เอสซีจี เคมิคอลส์เปิดตัวธุรกิจใหม่ “โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ” เตรียมทำตลาดเชิงพาณิชย์ในปีนี้ แย้มมีลูกค้าสนใจแล้ว 4-5 ราย
นายชลณัฐ ญาณารณพ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เคมิคอลส์ เปิดเผยภายหลังเปิดตัวโครงการนำร่องโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาด 1 เมกะวัตต์ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า บริษัทเตรียมทำธุรกิจโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ (Floating Solar Farm) เชิงพาณิชย์ในปีนี้ ขณะนี้มีการเจรจากับลูกค้าที่สนใจอยู่ 4-5 ราย รวมทั้งจะมีความร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในอนาคต
โครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำถือเป็นธุรกิจใหม่ (Emerging Business) ของเอสซีจี เคมิคอลส์ เนื่องจากพลังงานไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมถือเป็นพลังงานในอนาคต โดยบริษัทนำองค์ความรู้ นวัตกรรมมาออกแบบทุ่นลอยสำหรับใช้กับแผงโซลาร์ที่ผลิตจากพลาสติกโพลีเอทิลีนเกรดพิเศษที่มีอายุการใช้ยาวนานกว่า 25 ปีใกล้เคียงอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ โดยบริษัทได้จดสิทธิบัตรตัวทุ่นลอยน้ำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเชิงพาณิชย์นั้น บริษัทจะให้บริการนับตั้งแต่การออกแบบ ติดตั้งและบำรุงรักษาโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ หรืออาจจะเป็นการลงทุนเองแล้วขายไฟให้ลูกค้าในราคาที่ต่ำกว่า กฟภ. คาดว่าจะได้ข้อสรุปโมเดลธุรกิจในปีนี้
นายชลณัฐกล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟที่ผลิตได้จากโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำอยู่ที่ 2.5 บาท/หน่วย ต่ำกว่าค่าไฟที่ซื้อจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคถึง 1 บาท/หน่วย แต่ยอมรับว่าขณะนี้ต้นทุนโครงการโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำจะแพงกว่าโซลาร์ฟาร์มบนดินราว 20% แต่มีประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าสูงกว่าโซลาร์ฟาร์มบนดินและโซลาร์รูฟท็อป 5-20% ทำให้ประหยัดพื้นที่ในการติดตั้งราว 10%
ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าประเทศไทยมีพื้นที่พื้นผิวน้ำจืดราว 1.46 หมื่นตารางกิโลเมตร มีศักยภาพในการติดตั้งโซลาร์ลอยน้ำได้ 500 เมกะวัตต์ โดยโครงการของบริษัทนับเป็นโครงการแรกของประเทศ โดยกลุ่มเอสซีจีมีพื้นที่ผิวน้ำราว 1.24 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจะมีการทยอยติดตั้งโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำเพิ่มเติม
ปัจจุบันเอสซีจีได้มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในรูปแบบโซลาร์ฟาร์มบนดิน โซลาร์รูฟท็อป และโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำทั้งในและต่างประเทศราว 30 เมกะวัตต์ โดยบริษัทวางเป้าหมายที่จะมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 150 เมกะวัตต์ในปี 2563 ใช้เงินลงทุนรวม 4.5 พันล้านบาท