กระทรวงพลังงานยืดเวลาโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เทพา ออกไปอีก 3 ปี ให้รอผลการศึกษาทั้ง EHIA และพื้นที่ตั้งเหมาะสมหรือไม่สำหรับโรงไฟฟ้าเทพา โดยระหว่างนี้งัดแผนเสริมความมั่นคงภาคใต้ จ่อผุดโรงไฟฟ้าชีวมวล 3 จังหวัดชายแดนใต้เพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ วางระบบสายส่งเชื่อมโรงไฟฟ้าหลัก
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าถ่านหิน เทพา และกระบี่ได้กำหนดให้มีการศึกษาและตัดสินใจในการพัฒนาออกไปอีก 3 ปี หรือมาตัดสินใจอีกครั้งในปลายปี 2563 โดยในส่วนของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่จะใช้เวลาในการดำเนินการศึกษารายงานผลกระทบสุขภาพและสิ่งแวดล้อม(EHIA) ใหม่ รวมทั้งสร้างความเข้าใจอย่างกว้างขวาง ส่วนโรงไฟฟ้าเทพาพื้นที่ตั้งเหมาะสมหรือไม่อย่างไร ควบคู่ไปกับการศึกษาที่ตั้งใหม่หากเห็นว่าที่ใหม่มีความเหมาะสมกว่า
“อีก 3 ปีก็ต้องมาว่ากัน ระหว่างนี้ก็ควรจะต้องใช้เวลาที่มีอยู่ได้มีการศึกษาตรึกตรองให้รอบคอบในแต่ละส่วน และช่วงนี้ก็จะได้ไม่ต้องกดดันกัน ซึ่งที่สุดจะออกมาอย่างไรก็อยู่ที่ผลการศึกษาที่กระทรวงพลังงานจะร่วมกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาข้อมูลรอบด้าน ก็ไม่ได้หมายความว่าอีก 3 ปีจะไม่เกิด ทั้งหมดจะเกิดหรือไม่เกิดก็ได้” นายศิริกล่าว
ทั้งนี้ การเพิ่มเวลาศึกษา 3 ปีนั้นเกิดจากการที่ล่าสุดกระทรวงพลังงานได้ร่วมกับ กฟผ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนแผนที่จะรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าสำหรับ 5 ปีข้างหน้า และรักษาความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคใต้ได้ โดยการดำเนินงานดังนี้ 1. เพิ่มจำนวนและขนาดสายส่งแรงดันสูงเชื่อมโรงไฟฟ้าหลักในปัจจุบัน (ขนอม และจะนะ) ตรงสู่เมืองที่มีการใช้ไฟฟ้ามากในบริเวณฝั่งอันดามัน และเชื่อมกับสายส่งหลักจากภาคกลางที่สถานีจังหวัดสุราษฎร์ธานี
2. พัฒนาระบบสายส่งและโรงงานไฟฟ้าชีวมวลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอต่อความต้องการในพื้นที่ โดยจะกำหนดให้เกิดการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ 300 เมกะวัตต์ ที่จะมุ่งเน้นให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากพื้นที่ภาคใต้มีชีวมวลค่อนข้างมาก
“ปัจจุบัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลแล้ว 50 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการอีก 50 เมกะวัตต์ ดังนั้นจึงมองว่าจะเพิ่มได้อีก 2 เท่าตัว เป็น 300 เมกะวัตต์ โดยรายละเอียดจะสรุปภายในไตรมาสแรกปีนี้ว่าจะดำเนินการส่งเสริมอย่างไร และแผนทั้งหมดนี้จะไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการที่จะไม่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพิ่มในอีก 3-5 ปี จึงมีเวลาที่เราจะศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” นายศิริกล่าว