xs
xsm
sm
md
lg

กกพ.ยันไม่เก็บ “ค่าระบบสำรองไฟฟ้า” จากครัวเรือน-รายย่อย เน้นรายใหญ่ “ห้างฟิวเจอร์-ม.ธรรมศาสตร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจากเว็บไซต์ aeitf.org
กกพ. ชี้แจงยังไม่เก็บ “ค่าระบบสำรองไฟฟ้า” จากครัวเรือน - รายย่อย ที่ติดแผงโซลาร์ตามหลังคา เน้นรายใหญ่พวกโรงงาน มหาวิทยาลัย ศูนย์การค้า เช่น “ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต - ม.ธรรมศาสตร์” ห่วงกลางคืนเอาไฟไปใช้ กระทบต้นทุนค่าไฟฟ้าทั้งประเทศ

วันนี้ (23 มิ.ย.) ฝ่ายกลยุทธ์และสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้จัดทำข่าวชี้แจง เรื่อง ”กกพ. ยืนยันไม่มีนโยบายเรียกเก็บเงินค่าสำรองไฟฟ้า คนติด “โซลาร์รูฟท็อปรายเล็ก” ส่งถึงสื่อมวลชน โดย นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าวคลาดเคลื่อนเรื่องการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าสำรองกับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท๊อปทั่วประเทศนั้น ขอเรียนชี้แจงและยืนยันว่า กกพ. ไม่มีนโยบายเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) จากผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา หรือที่เรียกว่า “โซลาร์รูฟท็อป” ประเภทใช้เองในบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าใช้ในปริมาณไม่มาก

แต่ประเภทกลุ่มโรงงาน มหาวิทยาลัย ห้างสรรพสินค้า ที่ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ ได้มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในปริมาณมาก เฉพาะบางช่วงเวลา ซึ่งจะผลิตใช้ในช่วงกลางวัน ส่วนกลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็จะต้องมาขอใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางคืน ซึ่งในกลุ่มนี้หากในอนาคตเกิดการติดตั้งเพิ่มมากขึ้น อาจมีผลกระทบต่อระบบไฟฟ้ารวมและต้นทุนค่าไฟฟ้าของประเทศได้ ขณะนี้ ทาง กกพ. กำลังอยู่ระหว่างพิจารณาทบทวนอัตราค่าไฟฟ้า เพื่อรองรับลักษณะการผลิตและการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมไฟฟ้าของประเทศในอนาคต

ก่อนหน้านี้ นายวีระพล ชี้แจงว่า กกพ. อยู่ในระหว่างการพิจารณาคิดอัตราเรียกเก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อเป็นค่าแหล่งสำรองไฟฟ้า โดยเบื้องต้นกำหนดให้พิจารณาอัตราเก็บเงินเฉพาะในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองปริมาณมาก รวมถึงผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปขนาดใหญ่ที่มีพฤติกรรมผลิตไฟฟ้าใช้เองได้เฉพาะบางช่วงเวลา เช่น โซลาร์รูฟทอปที่ผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ในช่วงกลางวัน ส่วนช่วงกลางคืนที่ผลิตไฟฟ้าไม่ได้ก็จะหันกลับมาใช้ไฟฟ้าจากสายส่งภาครัฐ

ทั้งนี้ ผู้ที่ขออนุญาตใช้แหล่งสำรองไฟฟ้าจำนวนมากจากภาครัฐดังกล่าว จำเป็นต้องถูกเรียกเก็บเงิน เนื่องจากทำให้ยอดใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศหายไปจำนวนมากในช่วงเวลากลางวัน และกลับมาใช้ไฟฟ้าสูงมากในช่วงกลางคืน ซึ่งหากในอนาคตเกิดการติดตั้งโซลาร์รูฟทอปมากขึ้น จะยิ่งทำให้ต้องมีการสร้างโรงไฟฟ้ามารองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในตอนกลางคืนด้วย แม้ปัจจุบันสำรองไฟฟ้าของประเทศจะมีสูงถึงกว่า 30% ซึ่งสูงกว่าปกติที่เคยสำรอง 15% และยังไม่เกิดปัญหาขาดแคลนไฟฟ้า แต่ กกพ. ต้องเตรียมมาตรการเพื่อรองรับปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกลุ่มผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีนั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาเรียกเก็บเงินแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ติดตั้งผลิตไฟฟ้าในปริมาณไม่มาก และจะดำเนินการสำหรับกลุ่มที่ต้องใช้แหล่งสำรองไฟฟ้าจำนวนมากก่อน แต่หากในอนาคตเกิดการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเสรีจำนวนมาก จนมีผลกระทบต่อการต้องสำรองไฟฟ้าให้กับกลุ่มดังกล่าว ทาง กกพ. อาจต้องกลับมาพิจารณาเรียกเก็บเงินในกลุ่มนี้ก็เป็นได้

“ปัจจุบันมีผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้น และติดในปริมาณมาก เช่น ห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่ติดตั้งประมาณ 4 เมกะวัตต์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ติดตั้ง 7 เมกะวัตต์ และรายอื่นๆ ซึ่งปกติจะต้องมาขอให้การไฟฟ้าสำรองไฟฟ้าให้ในช่วงกลางคืน ซึ่งกลุ่มนี้มีผลกระทบต่อการผลิตไฟฟ้าโดยรวมมาก ปัจจุบันมีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองรวม 60-70 เมกะวัตต์ ในจำนวนนี้มีกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟทอปเสรีที่เข้าระบบอยู่เพียง 5 เมกะวัตต์ ซึ่งการดำเนินการเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้านี้เป็นมาตรการที่จะรองรับปัญหาในอนาคตที่จะเกิดขึ้น และปัจจุบันเริ่มเห็นได้จากยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ที่ระยะหลังไปเกิดในช่วงกลางคืนแทนแล้ว” นายวีระพล กล่าว

นายวีระพล กล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดว่าขนาดการผลิตติดตั้งเท่าใดจึงจะเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้า รวมถึงกำลังพิจารณาอัตราจัดเก็บที่เหมาะสม
กำลังโหลดความคิดเห็น