อมสนับสนุน ย้ำไฟฟ้าช่วง 5 ปีมีเพียงพอ หวังชะลอดูเทคโนโลยีใหม่ที่คาดว่าจะกดค่าไฟต่ำลงได้อีกมาก เผยที่ผ่านมารัฐอุดหนุนทำให้ค่าไฟสูงเฉลี่ย 20-25 สตางค์ต่อหน่วย ถ้าซื้อเพิ่มแล้วประชาชนแบกรับภาระไม่เอา พร้อมเคาะขยาย SCOD ไฟฟ้าขยะชุมชน




นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานไม่มีนโยบายที่จะเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วงระยะ 5 ปีจากนี้ไปทั้งรูปแบบผู้ผลิตไฟจากเอกชนรายเล็ก (SPP) และรายเล็กมาก (VSPP) เนื่องจากมีกำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบเพียงพอต่อความต้องการใช้อยู่แล้ว และที่ผ่านมาการส่งเสริมจากรัฐทั้งในรูปแบบระบบเงินเพิ่มการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (ADDER) และ Feed in Tariff (FiT) มีผลให้ค่าไฟเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20-25 สตางค์ต่อหน่วยในปัจจุบัน จึงไม่จำเป็นต้องหาพลังงานทดแทนมาเสริม ประกอบกับต้องการชะลอเพื่อดูทิศทางเทคโนโลยีที่แนวโน้มพลังงานทดแทนจะมีราคาต่ำลงและอาจจะไม่แพงไปกว่าการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง

“ไม่มีความจำเป็นต้องเปิดรับซื้อไฟพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ ยกเว้นโครงการที่มีความสามารถที่จะขายไฟฟ้าไม่แพงกว่าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขายส่งที่ระดับ 2.40 บาทต่อหน่วยหรือต่ำกว่าก็ยิ่งดีก็พร้อมจะสนับสนุนการรับซื้อเพื่อให้พัฒนาไปข้างหน้า และโครงการที่จะส่งเสริมความมั่นคงให้ชุมชนเช่นชีวมวล 300 เมกะวัตต์ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ส่วนกรณีที่เงินลงทุนในพลังงานทดแทนปีนี้จะลดลงไปแต่หากการลงทุนนั้นมาเป็นภาระประชาชนผมคิดว่าเราไม่ควรสนับสนุน” นายศิริกล่าว

ทั้งนี้ กรณีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาบ้านแบบเสรี หรือโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้นหากจะผลิตเองใช้เองไม่ได้ปิดกั้นอยู่แล้วทำได้เลย แต่หากจะขายเข้าระบบนั้นขณะนี้มีข้อจำกัดความพร้อมของสายส่งที่จะกระจายให้ทั่วถึงซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาเพิ่มเติมให้เป็นสมาร์ทกริดที่จะมีทั้งระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) ด้วย ดังนั้นต้องรอ แต่หากผลิตแล้วราคาต่ำกว่าขายส่ง กฟผ.ยินดีสนับสนุน ส่วนโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่นั้นคงต้องรอแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่จะเสร็จในเบื้องต้นสิ้นเดือน มี.ค.นี้

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน กบง.ล่าสุดมีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลากำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) โครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed in Tariff สำหรับโครงการกำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Ouick Win Project) 12 โครงการ รวม 8 พื้นที่ จำนวน 77.9 เมกะวัตต์ จากเดิมกำหนด SCOD ภายในปี 2562 เป็นภายในปี 2564 โดยยังคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าเดิมแต่ระยะรับซื้อให้สิ้นสุดภายในปี 2572 สำหรับโครงการประเภทหลุมฝังกลบ และปี 2582 สำหรับโครงการประเภทการจัดการขยะแบบผสมผสานเพื่อให้มีระยะเวลาเพียงพอสำหรับการดำเนินงานที่มีขั้นตอนการดำเนินงานตามกฎหมายร่วมทุนและกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและมีส่วนได้เสีย


กำลังโหลดความคิดเห็น