xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ย้ำ Backup Rate เก็บจากผู้ผลิตไฟใช้เองรายใหญ่ที่ใช้พลังงานทดแทนทุกประเภท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กกพ.ยืนยันการจัดเก็บอัตราค่าสำรองไฟ หรือ Backup Rate ที่กำลังศึกษาจะเก็บจากผู้ผลิตไฟใช้เองรายใหญ่ทั้งโรงงาน ห้างสรรพสินค้า และเป็นเชื้อเพลิงพลังงานทุกประเภทไม่ได้จำกัดแค่โซลาร์เซลล์เพื่อความเป็นธรรม เหตุพลังงานทดแทนยังต้องหันมาใช้ไฟในระบบในบางช่วง ย้ำยังไม่ได้ข้อสรุปตัวเลขที่จะจัดเก็บ ด้าน กฟผ.ย้ำไม่ได้เสนอแนวทางจัดเก็บ

นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณากำหนดอัตราระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) เพื่อรองรับกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าแบบผลิตเองใช้เอง (Isolated Power Supply : IPS) ว่า แนวทางดังกล่าวจะจัดเก็บเพียงกลุ่มผู้ผลิตไฟใช้เองรายใหญ่ เช่น โรงงานหรือห้างสรรพสินค้าที่ปัจจุบันมีการผลิตไฟใช้เองมากขึ้นและไม่ได้จำกัดเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) แต่อย่างใด แต่ยังรวมกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงอื่นๆ ทั้งกลุ่มชีวมวล เช่น กลุ่มโรงสีข้าว, โรงงานน้ำตาล เพราะกลุ่มนี้แม้จะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังมีบางส่วนที่ยังต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบใช้ด้วยเช่นกัน

“แนวทาง กกพ.ไม่ได้มุ่งหวังให้ครอบคลุมสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าใช้รายเล็ก หรือในครัวเรือน แต่จะจัดเก็บเพียงกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรายใหญ่เท่านั้น โดยมอบหมายให้ 3 การไฟฟ้าไปพิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วนำเสนอกลับมาให้ กกพ.พิจารณาต่อไป” นายวีระพลกล่าว

ทั้งนี้ สาเหตุสำคัญมาจากที่กลุ่มผู้ผลิตไฟใช้เองที่มีขนาดใหญ่ยังต้องซื้อไฟฟ้าจากระบบใช้ด้วยเช่นกัน เพราะผลิตใช้เองเป็นบางช่วง เพราะกลุ่มนี้แม้จะมีการผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่เมื่อเครื่องเสียและต้องหยุดซ่อมบำรุงก็จะต้องกลับมาซื้อไฟฟ้าจากระบบเพิ่มเติม ซึ่งในกรณีนี้ทำให้ระบบผลิตรวมยังคงต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองเพื่อรองรับกรณีดังกล่าวด้วย ซึ่งก็คงต้องเอาตัวเลขมาพิจารณากันต่อไป

“กกพ.สนับสนุนพลังงานทดแทน แต่เมื่อระบบรวมผลิตสำรองป้อน ประชาชนส่วนใหญ่ก็รับต้นทุนค่าไฟฟ้าตรงนี้ ดังนั้น เมื่อผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนหันไปผลิตเอง แต่ยังต้องการระบบสำรองไฟฟ้าของส่วนรวม เพื่อความเป็นธรรมก็ต้องจ่ายค่าสำรองด้วย แต่อัตราเท่าใด กกพ.กำลังศึกษา” นายวีระพลกล่าว

นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงว่า กฟผ.มิได้เสนอการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง ต่อ กกพ.ตามข่าวที่เสนอให้เก็บอัตรา 100-200 บาทต่อวันต่อเดือนกับผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟทอปแต่อย่างใด ซึ่งปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยม และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น มีผลให้รูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไป โดยในช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดินความต้องการไฟฟ้าจะสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศจึงต้องเตรียมระบบรองรับไว้ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองหรือแบตเตอรี่สำรองที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เฉพาะช่วงที่ไม่มีแดดหรือในช่วงเย็น เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ได้นำวิธีการต่างๆ มาใช้

รวมทั้งการคิดค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ใช้รายใหญ่หรือรายย่อยที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อการลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองดังกล่าว แม้แต่ประเทศไทยในปัจจุบันก็มีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังต้องการใช้ไฟฟ้าสำรองจากระบบด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม กกพ.กำลังพิจารณาศึกษา “อัตราค่าไฟฟ้าสำรอง” ที่เหมาะสมสำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปว่าขนาดกำลังผลิตติดตั้งเท่าใดจึงจะเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บ

“กฟผ.ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร หรือไฮบริด โดยจัดทำแผนระยะยาว 20 ปี นอกจากนี้ จะมีการเตรียมระบบไฟฟ้ารองรับในการที่ประชาชนจะผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เอง เช่น การมีแบตเตอรี่สำรอง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การสร้างระบบส่งไฟฟ้ารองรับในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดมาช่วยการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคง และมีค่าไฟฟ้าเหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป” โฆษก กฟผ.กล่าวในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น