กลุ่มหนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาตบเท้ายื่นหนังสือที่กระทรวงพลังงาน ขีดเส้นขอคำตอบจากรัฐ 45 วันต้องเดินหน้าไม่เช่นนั้นเตรียมรับม็อบบุกกรุงเทพฯ ปักหลักยาว ยันที่ผ่านมาสูญเงินไปกว่า 400 ล้านบาทเพื่ออะไรทั้งที่เสียงส่วนใหญ่หนุน มีเพียง 1% คัดค้านเท่านั้น
นายพณวรรธน์ พงศ์ประยูร ประธานกลุ่มเครือข่ายพัฒนาเทพาซึ่งเป็นตัวแทนกลุ่มภาคีเครือข่ายต่างๆ ในอำเภอเทพา จ.สงขลา รวม 66 องค์กร สมาชิกกว่า 5 หมื่นคน เปิดเผยภายหลังการยื่นหนังสือถึง นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน วันนี้ (5ก.พ.) ซึ่งมีนายธีรศักดิ์ จรัสศรีวิสิษฐ์ ผู้ช่วยปลัดกระทรวงพลังงานเป็นตัวแทนรับมอบหนังสือ ว่า เครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านกรณีที่ รมว.พลังงานให้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาออกไปอีก 3 ปี เนื่องจากได้ดำเนินการทุกขั้นตอนของกฎหมายมาแล้วถึง 3 ปี หมดงบประมาณราว 400 ล้านบาท ดังนั้นรัฐบาลควรเดินหน้าโครงการต่อไปซึ่งขอคำตอบจากรัฐภายใน 45 วัน
“หากไม่มีการเดินหน้าก่อสร้างต่อไปและไม่มีคำตอบตามที่ขอก็พร้อมที่จะรวมพลังคนเทพา และคนจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้เข้ามายังกรุงเทพฯ เพื่อขอคำตอบและอาจอยู่ยาว เราจะไม่นิ่งเฉยอีกต่อไป และสุดท้ายอาจจะมีการถวายฎีกา เพราะที่ผ่านมาเราเหมือนคนที่กำลังจะแต่งงานแต่เกิดหนีกันหรือประมาณว่ามวยล้มต้มคนดู โดยคนในพื้นที่มี 7 หมื่นคนแต่มีคนไม่เห็นด้วย 70 คน หรือคิดเพียง 1% และมีการไปยื่นหนังสือค้านที่ทำเนียบฯ แค่ 5 คน รัฐกลับฟังเสียงคนส่วนน้อยจึงอยากถามว่าเป็นประชาธิปไตยแบบไหน” นายพณวรรธน์กล่าว
ทั้งนี้ หนังสือที่ยื่นได้เสนอ 4 ข้อ ดังนี้ 1. ขอให้บรรจุโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาไว้ในแผนหลักของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ใหม่ที่กำลังปรับปรุงคงเดิมเพื่อสร้างความมั่นใจต่อคนเทพา 2. ขอให้เร่งรัดดำเนินการพิจารณาผลการศึกษารายงานผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ทั้งของโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือให้เป็นไปตามขั้นตอนและอนุมัติให้เดินหน้าต่อไป
3. ขอให้รับฟังเสียงคนส่วนใหญ่ที่สนับสนุนอย่างมีเหตุผลด้วยหลักประชาธิปไตย มากกว่าการรับฟังเสียงคัดค้านส่วนน้อยที่ถูกชักนำและครอบงำจากกลุ่มกรีนพีซและเอ็นจีโอภายนอกพื้นที่ 4. ชาวเทพาพร้อมให้ความร่วมมือและช่วยเหลือรัฐบาลและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ ในพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งรวมถึงการเจรจาจัดซื้อที่ดินเพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพาสามารถเกิดขึ้นได้โดยเร็วที่สุดต่อไป
ส่วนกรณีที่ รมว.พลังงานอาจจะพิจารณาก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติทดแทนถ่านหินในภาคใต้นั้น เมื่ออ่าวไทยก๊าซฯ หมด โรงไฟฟ้าใหม่ก็ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่งก็ไม่ทราบว่าราคาในอนาคตจะแพงขึ้นอีกหรือไม่ และแอลเอ็นจีก็ต้องขนด้วยเรือขนส่ง ไม่สามารถเก็บสต๊อกได้เหมือนกับถ่านหิน หากเกิดปัญหาเรือขนส่งเข้ามาไม่ได้ ความมั่นคงจะเกิดขึ้นไหม ค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นหรือไม่ เมื่อถ่านหินมีการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ดี และชาวบ้านสนับสนุนทำไมรัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจ
“โครงการนี้หากไม่เกิดจะกระทบต่อเศรษฐกิจ ความมั่นคง ถ้าเศรษฐกิจดีปัญหายาเสพติดก็จะน้อยลง และเสียโอกาสเพราะชาวบ้านที่ปลูกสวนปาล์มเองก็ไม่ได้ใส่ปุ๋ยดูแลเพราะคิดว่าจะต้องย้ายพื้นที่ใหม่ โรงเรียนในพื้นที่แทนที่จะขยายก็ไม่ได้ขยายเพราะคิดว่าจะย้ายที่เช่นกัน” นายพณวรรธน์กล่าว