xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.ถอยกรูด หลังโดนจวกชงแผนรีดเงิน “โซลาร์รูฟ” โยน กกพ.พิจารณา “อัตราค่าไฟฟ้าสำรอง”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ถอยก่อนดีกว่า โฆษก กฟผ. ปัดชงจัดเก็บ “ค่าระบบสำรองไฟฟ้า” บรรดาบ้านเรือนที่ติดแผงโซลาร์รูฟท็อป 100 - 200 บาทต่อเดือน อ้าง กกพ. กำลังศึกษาอัตราที่เหมาะสม ว่าขนาดกำลังผลิตเท่าใดจะเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บ ระบุ ยังสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน

วันนี้ (23 มิ.ย.) นายสหรัฐ บุญโพธิภักดี โฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชี้แจงกรณีที่ กฟผ. ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จัดเก็บค่าระบบสำรองไฟฟ้า (Backup Rate) ที่ 100 - 200 บาทต่อเดือน สำหรับผู้ที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังคงพึ่งพาไฟฟ้าจากระบบไฟฟ้าของประเทศนั้น ขอชี้แจงว่า กฟผ. มิได้เสนอการเก็บค่าไฟฟ้าสำรอง ต่อ กกพ. ตามที่เป็นข่าว

โดยที่มาของประเด็นดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการสัมมนาสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. เรื่อง นวัตกรรม กฟผ. 4.0 ซึ่ง กฟผ. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์พลังงานไฟฟ้าของประเทศในการสัมมนา ว่า ปัจจุบันพลังงานแสงอาทิตย์ได้รับความนิยม และมีราคาถูกลง ทำให้ผู้บริโภคทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้มากขึ้น มีผลให้รูปแบบความต้องการไฟฟ้าในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงไป

โดยในช่วงเย็นหลังพระอาทิตย์ตกดิน ความต้องการไฟฟ้าจะสูงมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกประเทศจึงต้องเตรียมระบบรองรับไว้ เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าสำรอง หรือแบตเตอรี่สำรอง ที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว เฉพาะช่วงที่ไม่มีแดด หรือในช่วงเย็น เป็นต้น ซึ่งจะมีผลทำให้ราคาค่าไฟฟ้าสูงขึ้น

ซึ่งในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ ได้นำวิธีการต่างๆ มาใช้ รวมทั้งการคิดค่าค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ใช้รายใหญ่ หรือรายย่อยที่ผลิตไฟฟ้าใช้เอง เพื่อการลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองดังกล่าว แม้แต่ประเทศไทยในปัจจุบัน ก็มีการเก็บค่าไฟฟ้าสำรองสำหรับผู้ที่มีเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้เอง แต่ยังต้องการใช้ไฟฟ้าสำรองจากระบบด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กกพ. กำลังพิจารณาศึกษาอัตราค่าไฟฟ้าสำรองที่เหมาะสม สำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ว่า ขนาดกำลังผลิตติดตั้งเท่าใดจึงจะเข้าข่ายต้องถูกเรียกเก็บ ซึ่ง กฟผ. ในฐานะรัฐวิสาหกิจที่ดูแลระบบไฟฟ้าของประเทศ ยืนยันสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน เพื่อให้เกิดการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ เช่น การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่มีความเสถียร หรือ ไฮบริด โดยจัดทำแผนระยะยาว 20 ปี

นอกจากนี้ จะมีการเตรียมระบบไฟฟ้ารองรับในการที่ประชาชนจะผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ใช้เอง เช่น แบตเตอรี่สำรอง โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ การสร้างระบบส่งไฟฟ้ารองรับในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้ง การพัฒนาระบบสมาร์ทกริด มาช่วยการบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อให้ระบบไฟฟ้ายังมีความมั่นคง และมีค่าไฟฟ้า เหมาะสมเป็นธรรมกับผู้ใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชนทั่วไป


กำลังโหลดความคิดเห็น