xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจแห่ติดโซลาร์รูฟท็อปต่อเนื่อง ดันผู้ผลิตไฟใช้เองพุ่ง 2,600 เมกะวัตต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกพ.เผยปริมาณผลิตไฟจากผู้ผลิตไฟใช้เอง (IPS) 2,600 เมกะวัตต์ โดยพบการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปทยอยเข้าระบบทุกเดือน แถมรูปแบบให้เช่าหลังคาติดตั้ง หรือ Private PPA ก็เริ่มมีมากขึ้น แย้มรัฐอาจเปิดทางสำรองไฟ กฟผ.สูงกว่า 15% เพื่อรับมือ

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มผู้ผลิตไฟใช้เอง (IPS) มีการผลิตไฟประมาณ 2,600 เมกะวัตต์ โดยในจำนวนดังกล่าวเป็นสัดส่วนจากพลังงานทดแทน 900 เมกะวัตต์ โดยเฉพาะการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคาที่อยู่อาศัย (โซลาร์รูฟท็อป) ที่มีแนวโน้มเอกชนหันมาติดตั้งผลิตเองใช้เองมากขึ้นต่อเนื่องเพราะต้นทุนผลิตค่าไฟเฉลี่ยเหลือเพียง 3 บาท/หน่วย และคาดว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาต่อเนื่องจะทำให้ถูกลงอีกในอนาคต

“ขณะนี้มีเอกชนแจ้งขอติดตั้งเพื่อผลิตโซลาร์รูฟท็อปเฉลี่ย 4-5 เมกะวัตต์ต่อเดือนซึ่งทยอยเข้ามาต่อเนื่อง เช่น กลุ่มเทสโก้โลตัส บุญถาวร กลุ่มเซ็นทรัล โรงงานอุตสาหกรรม ฯลฯ โดยจะติดตั้งไม่เกิน 1 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันเรายังพบว่ามีเอกชนเริ่มหันมาทำโซลาร์รูฟท็อปในรูปแบบ Private PPA หรือเป็นสัญญาระหว่างเอกชนด้วยกันที่จะให้เช่าหลังคาแล้วขายให้ในราคาถูกกว่าที่ซื้อจากการไฟฟ้าอีกด้วย ซึ่งทาง กกพ.ก็มีระเบียบรองรับในเรื่องนี้แล้ว ส่วนโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้นคงจะต้องรอนโยบายจากกระทรวงพลังงานก่อนว่าจะเปิดรับซื้อมากน้อยเพียงใด” นายวีระพลกล่าว

จากแนวโน้มที่กลุ่มผู้ผลิตไฟใช้เองจะมีเพิ่มขึ้นทำให้ขณะนี้ทราบว่าทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กำลังพิจารณาในเรื่องของปริมาณไฟฟ้าสำรอง ซึ่งจะต้องเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP) ฉบับใหม่ว่าควรจะกำหนดสำรองไฟฟ้าของ กฟผ.ให้มีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ระดับ 15% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด เนื่องจากพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอด 24 ชั่วโมงทำให้ไม่มีความมั่นคงต่อระบบโดยเฉพาะโซลาร์รูฟท็อปที่จะเดินเครื่องได้เฉพาะกลางวันที่มีแสงอาทิตย์เพียงพอ

ปัจจุบันพลังงานทดแทนมีการขายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วปริมาณ 7,542 เมกะวัตต์ ส่วนที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) 1,562 เมกะวัตต์ และที่มีหนังสือตอบรับซื้อไฟแล้ว 717 เมกะวัตต์ คาดว่าจะทยอยเข้าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ดังนั้นโดยรวมแล้วจะส่งผลให้พลังงานทดแทนที่จะเข้าระบบมีทั้งสิ้น 9,821 เมกะวัตต์ได้ในปี 2563 หรือคิดเป็น 58.5% ของแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ( AEDP 2015) ที่เป้าหมายผลิตไฟจากพลังงานทดแทนทั้งสิ้น 16,778 เมะกะวัตต์ในปี 2579

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวว่า พพ.อยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินโครงการโซลาร์รูฟท็อปเสรี ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะมีการรับซื้อไฟเข้าระบบในอัตราที่ต่ำกว่าที่ กฟผ.จำหน่าย ปริมาณที่มากกว่า 300 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในช่วง เม.ย.นี้


กำลังโหลดความคิดเห็น