“กฟผ.” เตรียมชงแผนพลังงานหมุนเวียน 2,000 เมกะวัตต์ แบบลงลึกรายละเอียดเสนอกลับกระทรวงพลังงานเห็นชอบอีกครั้ง ก.ค.นี้ คาดเม็ดเงินลงทุน 1.5 แสนล้านบาท แต่ยังหวังลุ้นปรับแผนพีดีพีใหม่จะเพิ่มสัดส่วนได้อีกพร้อมหารือ กกพ.เปิดทางเอกชนลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐและต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้าประชารัฐ
นายสหรัฐ บุญโพธิภักดิ รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ และโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยในงานสัมมนาสื่อมวลชน “นวัตกรรม 4.0” ว่าขณะนี้ กฟผ.อยู่ระหว่างปรับแผนผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 2,000 เมกะวัตต์ ตามนโยบายของปลัดกระทรวงพลังงานที่ให้ลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้นในแต่ละช่วงปี คาดว่าจะเสนอกลับไปยังกระทรวงพลังงานภายใน ก.ค.นี้ โดยแผนดังกล่าวคาดว่าจะลงทุนประมาณ 1.5 แสนล้านบาท (ปี 2558-2579)
“เดิมแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2015) ปี 2558-2579 กฟผ.จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 514 เมกะวัตต์ แต่นโยบายกระทรวงพลังงานให้เพิ่มเป็น 2,001 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็น 10% ของแผนซึ่งเม็ดเงินลงทุนประเมินว่าจะใช้ไม่น้อยกว่า 1.5 แสนล้านบาท แต่ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ต้นทุนต่ำลงโดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) การลงทุนก็อาจจะต่ำกว่านี้ อย่างไรก็ตาม รัฐมีนโยบายปรับพีดีพีโดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 40% นั้นก็คงต้องดูว่าสุดท้าย กฟผ.จะต้องเพิ่มผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 2,000 เมกะวัตต์ด้วยหรือไม่” นายสหรัฐกล่าว
สำหรับแผนผลิตไฟจากพลังงานหมุนเวียน กฟผ.ประกอบด้วย พลังงานแสงอาทิตย์ 900 เมกะวัตต์ (45.4%) การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล 598 เมกะวัตต์ (29.5%) พลังงานลม 230 เมกะวัตต์ (11.5%) น้ำ 165 เมกะวัตต์ (8.2%) ก๊าซชีวภาพ 56 เมกะวัตต์ (2.8%) ขยะมูลฝอยชุมชน 50 เมกะวัตต์ (2.5%) และพลังงานความร้อนใต้พิภพ 2 เมกะวัตต์ (2.1%) ซึ่งแนวทางดำเนินการขณะนี้ กฟผ.กำลังเตรียมหารือกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ศึกษาที่จะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วยเนื่องจากมีเอกชนให้ความสนใจจำนวนมากโดยจะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การให้เอกชนเร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยอัตราผลตอบแทนของกิจการ (ROIC )จะต้องไม่สูงไปกว่าของ กฟผ.
นอกจากนี้ยังเตรียมหารือกับ กกพ.ถึงแนวทางการต่อยอดการร่วมลงทุนกับเอชนด้วยการทำลักษณะโครงการประชารัฐเพื่อสนับสนุนเกษตรกร โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าชีวมวลที่อาจส่งเสริมการปลูกไม้โตเร็วในการนำมาผลิตไฟฟ้า โดยไฟจะนำไปใช้เองและที่เหลือจำหน่ายเข้าระบบ อย่างไรก็ตาม พลังงานหมุนเวียน 2,000 เมกะวัตต์นั้นในส่วนที่ กฟผ.จะทำเองทั้งหมดจะมุ่งเน้นที่เซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำในพื้นที่อ่างเก็บน้ำ กฟผ.เป็นหลัก
นายพฤหัส วงศ์ธเนศ รองผู้ว่าการนโยบายและแผน กฟผ. กล่าวว่า ขณะนี้ กกพ.ได้มอบหมายให้ 3 การไฟฟ้ามาศึกษาการเก็บอัตราสำรองไฟฟ้า หรือ Back Up Rate สำหรับพลังงานทดแทนโดยเฉพาะผู้ผลิตโซลาร์เซลล์ เนื่องจากอนาคตพลังงานทดแทนโดยเฉพาะโซลาร์เซลล์ที่เข้าระบบมากขึ้นทำให้ กฟผ.ต้องมีสำรองไฟเพื่อความเสถียรภาพ ซึ่งประเทศที่ใช้ระบบดังกล่าวแล้วคือสหรัฐอเมริกา โดยเฉลี่ยจะเก็บจากครัวเรือน 300-400 บาทต่อเดือนต่อหลังคา ส่วนโรงงานจะเป็นอีกอัตราหนึ่ง ส่วนของไทยจะเก็บอัตราใดคงต้องรอ กกพ.สรุป